ดื่มด่ำรสศิลป์ ‘มนต์เสน่ห์ไทย’ นิทรรศน์กลางกรุงร่วมสมัย
สืบเนื่องจากนิทรรศการศิลปะ ‘ไทยไหลนิ่ง’ ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2555 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (Singapore Art Museum) ในเทศกาล Thai Cultural Fest ซึ่งมีการนำเสนอความหลากหลายของผลงานเชิงสร้างสรรค์ บ่งบอกถึงรากเหง้าและความร่วมสมัย เกี่ยวเนื่องกับความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา
จากความสำเร็จดังกล่าวนำมาสู่การต่อยอดจัดนิทรรศการ ‘มนต์เสน่ห์ไทย:มรดก+พลังสร้างสรรค์’ นำโดยหัวเรือใหญ่อย่าง ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ภัณฑารักษ์ ตั้งแสดงโบราณวัตถุจำนวน 38 ชิ้น เคียงคู่ผลงานศิลปะร่วมสมัย จาก 19 ศิลปิน
“ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยคู่กับโบราณวัตถุ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน นับเป็นความคิดที่น่าสนใจมาก เพราะไทยยังไม่เคยจัดนิทรรศการลักษณะนี้มาก่อน” อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปิน กล่าว และนำไปสู่แรงบันดาลใจของโครงการว่า
“การจัดแสดงงานศิลปะดังกล่าวได้รับความนิยมในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สเปน อังกฤษ เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ของเก่าเก็บ แต่ล้วนเต็มไปด้วยความรู้และความคิด ซึ่งคุณค่าทางศิลปะเหล่านั้นนำมาสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ขึ้นได้ แต่น่าเสียดายที่ไทยยังมองไม่เห็นคุณค่า
กรมศิลปากรพยายามนำเสนอความคิดใหม่ แต่ผู้นำประเทศยังมอง ‘พิพิธภัณฑ์’ เป็นเพียงสถานที่เก็บของเก่าอยู่ ไม่เห็นคุณค่าทางความรู้ที่แฝงเข้ามา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นปัจจุบันเกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ผ่านรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชาติ จึงถือเป็นนิทรรศการที่มีประโยชน์”
ส่วนความรู้สึกแรกที่เข้าไปในคลังเก็บโบราณวัตถุ ศิลปินผู้นี้ บอกเล่าว่า ตื่นตาตื่นใจ เพราะไทยมีมรดกเยอะมาก แต่กลับไม่มีพื้นที่จัดแสดงให้ประชาชนได้ศึกษา ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งหากได้เห็นมากขึ้นก็อาจทำให้เกิดพลังจุดประกายคุณค่าได้ ผิดกับพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่มีการจัดแสดงมากมาย พื้นที่กว้างใหญ่ และมีศิลปะใหม่ ๆ หมุนเวียนให้คนเข้าชมหลากหลาย
อาจารย์ปัญญา ยังอธิบายถึง ‘UNHAPPY,2014’ ซึ่งเป็นชิ้นงานของตัวเองที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วยว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพแกะสลักหินพระพุทธเจ้าสมัยทวารวดีในคลังเก็บโบราณวัตถุ มีลักษณะเหลี่ยม แตกต่างจากสมัยสุโขทัยที่มีความอ่อนช้อยและงดงามกว่า
โดยตนเองได้นึกถึงสุนทรียะจากเดิมเป็นภาพเขียนมารังสรรค์เป็นงานแกะวัสดุบนโลหะ ‘ฝากระโปรงรถเก่า’ นำมาพ่นสีใหม่ และแกะสลักด้วยเครื่องเจียร เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างเทคนิคสมัยใหม่กับโบราณ ประกบร่วมกัน
“งานศิลปะของผมไม่มุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอย แต่ต้องการฉีกประเด็นเพื่อสื่อความหมายทางความคิดและแสดงออกผ่านทัศนคติของศิลปินมากกว่า”
เกี่ยวกับมุมมองความคิดที่ท้าทาย เขาระบุว่า ผมสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมายังไม่เท่าโบราณวัตถุเหล่านี้เลย จะต้องพยายามอีกมาก “ศิลปินยุคใหม่สู้ไม่ได้” อย่างไรก็ตาม หากจัดนิทรรศการลักษณะนี้ต่อเนื่อง เชื่อว่าศิลปินจะเกิดความตื่นตัวพัฒนางานศิลปะไทยต่อไป
ทั้งนี้ การนำรากฐานมรดกชาติสู่ระดับสากลนั้นต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้ชาวต่างชาติเล็งเห็นความสำคัญของงานสากลไทย ซึ่งที่ผ่านมาเรามักภูมิใจเฉพาะศิลปวัฒนธรรมและประเพณี เพราะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทว่า‘ศิลปะร่วมสมัย’ คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพื่อให้ศิลปินมีกำลังช่วยกันคิดมากกว่านี้ โดยนิทรรศการเป็นจุดเริ่มต้นได้
อาจารย์ปัญญา สะท้อนอีกว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศ ซึ่งควรมองให้เห็นถึงมรดกและรากฐานทางวัฒนธรรมของตัวเอง เชื่อจะแก้ปัญหาสังคมระยะยาวได้ ไม่ใช่เฉพาะหน้า เพราะจะไม่ยั่งยืน ด้วยสังคมเกิดการแปรเปลี่ยนรวดเร็วและง่าย ถ้าไทยยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน
“ผมอยากให้มองข้ามศิลปะเกี่ยวกับประเด็นความสวยงาม แต่มุ่งหวังให้มองลึกไปถึงคุณค่าทางความรู้ ความคิด และแนวทางการสร้างสรรค์ สามารถให้ประโยชน์แก่เราเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและเป็นธรรมชาติในการพัฒนาคนให้เป็น ‘คนไทย’ ที่สามารถยืนหยัดทัดเทียมกับประเทศที่ก้าวหน้ากว่าเราได้”
อาจารย์ปัญญา จึงชี้ชวนให้คนไทยหันมาศึกษางานศิลปะ 4 ศาสตร์ ได้แก่ ตรรกะ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และศิลปะ เพื่อสร้างคนมีเหตุมีผล คิดเป็น เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต และรู้จักสร้างสรรค์วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง ซึ่งศิลปะไม่มีทางทำให้คนขัดแย้ง ทว่า จะมีความประนีประนอมและเข้าใจกัน แต่การปฏิรูปครั้งนี้กลับไม่เห็นประเด็นเหล่านี้
“เราอาจจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยละเลยศิลปะ หากยังเป็นเช่นนี้จะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะวิชาทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ช่วยสร้างสังคมเจริญก้าวหน้า”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า งานศิลปะสามารถพัฒนาความคิดของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี ภาพยนตร์ ละคร ล้วนทำให้เราลืมความวุ่นวายชั่วขณะก็ด้วยสุนทรียะ จึงหวังอย่างยิ่งว่าการสะท้อนความแตกต่างระหว่างศิลปะแต่ละยุคจะทำให้เราเห็นเส้นทางของ ‘จิตวิญญาณ’ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้
สมชาย ณ นครพนม นักโบราณคดีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร กล่าวว่า ไทยมีโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศกว่า 2 แสนชิ้น ซึ่งศ.ดร.อภินันท์ เห็นความสำคัญในการทำให้เกิดประโยชน์ เพราะที่ผ่านมามีการจัดแสดงเพียง 50% เท่านั้น จึงไปดูในคลังเก็บโบราณวัตถุเพื่อนำมาสร้างสรรค์รูปแบบใหม่
“การนำโบราณวัตถุเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นของเก่าเสมอไป อาจเป็นของปัจจุบันก็ได้ ซึ่งล้วนมีเรื่องราวและคุณค่าในแง่ความรู้ ความรู้สึกซาบซึ้งใจ ในมรดกของชาติ” นักโบราณคดี กล่าว และว่าฉะนั้นโบราณวัตถุบางอย่าง เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด ช้อน เป็นต้น ถือเป็นวัตถุที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าทางสังคมได้
โดยสิ่งสำคัญที่ ‘เขา’ หยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าที่แฝงมากับประวัติศาสตร์ มิได้ครอบคลุมเฉพาะโบราณวัตถุเท่านั้น บางอย่างอาจจับต้องไม่ได้ เช่น ศิลปะการแสดงโขน ที่มีทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คือ การคิดค้นท่าทางประกอบ การแต่งกาย หรือดนตรี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมรดกที่ผสมผสานระหว่างการจับต้องได้กับไม่ได้ ซึ่งการจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่สู่การจัดแสดงนิทรรศการนั้น ต้องมองไปถึงเบื้องหลังการทำงาน อาจจะทำเป็นรูปแบบบทบรรยายวิชาการ
นอกจากนี้ศิลปะบางอย่างเป็นลักษณะตัวอักษร ‘ตำราพิชัยสงคราม’ เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย เดิมนั้นยังไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยส่งไปจัดแสดงที่เยอรมัน แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้นจึงถูกเยอรมันยึดไว้ ทว่า ได้นำกลับคืนมา เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ และใช้สนธิสัญญาแวร์ซายบีบนำกลับคืนมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความรู้ที่ได้รับผ่านศิลปะ
“วัตถุที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการมนต์เสน่ห์ไทยฯ แม้จะเป็นภาชนะรูปแบบเดียวกัน แต่มุมมองการนำเสนออาจแตกต่างกัน” นักโบราณคดี ระบุ และว่าวิธีการนำเสนอมิได้จำกัดเฉพาะตัวหนังสือหรือถ่ายภาพ แต่เราควรนำเสนอผ่านวัตถุสมัยใหม่วางเปรียบเทียบให้เห็นคุณค่าร่วมกัน
การจัดแสดงโบราณวัตถุเคียงคู่ผลงานใหม่จากศิลปินที่ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากมรดกล้ำค่า ซึ่งเปรียบช่างนิรนามในอดีตเป็นดั่งครูทางศิลปะที่ควรเคารพนอบน้อม ทั้งนี้ ผู้สนใจอยากดื่มด่ำรสศิลป์ต้องมนต์เสน่ห์ไทย สามารถชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้-16 พฤศจิกายน 2557 ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร .
ภาชนะรูปวัว สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 2 พันปี
ศิวลึงค์ ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษ ที่ 14-15
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางห้ามสมุทร ศิลปะรัตนโกสิทร์ พุทธศตวรรษ ที่ 24
บัลลังก์นาคราช โดย Rolf von Buren
ศิลปะลายรดน้ำลงรักปิดทอง ตั้งคู่โบราณวัตถุ
Beyong...2007-2009
มิติเเห่งวันวาน