ภาษีมรดก เก็บยาก ประสิทธิ์ภาพต่ำ แล้วเวิร์กไหม ?
เราต้องยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำ ในสังคมไทยมีจริง การบรรเทาความเหลื่อมล้ำเครื่องมือหนึ่งที่รัฐนำมาใช้ หนีไม่พ้นต้องปฏิรูประบบภาษี เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ว่ากันว่า พร้อมสุดๆ แล้ว แต่ก็ยังเข็นออกมาช้ากว่า “ภาษีมรดก”
คาดการณ์กันว่า การจัดทำร่างกฎหมายภาษีมรดกจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และส่งเข้าสู่กระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือนพฤศจิกายน โดยรายละเอียด อัตราภาษีที่จัดเก็บจะอยู่ที่ 10% จัดเก็บจาก “ผู้รับมรดก” ที่มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น และจัดเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่จดทะเบียนที่ประเมินราคาได้อย่างชัดเจน เช่น บ้านและที่ดิน เงินฝาก หุ้น พันธบัตร และตราสารหนี้
“ภาษีมรดก” ถูกพูดถึงกันมากในช่วงเวลานี้ ยิ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้ทำการศึกษาภาษีมรดกของประเทศต่างๆ 45 ประเทศ พบ มีเพียง 13 ประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในเอเชียมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ที่เก็บภาษีมรดกอยู่ คือ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
สำหรับเหตุผลที่บางประเทศเคยเก็บภาษีมรดกมาก่อน ต่อมายกเลิก เช่น
“สิงคโปร์” ยกเลิก เพราะว่า ต้องการสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาสะสมทุน
“ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์” เนื่องจากมีการหลีกเลี่ยงภาษีมาก และไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการบริหารจัดการ
“แคนาดา” นำภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สินมาใช้แทน
สดๆ ร้อนๆ “นอร์เวย์” ที่เพิ่งยกเลิกในปี 2014 เพื่อลดภาระในการโอนธุรกิจครอบครัวให้รุ่นลูก
ดร.ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัย มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ตั้งข้อสังเกตไว้ในเวทีเสวนา "ภาษีมรดก เก็บเพื่อใคร ใครได้ใครเสีย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่" จัดโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า หากภาษีมรดกดีจริงทำไมจึงมีการยกเลิกเรื่อยๆ
“ประเทศไทยเองก็มีการจ่ายภาษีหลายประเภท ภาระภาษีที่มีอยู่จึงซ้ำซ้อน เช่น ภาษีที่เก็บจากรายได้ เก็บจากเงินปันผล เก็บจากดอกเบี้ย บวกกับประสิทธิภาพการจัดเก็บอาจทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมในการออมเงิน อาจมีการโยกย้ายสินทรัพย์ไปต่างประเทศ หรือนำไปซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนแทน ”
พร้อมกันนี้ ดร.ศิริกัญญา ได้ยกตัวอย่าง กรณีประเทศอังกฤษที่เก็บภาษีมรดกในอัตราที่สูงถึง 36% ปรากฏว่า ประสบปัญหาคนอังกฤษโยกย้ายเงินไปประเทศอื่น ทำให้สรรพากรของอังกฤษต้องออกมาตรการไม่ให้มีการหลีกเลี่ยงภาษี มีการลงทุนงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 5 หมื่นล้านบาท ระหว่างปีงบประมาณ 2010-2015 ไปทำสนธิสัญญาของให้ประเทศต่างๆ (ที่คนอังกฤษนำเงินไปลงทุน ไปฝากไว้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี) ให้มีการเปิดเผยข้อมูล
“ปี 2012-2013 อังกฤษเก็บภาษีมีมรดกได้ 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของรายรับจากภาษีทั้งหมด ที่อังกฤษเก็บได้ ส่วนฟิลิปปินส์ เก็บภาษีมรดกมาตั้งแต่ปี 1939 แต่ความเหลื่อมล้ำในฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย ดังนั้น การคิดแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ภาษีมรดก อย่างเดียวอาจไม่ช่วย อาจต้องพูดถึงเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนในสังคมด้วย”
ขณะที่ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ระบายความในใจ “ผมเสียภาษีเยอะ เสียดายด้วย ยิ่งบ้านเราปัญหาคอร์รัปชั่นเยอะ ยิ่งเสียดายมากเลย หากจำเป็นต้องเสียเพิ่ม จากภาษีมรดกยิ่งเสียดายใหญ่"
ก่อนตอบคำถาม เก็บภาษีมรดกช่วยลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่
“แน่นอน ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทุกคนก็ยอมรับ แต่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร การหยิบเครื่องมือภาษีมรดกขึ้นมาใช้ กระแสความคิดแตกเลย 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก ก็มองว่า ระบบทุนนิยมพื้นฐานก็คือการสะสมทุน นำเงินไปลงทุน สร้างรายได้ แล้วก็เสียภาษี จากนั้นเอาทุนที่เหลือไปลงทุนต่อ ถือเป็นการสะสมทุนถูกต้องถามกฎหมาย เราจะเห็นได้จากธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อรุ่นต่อๆ ไป ฝ่ายนี้เห็นว่า ไม่ควรมาเสียภาษีอีก เพราะมองระบบทุนนิยมในแง่การเจริญเติบโต
อีกฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก จะมองกระบวนการสะสมทุนในแง่ของการกระจาย เห็นว่าภาษีมรดกจะลดความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่าง ณ จุดเริ่มต้น ของประชาชนรุ่นต่อไป"
กรณีของประเทศไทยหากจะนำภาษีมรดกมาใช้จริง ดร.บัณฑิต เห็นว่า เริ่มต้นถามก่อนว่า ภาษีมรดกดีจริงหรือไม่ หากเก็บจริงจะตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่
“ภาษีที่ดีต้องสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้ พร้อมกับสร้างรายได้ โดยไม่กระทบแรงจูงใจในการทำธุรกิจ และไม่สร้างความบิดเบือนให้กับนักลงทุน”
เขายอมรับ ภาษีมรดกเป็นภาษีที่ดี เพราะเก็บบนความสามารถของคนจ่าย มีมรดกมากจ่ายมาก มีมรดกน้อยจ่ายน้อย เป็นอัตราภาษีที่ก้าวหน้า แต่ก็มีปัญหา...
1.การจัดเก็บในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก คนมีความสามารถจะหลบหลีกภาษีได้ตามกฎหมาย
2.กระทบแรงจูงใจคนที่เริ่มสะสมทุน คนรุ่นใหม่ แทนกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายเดิมของการจัดเก็บภาษีมรดก ซึ่งมีความสามารถในการหลีกภาษีได้เก่งมาก
ปัญหาบ้านเราเรื่องภาษีมีมาก ทั้งรายได้จากภาษีเก็บไม่พอต่อรายจ่ายของภาครัฐ เลยต้องกู้ตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสสูง อาจมีปัญหาหนี้สาธารณะ,ภาษีที่เก็บได้ ส่วนใหญ่เก็บได้จากภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ทำให้ภาระภาษีตกอยู่กับคนทั่วๆ ไป เท่ากัน ไม่ว่ารวยหรือจน จ่ายเหมือนกัน,ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเก็บจากฐานรายได้ ที่เป็นเงินเดือน อัตราสูงสุด 37% ในแง่นี้มนุษย์เงินเดือนเสียภาษีสูง และระบบภาษีมีการลดหย่อนมากเกินไป ทำให้รายได้ภาครัฐหายไป เช่น สิทธิประโยชน์ BOI การใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ
หากจะตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ การแก้ไขต้องแยกให้ออกระหว่าง การหารายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ
“หารายได้ต้องพยายามลดการลดหย่อนมีน้อยที่สุด เพื่อให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น BOI อาจพอแล้วนะให้อุตสาหกรรมแข่งขันกันในตลาด ประกอบกับการจัดเก็บภาษีต้องมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้การจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าให้มีการรั่วไหล” กรรมการผู้อำนวยการ IOD มองทะลุถึงปัญหาระบบภาษีบ้านเรา และว่า หากรัฐจะใช้ภาษีมรดกในการแก้ไขปัญหาทั้งๆ ที่เห็นข้อมูลแบบนี้แล้ว การเก็บภาษีมรดกก็ทำได้ แต่เป็นไปได้ไหมเก็บอัตราเริ่มต้นควรต่ำไว้ก่อน เพราะ 10% สูงเกินไปเพื่อให้คนรู้สึกว่า เราเริ่มต้นในทางที่ควรเป็น และวงเงิน 50 ล้านบาทอยากเห็นสูงกว่านี้ อาจเลื่อนตัวเลข 100 ล้านบาท หรือสูงขึ้นกว่านี้ เพื่อให้ภาระภาษีตกกับคนที่มีมาก และสามารถเสียภาษีมรดกได้จริงๆ ไม่ใช่คนชั้นกลางที่เพิ่งเริ่มสะสมทุน
แม้ ดร.บัณฑิต จะไม่ฟันธง แต่ก็ยอมรับว่า “ไม่มีการเก็บภาษีมรดกเลย ก็จะไม่มีจุดเริ่มต้น แต่จะเริ่มต้นอย่างไร ที่ทำให้ตัวอัตราเริ่มต้นไม่เป็นภาระกับคนชั้นกลางที่เพิ่งเริ่มสร้างฐานะ เก็บภาษีมรดกกับผู้ที่มีความสามารถเสียภาษีได้จริง”
รวมไปถึง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่ต้องออกมาควบคู่กัน โดยภาษีตัวนี้ต้องเข้ามาเสริมในการจัดเก็บภาษีมรดก ปิดช่องทางรั่วไหล
“หากรัฐเก็บภาษีมรดก ผมอยากให้รัฐบาลลดภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย เพื่อสร้างฐานภาษีที่กว้างขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การจะลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเราไม่สามารถพึ่งภาษีมรดกได้ตัวเดียว ในทางเศรษฐศาสตร์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยภาษีไม่ประสบความสำเร็จ ตราบใดโครงสร้างเศรษฐกิจยังเอื้อให้เกิดความไม่สมดุล ความสำคัญของนโยบายการคลัง จึงจำเป็นต้องเน้นการใช้จ่าย ตั้งใจทำให้โอกาสของคนในสังคมที่แตกต่างกัน ทำให้ช่องว่างโอกาสแคบลง ทั้งโอกาสการเข้าถึงการศึกษา โอกาสสินเชื่อ โอกาสการได้ทำงาน และการบังคับใช้กฎหมาย”
ขณะที่คนที่เคยเป็น 'สานุศิษย์' ของฝ่ายที่เห็นควรเก็บภาษีมรดก เพราะรู้สึกว่า อยากลดความเหลื่อมล้ำ มองที่ผ่านมาเมืองไทยไม่กล้าหาญสักทีที่จะเก็บภาษีมรดก "เคยฝันลอยๆ" แต่วันนี้ มีท่าทีที่เปลี่ยนไป ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สารภาพ "ผมมานั่งดู พบความจริง ค่อยๆ เห็นอะไรบางอย่าง"
เขาหาคำตอบให้กับคำถามก่อน เราเก็บภาษีไปเพื่ออะไร ? 1.ให้รัฐมีรายได้ 2.เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในบ้านเมือง อะไรที่ไม่อยากให้ทำ ไม่อยากให้บริโภคก็เก็บภาษี และ 3.ลดความเหลื่อมล้ำ
“ผมเคยถามเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังว่า ลึกๆ แล้วคุณคิดว่า เก็บภาษีมรดกได้เท่าไหร่ เขาตอบก็ได้สัก 2-3 พันล้านบาท โห..โครงการรถคันแรกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใช้งบฯ กว่าแสนล้านบาท แล้วตกลงจะเก็บภาษีมรดกมีประสิทธิภาพ ได้เงินจริงหรือไม่ แถมแต่ละปีก็ได้ไม่เท่ากันอีก”
ดร.เจิมศักดิ์ จึงเห็นว่า การเก็บภาษีมรดกนั้นหวังไม่ได้เลยจะเป็นรายได้ของรัฐ บางปีได้มาก บางปีได้น้อย ต้องพึ่งภาษีตัวอื่น เก็บตรงนี้ได้นิดเดียว และหากจะมาดูว่า ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนหรือไม่ ก็พบว่า ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนการภาษีเหล้า บุหรี่เลย
“ผมมานั่งคิดเวิร์กไหมภาษีแบบนี้ คนที่เขามีเงินมากๆ เขามีธุรกิจอยู่ต่างประเทศ โอนเงินไปมา เขาไม่โวยวายเลย สามารถโอนเงินผ่านธุรกิจได้ ไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนที่อยู่ในประเทศ พอจะรู้ว่าต้องเสียภาษีมรดก ไปก่อนแล้ว กลัวเสียภาษีมรดก โอนให้ลูก เช่น โอนที่ดินให้ลูกไป 99 ส่วน ถือมรดกร่วมไว้อีก 1 % หรือยกที่ดินให้ลูกไปเลย แต่จดหลังโฉนด สิทธิในการเก็บกินเป็นของพ่อแม่ เป็นต้น”
แล้วพฤติกรรมอย่างนี้ ดร.เจิมศักดิ์ ตั้งคำถาม เวิร์กไหม เงินได้นิดเดียว และมีพฤติกรรม (เลี่ยงภาษี) อย่างนี้เกิดขึ้น คิดว่า คุ้มหรือไม่ ได้คุ้มกับเสียหรือไม่
เขาสนับสนุนการเก็บภาษีที่ดินฯ เชื่อว่า จะดีกว่าแน่นอน เนื่องจากเก็บในอัตราก้าวหน้า และอัตราการเก็บภาษีก็ไม่ทำให้คนคิดจะหนี หรือขายที่ดินด้วย ขณะที่ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ เสียภาษีในอัตราสูงขึ้น และแม้จะเก็บทุกปี แต่ก็ไม่ทำให้คนรู้สึกว่า ต้องบริหารจัดการหนี
เปรียบก็เหมือนกับการต่อทะเบียนรถยนต์ ต่อไปเรื่อยๆ
“ตกลงการลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีตัวไหนดีกว่า” โจทย์ที่ดร.เจิมศักดิ์ ตั้งคำถามทิ้งท้าย และว่า หากรัฐบาลอยากเก็บภาษีมรดก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ก็ต้องประกาศไปเลยว่า ภาษีมรดก จะให้เป็นทุนสำหรับคนจน ให้ลูกคนยากจนได้เรียนหนังสือ ให้ดูดีขึ้นอีกนิด เก็บได้สัก 2-3 พันล้านบาท คนมีเงินก็รู้สึกให้เป็นทุนการศึกษา นอกจากนี้ ต้องลดภาษีบุคคลธรรมดาด้วย เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน
ก่อนจะย้ำอีกครั้ง “ผมเห็นด้วยหากรัฐต้องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่บังเอิญการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเก็บภาษีมรดก ได้ไม่เท่าเสีย ไม่คุ้ม มีวิธีอย่างอื่นลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะ เช่น พยายามให้คนด้อยโอกาสให้มีโอกาสพัฒนาขึ้น สร้างโอกาส ดีกว่าหมั่นไส้คนรวย สะใจดี สำหรับเก็บภาษีมรดก”