ชาวบ้านยื่นหนังสือผู้ว่าฯ อุบล ประสาน กฟผ.ยกเลิกปิดประตูเขื่อนปากมูล
ชาวบ้านยื่นหนังสือผู้ว่าฯ อุบล เร่งประสาน กฟผ.ยกเลิกปิดประตูเขื่อนปากมูลก่อนกำหนด จี้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ระบุระหว่างรอต้องยุติการดำเนินการใด ๆ ไว้ก่อน หวั่นทำลายบรรยากาศความร่วมมือ
วันที่ 13 ตุลาคม 2557 สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เข้ายื่นหนังสือถึงนายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ภายหลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ได้มีหนังสือที่ กฟผ.954605/536 สั่งการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
โดยหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า การดำเนินงานของ กฟผ. เป็นไปโดยขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ และเหตุผลอ้างปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลก็ขาดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และที่สำคัญ การเร่งรีบดำเนินการเป็นการกระทำที่สร้างเงื่อนไขทำลายบรรยากาศความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่อพฤติกรรมของ กฟผ.
สมัชชาคนจนฯ จึงมีความเห็นว่า ปีนี้เขื่อนปากมูลได้เริ่มเปิดประตูระบายน้ำ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2557 เป็นเวลาแค่ 2 เดือนเศษ ในขณะที่ข้อสรุปสุดท้ายว่าจะเปิด 4 เดือน การเปิดประตูระบายน้ำในปีนี้ก็ยังไม่ครบตามกำหนดจึงยังไม่มีความชอบธรรมใดที่จะอ้างปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
นอกจากนี้ข้ออ้างของ กฟผ. ที่ต้องการเก็บน้ำไว้สำหรับปลูกข้าวในฤดูแล้งก็เป็นข้ออ้างที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะลดพื้นที่การทำนาลง และที่สำคัญขณะนี้ข้าวนาปีก็ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว การอ้างเรื่องชลประทานจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล และไม่เคยสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่
“ทุกความพยายามของ กฟผ.ที่ทำมาในอดีตและปัจจุบัน คือ การคิดแต่จะปิดประตูเขื่อนปากมูล ซึ่งไม่เคยมีครั้งใดเลยที่ กฟผ.คิดว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ระยะเวลาที่เนิ่นยาวมาถึง 26 ปี คือผลงานความอัปยศที่ประจานธาตุแท้การไร้ความรับผิดชอบของ กฟผ.ได้อย่างดี ที่สำคัญในขณะที่รัฐบาล หน่วยงานอื่น และภาคส่วนต่าง ๆ กำลังหารือและสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กฟผ. ก็ไม่สำนึกคิดแต่จะทำลายบรรยากาศและสร้างเงื่อนไขตลอดเวลา” หนังสือ ระบุ
จึงมีข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้
1.ให้ จ.อุบลราชธานีประสานงานไปยัง กฟผ.ให้ยกเลิกการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
2.ให้ จ.อุบลราชธานีประสานงานไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว เพื่อจะใช้เป็นกลไกหลักในการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับเขื่อนปากมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
3.ในระหว่างการดำเนินงานเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ให้ทางจังหวัดอุบลราชธานีได้กรุณาประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ไว้ก่อน เพื่อจะได้ไม่เป็นการทำลายบรรยากาศความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“การตัดสินใจปิดประตูเขื่อนปากมูลในครั้งนี้มีความผิดปกติที่บ่งชี้ถึงความเร่งรีบร้อนรนอย่างมาก (ประชุมวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ออกหนังสือปิดเขื่อนวันที่ 9 ตุลาคม 2557) อันน่าเชื่อได้ว่านี่คือการท้าทายอำนาจของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ชาวบ้านปากมูลจัดการชุมนุมเพื่อนำไปสู่การเผชิญกับรัฐบาลและคสช.” หนังสือ ระบุทิ้งท้าย .