บลจ. บัวหลวง เปิดตัวกองทุนรวมคนไทยใจดี เน้นลงทุนกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน
BKIND กองทุนรวมใหม่ หวังร่วมรับผิดชอบสังคม 4 ด้าน ยกผลประโยชน์การจัดการกองทุน 40% สนับสนุนโครงการสาธารณประโยชน์เพื่อต่อยอดแผนปฏิรูปประเทศสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น
9 ตุลาคม 2557 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บัวหลวง จำกัด ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย และสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน จัดเสวนาเปิดตัวกองทุนรวมกองใหม่ “กองทุนรวมคนไทยใจดี(BKIND)” ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนใน ESGC กองแรกของเมืองไทย ณ ห้องบอลรูม2 โรงแรงสวิสโซเทล เลอ คอง คอร์ด ถนนรัชดาภิเษก
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวช่วงต้นของการเสวนาว่า การการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นฐานะคนในประเทศโดยรวมดีขึ้น สิ่งปลูกสร้างอาคารดีขึ้น แต่หากมองต้นทุนการพัฒนาโดยไม่รวม GDP ทำให้เห็นว่า ในช่วง 20 ปีก่อน เรามีคนจน 24 ล้านคน ตอนนี้เหลือ 8 ล้านคน แม้ว่าตัวเลขจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งแวดล้อมทั่วไปกลับเสียหายเป็นจำนวนมาก
"ณ วันนี้เสียหายไปแล้วเท่าไร รัฐบาล เอกชนได้มองปัญหานี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่โดยตรงสำหรับกลุ่มภาคธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุดรู้ว่า สิ่งแวดล้อมเหล่านี้แฝงอยู่ แม้บางทีจะทำเป็นไม่รู้ตัวก็ตาม และขณะเดียวกันกลุ่มภาคธุรกิจคิดจะทำประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เราตามการพัฒนาทัน แต่ความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมตามไม่ทันแล้ว" ดร.สถิตย์ กล่าว และว่า ดังนั้นการออกแบบกองทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมจะช่วยทำให้การลงทุนเป็นการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพื่อให้ผลตอบแทนทางธุรกิจได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบทางสังคมในเรื่องต่างๆควบคู่กันไปด้วย
ด้านนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า กองทุนรวมคนไทยใจดี มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินจากผู้ลงทุนไปลงทุนในกิจการที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม(Environment) สังคม(Social) บรรษัทภิบาล(Good Governance) และการต่อต้านคอร์รัปชัน(Anti-Corruption) เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุนภายใต้แนวคิดว่า กิจการที่มีกำไรและยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง ดังนั้นกองทุนรวม คนไทยใจดี จึงจะใช้แนวคิดนี้ในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวที่ยั่งยืน ซึ่งจะเน้นการลงทุนหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หรือตลาดรองอื่นๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นอกจากจะเป็นกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแล้ว ยังจะต้องเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมทั้ง 4 ด้านด้วย
"นอกจากจะเป็นกองทุนรวมกองแรกที่มุ่งในเรื่องของ ESGC แล้ว กองทุนรวมคนไทยใจดี ยังเป็นกองทุนรวมกองแรกที่มอบรายได้ในการจัดการกองทุน 40% หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน มาสนับสนุนหรือลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ อันเป็นการทำให้เงินทุกบาทของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น และในการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่างๆ ที่จะได้รับการสนับสนุนนั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการที่เหมาะสม นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการลงทุน ที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ คือให้แก่สังคมและรับจากโอกาสในการลงทุน"
ขณะที่นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการ มูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า สาเหตุที่มูลนิธิฯ เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนคนไทยใจดีว่า เพราะต้องการเห็นคนไทยทุกภาคส่วนรวมทั้งนักลงทุนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมร่วมกันปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจขนาดใหญ่ที่อาศัยเพียงกำลังจากภาครัฐคงจะไม่สำเร็จ ภาคตลาดทุนเองก็สามารถช่วยได้ ถ้าดูจากเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 14 ล้านล้านบาทต่อปี เพียง 1% ของเงินจำนวนนี้ถูกแบ่งมาลงทุนเพื่อสังคม ยิ่งจะช่วยทำให้เงินลงทุนอีก 99% นั้น เป็นทุนที่ยั่งยืน เติบโตต่อไปได้อีก
ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวด้วยว่า หวังว่าการออกแบบกลไกเป็นกองทุนรวมตัวนี้จะเกิดประโยชน์สองด้าน ด้านแรกเป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้สนับสนุนบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีตามเกณฑ์ ESG ซึ่งเฉพาะกองทุนนี้ ได้ประยุกต์เพิ่มตัว C ที่หมายถึงการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปด้วย กับอีกด้านเป็นกลไกที่กำหนดให้มีการแบ่งเงิน 0.8% ของผู้ลงทุนโดยจ่ายผ่านกลไกส่วนแบ่งค่าบริหารจัดการ40%ของบลจ.บัวหลวงไปสนับสนุนโครงการที่แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมไทยในประเภทต่างๆ
"ในอนาคตอันใกล้ มูลนิธิฯ มีความตั้งใจที่จะพัฒนากองทุนเพื่อสังคมประเภทอื่นอีก พร้อมกับเดินหน้าต่อพัฒนาเกณฑ์การกำกับกิจการที่ดี ESGC ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ให้เป็นเกณฑ์ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ได้ สำหรับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ Socially Responsible Investment หรือ SRI ของประเทศไทย"
ส่วนนายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน กล่าวถึงโครงการเพื่อสังคมที่มีโอกาสได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนนี้ว่า เป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างอนาคตใหม่ให้สังคมไทยในประเด็นที่มีความสำคัญสามารถวัดผลการเปลี่ยนแปลงได้ มีความยั่งยืน ขยายผลได้ และยังมีความเชื่อมโยงกับประเด็นการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ เช่น การศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะภาคการเกษตร การทุจริตคอร์รัปชัน การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
นายสุนิตย์ กล่าวถึงกระบวนการพิจารณาโครงการต่างๆที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้ด้วยว่า กระบวนการจะเริ่มจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการจะประชุมคัดเลือกโครงการที่สมควรได้รับการสนับสนุนรวมทั้งจำนวนเงินและเงื่ิอนไขการสนับสนุนของแต่ละโครงการจากนั้นส่งให้คณะกรรมการอนุมัติเงินเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินโดยจ่ายผ่านบัญชี มูลนิธิยุวพัฒน์เพื่อโครงการกองทุนคนไทยใจดี ทุกโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจะมีการติดตามรายงานความก้าวหน้าให้นักลงทุนรับทราบในทุกไตรมาส