"ทางกลับบ้าน" หนังสั้นสร้างสรรค์สังคม ฝีมือยุวศิลปิน Young Thai Artist Award
“ต้องยอมรับว่าคนเขียนบทฉลาดที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้ดี ทั้งในเรื่องภาษา การสื่อเรื่องครอบครัว ภาษาของหนัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้มนุษย์กำลังทำลายโครงสร้างทางสังคม หนังจะบอกถึงภาวะสำคัญของความตายว่าเป็นสิ่งที่ทดลองตายไม่ได้ ซึ่งหนังสั้นเรื่องนี้จะทำให้เข้าใจความตรงไปตรงมาของชีวิต เข้าใจปรัชญา และเข้าใจความคิด”
ทางกลับบ้าน หนังสือรวมเรื่องสั้น “พระเจ้าองค์ใหม่ ในหมู่บ้านตื่นกลางวัน และหมู่บ้านตื่นกลางคืน” ของเชตะวัน เตือประโคน เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยม สาขาวรรณกรรม โครงการรางวัลยุวศิลปินไทยปี 2550 ถูกนำมาสร้างเป็นหนังสั้นในโครงการ“หนังสั้น 10 ปี Young Thai Artist Award” ในโครงการหนังสั้นโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยของมูลนิธิเอสซีจี
ภาพพนักงานหนุ่มผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงตั้งใจทำงานโดยไม่สนใจอะไร บ้านที่ต่างจังหวัดก็ไม่เคยกลับถูกฉายขึ้น ณ ชั้น 5 ห้อง Auditorium หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หนังสั้น "ทางกลับบ้าน" ที่กำลังถ่ายถอดเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ลูกโตขึ้นแทบจะไม่ได้ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จนกระทั่งพ่อป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 4 และไม่ยอมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแต่ตั้งใจที่จะกลับมาอยู่ที่บ้านทำ ให้ลูกๆกลับมาใช้ชีวิตพร้อมหน้าพร้อมตาจนกระทั่งพ่อเสียชีวิต
"อุ๋ย- นนทรี นิมิบุตร" ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับแนวหน้าของไทยในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า หนังสั้นเรื่องนี้ได้เข้าไปให้คำปรึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของบทมากว่า รวมทั้งแก่นของเรื่อง และสาเหตุที่เลือกนำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์เพราะภาพยนตร์เป็นศิลปะแขนงที่ 7 และสามารถนำศิลปะทั้ง 6 แขนงมาร่วมกันสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นมาได้
สิ่งที่น่าตื่นเต้นของโครงการนี้ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง บอกว่า คือการที่น้องๆได้มารวมตัวกัน เพราะการทำงานในเชิงศิลปะต้องมีการต่อยอด ซึ่งจะช่วยให้น้องๆเดินทางไปได้ไกลกว่านี้ รางวัล และการทำงานชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนใบเบิกทาง นอกจากเป็นใบเบิกทางในประเทศไทยแล้วยังจะนำพาหนังเรื่องนี้ไปสู่เทศกาลนานาชาติอีกด้วย ที่สำคัญคือจะทำให้คนรู้จักว่า เวทีนี้คือแหล่งผลิตศิลปินที่มีฝีมือสู่ระดับนานาชาติ
“ขบวนการทำงานของเหล่าคณะกรรมการสิ้นสุดลงเมื่อบทภาพยนตร์นิ่ง นั่นหมายความว่า เราทำงานเสร็จแล้ว ส่วนงานด้านการผลิตที่เหลือคืองานของน้องๆ งานนี้คืองานของน้องจริงๆ ผมจะไม่ให้มีกลิ่นอายของความเป็นผมเข้าไปอยู่ในงานชิ้นนี้เด็ดขาด เพราะเราจะได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาทดแทนคนรุ่นเก่าๆในอนาคต”
ด้านผศ.สกุล บุณยทัต นักวิจารณ์วรรณกรรมจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า วิถีชีวิตของคนในขณะนี้เป็นคนในสังคมหลงทาง คือ คิดว่าเมืองหลวงเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น จนลืมบ้าน ทิ้งบ้านมา ซึ่งระหว่างที่เขียนบทพยายามเคี่ยวเข็ญเพื่อให้เด็กเข้าใจปรัชญาว่าเราต้องมีความสุขกับชีวิตและการจากไป บ้านคือที่ที่มีความสุขเมื่อมาอยู่รวมกันเป็นสถานที่แห่งความรักและคือที่ที่มีหัวใจอยู่ในนั้น
"วันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าเขามีพัฒนาการและเข้าใจปรัชญาของวรรณกรรมจนนำมาสู่บทหนังสั้น ตลอดระยะเวลาการทำงานมีการโต้ตอบกันผ่านทางข้อความเฟชบุ๊ก เนื่องจากไม่อยากทำให้เรื่องนี้เสียหาย แม้สิทธิการทำบทดัดแปลงจะขยายกว้างได้"
“ต้องยอมรับว่าคนเขียนบทฉลาดที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้ดี ทั้งในเรื่องภาษา การสื่อเรื่องครอบครัว ภาษาของหนัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทุกวันนี้มนุษย์กำลังทำลายโครงสร้างทางสังคม หนังจะบอกถึงภาวะสำคัญของความตายว่าเป็นสิ่งที่ทดลองตายไม่ได้ ซึ่งหนังสั้นเรื่องนี้จะทำให้เข้าใจความตรงไปตรงมาของชีวิต เข้าใจปรัชญา และเข้าใจความคิด”
ขณะที่ผู้กำกับและเขียนบทอย่าง "นอ- นรชาย กัจฉปานนท์" ยุวศิลปิน รางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ Young Thai Artist Award 2006 บอกว่า การมาร่วมงานครั้งนี้ทำให้ได้ร่วมงานกับเพื่อนๆยุวศิลปินในหลายรุ่นและหลายสาขา งานครั้งนี้ทำให้ได้คิดหลายอย่างโดยเฉพาะบทที่พี่ๆได้พยายามอธิบายให้เราเข้าใจถึงแก่นของเนื้อหาเพื่อที่จะได้ไม่หลุดประเด็นที่ผู้เขียนต้องนำเสนอ
นอ เล่าวว่า ส่วนในขั้นตอนการทำงานแม้เพื่อนๆแต่ละคนจะมาจากหลายสาขา แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาในทางตรงกันข้ามด้วยความมุ่งมั่นแต่ละคนยังทำหน้าที่กันด้วยความเต็มใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก
ส่วน "ธนิษฐา นันทาพจน์" รางวัลยุวศิลปินไทย สาขาศิลปะ 2 มิติ ปี 2011 บอกเล่าถึงความดีใจที่ผลงานภาพวาดสีน้ำรูปบ้านหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นบ้านที่ตัวละครทั้งหมดกลับมาอยู่พร้อมหน้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมให้หนังสั้นเรื่องนี้มีความสมบูรณ์
เธอเล่าวว่า เธอต้องใช้เวลาค่อนข้างนานมากในการจินตนาการจะวาดแบบไหนจะเข้ากับหนังมากที่สุด และเมื่อผลงานออกมาแล้ว ภาพนี้กลายเป็นองค์ประกอบของหนังสั้นเรื่อง "ทางกลับบ้าน" ทำให้รู้สึกว่าความสามารถได้ถูกบรรจุในห้วงความทรงจำนี้แล้ว
|