“นักเรียนวิศวะรถไฟ” สายเลือดใหม่ ขอกอบกู้ความเชื่อมั่นรถไฟไทย กลับคืนมา!
"ที่ผ่านมาการบริหารรถไฟรุ่นหลังๆ ถูกผู้บริหารประเทศทอดทิ้ง รัฐบาลไม่ค่อยลงทุน ไม่ค่อยดูแล ทำให้ภาพลักษณ์รถไฟเสียหาย แต่ในองค์กรก็มีทั้งส่วนดีและไม่ดี ส่วนใหญ่คนจะมองรถไฟด้านที่ไม่ค่อยดี แต่ด้านดีไม่ค่อยปรากฏ ทั้งที่มีเช่นกัน"
รัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาพร้อมกับความหวังของผู้ใช้บริการรถไฟว่า คสช.จะเข้ามาปฏิรูปการรถไฟไทยให้ได้สักที หลังจากภาพลักษณ์ม้าเหล็กไทยตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง
งานวิจัยทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า ปัญหาการรถไฟไทยวันนี้ ยังอยู่ในจุด Deadlock และยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลาย โดยเฉพาะปัญหาองค์กร ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ที่ภาครัฐและการรถไฟต้องรีบหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน
"สำนักข่าวอิศรา" นำคุณผู้อ่านไปพูดคุยกับนักเรียนวิศวะรถไฟและอาจารย์ในรั้ว “โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ” หลังสวนรถไฟ จตุจักร สถานที่บ่มเพาะคนการรถไฟตัวจริง เสียงจริง
...นักเรียนรถไฟรุ่นใหม่ คิดเห็นและรู้สึกอย่างไรกับรถไฟไทย ที่สำคัญ พวกเขามีข้อเสนอถึงผู้ใหญ่ในการรถไฟ และผู้บริหารประเทศยุคนี้อย่างไรบ้าง อ่านโดยพลัน !
“ศุภชัย ศิริรักษ์” หรือ น้องเกมส์ นักเรียนวิศวะรถไฟ สาขาช่างเครื่องกล ประธานนักเรียนโรงเรียนวิศกรรมรถไฟ รุ่นปัจจุบัน เล่าว่า ผมเรียนสาขาช่างเครื่องกล จบออกมาคงได้วิ่งรถ ได้ขับรถจักร เป็นความฝันของผมครับ
เกมส์ บอกว่า ผมสอบเข้าโรงเรียนรถไฟ 2-3 รอบแต่ไม่ติด มาปีนี้สมหวังสักที พอเข้ามาเรียนจริง ก็ยิ่งรักรถไฟมากขึ้น อาจารย์สอนความเป็นระเบียบ ความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง มีความกลมเกลียว พบปะกันเสมอ
เติร์ก “ธนรัตน์ กาหา” นักเรียนสาขาช่างเทคนิค รองประธานนักเรียน เสริมว่า ผมก็รอมา 2 ปี วันนี้ได้มาเรียนแล้ว ตั้งใจว่า เวลาออกไปทำงานจริง ต้องไม่ทำผิดพลาด ต้องรู้อาการที่แท้จริงเวลาจะซ่อมรถจักร ซ่อมให้ถูกจุด เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
“เติร์ก” มองว่า ที่ผ่านมาการบริหารรถไฟรุ่นหลังๆ ถูกผู้บริหารประเทศทอดทิ้ง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการคมนาคมอย่างอื่นมากกว่า เช่น ถนน ทางด่วน แต่สำหรับรถไฟ ไม่ค่อยลงทุน ไม่ค่อยดูแล ทำให้ภาพลักษณ์รถไฟเสียหาย
แต่ในองค์กรก็มีทั้งส่วนดีและไม่ดี ส่วนใหญ่คนจะมองรถไฟด้านที่ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย แต่ด้านดีไม่ค่อยปรากฏ ทั้งที่มีเช่นกัน
พีท “สิทธินนท์ จันทร์โต” นักเรียนสาขาการเดินรถ รองประธานนักเรียนรถไฟอีกคน พูดขึ้นว่า รถไฟเป็นการคมนาคมที่สำคัญ เป็นเหมือนการพัฒนาประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อเขาพัฒนารถไฟ การคมนาคมเขาดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แต่วันนี้รถไฟไทยยังพัฒนาช้าอยู่ หากผู้นำประเทศสนับสนุนด้านการคมนาคม รถไฟเราจะดีมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร
ถามพวกเขาว่า อยากเข้าไปพัฒนารถไฟอย่างไรบ้าง?
เติร์ก ธนรัตน์ ตอบว่า “คนรุ่นพวกผมนี่แหละที่จะต้องออกไปพัฒนารถไฟไทยทั้งเรื่องการเดินรถ การตรงต่อเวลา โดยเฉพาะพัฒนาหัวรถจักรและขบวนรถให้สะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะผมเป็นช่างเทคนิค”
ด้านรองประธาน พีท บอกว่า ผมเรียนฝ่ายเดินรถหรือฝ่ายหน้างาน ต้องใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด คอยบริการประชาชนโดยตรงมากที่สุด ทั้งเรื่องการโดยสารและสินค้า อย่างน้อยเรื่องบริการการเดินรถ ผมจะให้บริการอย่างดีที่สุด
“ที่ผ่านมาภาพลักษณ์การรถไฟติดลบ แต่หากคนรุ่นใหม่อย่างเราเข้าไป จะเน้นการบริการ2 เรื่องคือ การโดยสารขายตั๋ว ประชาสัมพันธ์ อีกส่วนคือ เรื่องสินค้าขนส่งของผู้โดยสาร ต้องให้บริการเต็มที่” เด็กหนุ่มกล่าวอย่างมุ่งมั่น”
ขณะที่ เกมส์ ประธานรุ่น กล่าวต่อว่า ความน่าเชื่อถือของพนักงานรถจักรเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีความตรงต่อเวลา ไม่ประมาท เวลาขับขี่รถไฟออกไป เพราะต้องดูแลผู้โดยสารทั้งขบวนรถ เป็นร้อยเป็นพันคน ต้องอยู่ในกฎระเบียบ ที่สำคัญต้องรักษาร่างกายจิตใจให้พร้อมที่จะทำงานตลอดเวลา
“วันที่เรียนจบ ผมอยากออกไปทำงานให้การรถไฟกลับมามีความน่าเชื่อถืออีกครั้ง ผมขึ้นรถไฟตั้งแต่หนึ่งขวบที่ลำปาง วันไหนพ่อไม่พาขึ้น ร้องไห้เลย ทุกวันนี้ก็ขึ้นรถไฟทุกสัปดาห์”
เมื่อถามว่า อยากบอกอะไรกับรัฐบาลใหม่เรื่องรถไฟ?
เกมส์ เริ่มคนแรกว่า ถ้าผมมีโอกาสเสนอผู้บริหารประเทศ อยากเสนอให้เขาพัฒนาทางรถไฟและสภาพรถจักร บำรุงทาง บำรุงสถานีให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ผู้โดยสารจะได้สะดวกสบาย
“ในอนาคต ผมคงเป็นพนักงานรถจักร ถ้ารถดีทางไม่ดี ก็วิ่งไม่ได้ ถ้าทางดีรถไม่ดี ออกไปรถตายกลางทาง ก็จะทำให้ผู้โดยสารเสียเวลา”
ด้านหนุ่มเติร์ก เห็นว่า เรื่องงบประมาณ ทั้งงบฯซ่อมบำรุงหรืองบฯพัฒนา น่าจะทำให้ดีขึ้น พวกผมอยู่ในโรงซ่อม บางทีต้องขอเวลาในการอนุมัติซื้ออะไหล่ บางอย่างนานไป เพราะงบฯไม่พอ หรือการขออนุมัติงบฯเป็นไปด้วยความล่าช้า
ส่วน พีท เสริมต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบราง ก็เห็นว่าดีครับ เพราะจะช่วยลดปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดได้
“รัฐบาลกำลังพูดเรื่องทางคู่ ผมอยากเสนอให้ตรงต่อเวลา ปัจจุบันทางรถไฟมีทางลัดผ่าน ทำให้การเดินรถเสียเวลา อยากให้ดูแลทางลัดผ่าน เพื่อความปลอดภัยด้วย เวลาเกิดอุบัติเหตุ กลายเป็นภาพลบของการรถไฟ ว่าทำไมปล่อยให้รถไฟมาชน ทั้งๆที่ บางครั้งคนขับรถตัดมาเอง หรือขับรถประมาท บางทีดึงที่กั้นลงแล้ว ยังขับรถมุดลอดเครื่องกั้นก็มี”
“จริงๆความหวังสูงสุดของเราคือ อยากให้มีรถไฟความเร็วสูง แต่ก็นะ อยากให้ทำทางคู่ให้ทั่วประเทศ ถ้าเข้ามาปฏิรูปรถไฟอย่างจริงจัง พวกผมก็มีกำลังใจ ผมก็จะทำหน้าที่ของผมอย่างเต็มที่”
พีท กล่าวต่อว่า โรงเรียนรถไฟสอนให้เรารู้จักบริการประชาชนในทุกๆ ด้าน อย่างผมเรียนฝ่ายเดินรถ จะเป็นฝ่ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สอนให้เรามีความผูกพันกับรถไฟ
“ตั้งแต่เด็กผมใกล้ชิดกับรถไฟ เพราะพ่อผมเป็นพนักงานรถจักร เราอยากทำเหมือนคุณพ่อ อยากเป็นแบบพ่อ พ่อปลูกฝังให้รักรถไฟ รักการบริการประชาชน”
ด้าน “กำธร ดีแท้” บุคลากร 7 งานกำหนดหลักสูตรและโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ อาจารย์ประจำโรงเรียน บอกว่า เด็กเหล่านี้เขาไม่ค่อยรู้ตัวเองหรอกครับว่าเขามีความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เข้ามาใหม่ๆ ทรงผมยาวเป็นพวกฮิ๊ปปี้ ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ แต่เราค่อยๆปลูกฝัง สอนให้อยู่ในกฎระเบียบ ซึ่งก็ดีขึ้นตามลำดับ
“อนาคตของรถไฟฝากไว้กับเด็กเหล่านี้ครับ อยากให้เขามีจิตวิญญาณของคนรถไฟ มีความมุ่งมั่น เป็นคนรถไฟที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ สร้างความมั่นใจให้คนเห็น เรียกความเชื่อมั่นการรถไฟ กลับคืนมา
อาจารย์กำธร อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หลักสูตรการสอนในโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ เป็นหลักสูตรเร่งรัดเพื่อผลิตบุคลากรให้การรถไฟโดยตรง เป็นหลักสูตร 1 ปีจบ หลังจากนั้นแล้วต้องเข้าฝึกงานที่การรถไฟ 3 เดือนเต็ม
ปัจจุบัน โรงเรียนเปิดมาเป็นปีที่ 75 ก่อตั้งปี 2483 เปิดเรียนปี 2485 จากรุ่นแรกถึงรุ่นล่าสุด เป็นรุ่นที่ 58 ผลิตคนให้การรถไฟมาแล้วกว่า 6 พันคน
วิชาที่เปิดสอน ประกอบด้วย สาขาช่างเครื่องกล จบมาเป็นพนักงานรถจักรขับรถไฟ , สาขาช่างเทคนิคไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จบมาเป็นนายตรวจซ่อมรถจักร , สาขาช่างโยธา ดูแลระบบราง อุโมงค์ สะพาน และ,สาขาการเดินรถ เป็นนายสถานี
แต่ปีนี้เปิด 3 สาขา คือ ช่างเครื่องกล ช่างเทคนิคไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ และช่างเดินรถ รุ่นปัจจุบันกำลังเรียนอยู่กว่า100 คน เด็กเรียนจบแล้ว จะได้รับการบรรจุเข้าการรถไฟหมดทุกคน
ส่วนการเรียนการสอน เมื่อเป็นหลักสูตรเฉพาะ โรงเรียนจะนำวิศวกร หัวหน้างาน ช่างที่มีประสบการณ์สูงในการรถไฟจริงๆมาสอน เรียกว่า ใช้ประสบการณ์จริงในการสอน
“เรียนเสร็จแล้ว ก็จะพาเด็กไปดูของจริงที่มักกะสัน บางซื่อ เพื่อให้เห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไรและออกไปทำงานได้จริง เราเน้นตรงนี้ จบไปแล้วสามารถทำงานได้เลย”
อาจารย์กำธร ยังบอกว่า เด็กส่วนใหญ่ที่มาเรียนโรงเรียนรถไฟ เป็นเด็กต่างจังหวัด ครึ่งหนึ่งเป็นลูกหลานคนการรถไฟ อีกครึ่งหนึ่งเป็นเด็กจากข้างคนนอกรถไฟ แต่ต้องมาสอบแข่งขันกัน ไม่มีระบบเส้นสาย ปีนี้สอบไม่ได้ ปีหน้าเด็กก็จะสมัครมาใหม่
ทว่า ก่อนจะเข้าเรียน จะจัดให้มีการเวิร์กชอปละลายพฤติกรรมในค่ายบูรฉัตร ในฐานะที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นบิดาแห่งการรถไฟสมัยใหม่เช่นกัน
ที่สำคัญ เราสอนให้นักเรียนรักองค์กร ปลูกฝังเรื่องค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม จรรณยาบรรณ สอนการวางตัวในวิชาชีพ เพราะเด็กรุ่นปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการรถไฟ ฉะนั้นหลักสูตรจึงพยายามสอดแทรกรถไฟสมัยใหม่เข้าไปด้วย
“ผมบอกเด็กว่า พวกเราเป็นเด็กสายเลือดใหม่ที่จะมาสร้าง มากอบกู้ความภาคภูมิใจของการรถไฟให้กลับคืนมา เราถูกทอดทิ้งมานาน แต่วันนี้หลายภาคส่วนหันมาสนใจ เหมือนสปอตไลต์ที่ส่องมายังเด็กรถไฟอีกครั้ง
อาจารย์กำธร บอกอีกเรื่องว่า โรงเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าแตกต่างจากโรงเรียนช่างอื่นๆ ในเรื่องแบบฟอร์มชุดนักเรียน ซึ่งจะคล้ายชุดนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ตำรวจ
"เรามีการฝึกระเบียบวินัยให้นักเรียนอย่างเคร่งครัด สอนบุคลิกภาพ มีเครื่องแบบ ดูสมาร์ท กระฉับกระเฉงไม่แพ้นักเรียนนายร้อยตำรวจ” อาจารย์กล่าวอย่างภูมิใจ
ก่อนจบบทสนทนา เด็กหนุ่มโรงเรียนรถไฟ หันมาเสริมอาจารย์ว่า “อาจารย์ฝากความหวังกับพวกเรา แต่ผมไม่กดดันนะ(หัวเราะ) เพราะผมตั้งใจอยู่แล้วว่าจะเข้ามาทำให้องค์กรการรถไฟดีขึ้น” เกมส์ ประธานนักเรียนรถไฟ กล่าว
ส่วน “เติร์ก” ย้ำว่า พวกผมตั้งใจครับ รอมา2 ปี จนได้มาเรียน และจะเข้าทำงานที่การรถไฟให้ได้
ขณะที่ “พีท” กล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเราเป็นสายเลือดใหม่ จะนำความรู้ใหม่ๆมาพัฒนาองค์กรรถไฟครับ
เสียงสะท้อนของนักเรียนรถไฟเหล่านี้ คือความหวังของการปฏิรูปขบวนรถไฟไทยในอนาคต
ขอบคุณภาพจาก
facebook โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ