ปมดราม่าโทษแร่ใยหินมากหรือน้อยกว่า"ไม้จิ้มฟัน"
“ตอนที่เห็นเพื่อนตาย แล้วต้องวิ่งหาหมอให้วินิจฉัยว่าตายด้วยสาเหตุอะไร รู้เลยว่าประเทศไทยไม่มีระบบการวินิจฉัย เมื่อไม่มีทุกคนก็ไม่รอด แล้วคนที่ได้รับผลกระทบมีแต่คนจนเป็นคนงานที่ไม่มีความรู้จึงไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะฉะนั้นในประเทศไทย จึงมีแต่การสูญเสียและการเจ็บป่วยพิการตลอดชีวิตจากแร่ใยหิน”
“ปี 1974 ผมดีใจมากที่อิเทอร์นิตจ้างผม โรงงานอิเทอร์นิตเป็นงานที่มั่นคง แต่พอเริ่มงาน ผมก็สังเกตว่าทุก 2 วัน ชื่อคนตายที่แปะอยู่ตรงทางเข้าจะเปลี่ยนใหม่ วันนี้คาร์โล วันต่อมามิเคล อีกวันฟรานเซสโก ที่แปลกคือแต่ละคนอายุแค่ 50, 52, 58, 61, 46” นิโคลา พอนดราโน กล่าวในช่วงต้นของหนังสารคดีเรื่อง Dust: The Great Asbestos Trial ที่ถูกนำมาฉายในโรงภาพยนตร์ลิโด้ 2 โดยความร่วมมือของมูฟวี่แมทเทอร์ ร่วมกับแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่ง(T-BAN) เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2557
Dust: The Great Asbestos Trial เป็นภาพยนตร์สารคดีของนิกโคโล บรูนา (Niccolo Bruna) และ อังเดร ปรานด์สตรอลเลอร์ (Andrea Prandstraller) ที่พาเราไปดูการต่อสู้บนชั้นศาลในเมืองตูริน ประเทศอิตาลี ซึ่งมีบริษัทอุตสาหกรรมแร่ใยหินข้ามชาติอย่าง อิเทอร์นิต(บริษัทผลิตกระเบื้องรายใหญ่แห่งหนึ่งในอิตาลีที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัสดุในการผลิต) เป็นจำเลย ด้วยข้อหาเป็นต้นเหตุให้อดีตคนงานและชาวบ้านนับหมื่นคนต้องเสียชีวิต การต่อสู้ที่ยาวนานส่งผลให้บริษัทแห่งนี้ถูกปิดตัวลงไป
หากย้อนมาดูประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆที่ยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินแม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาในปี 2554 ให้มีการยกเลิกเวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้วก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
“เราต่อสู้รณรงค์ให้ยกเลิกแร่ใยหินตั้งแต่ปี 2549 ต่อสู้จนกระทั่งมีมติครม.ออกมาแล้วว่าให้ยกเลิกแต่ก็ยังไม่มีการยกเลิก คำสั่งมติครม. กฎหมายบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีความหมายอะไรเลยใช่ไหม” นี่คือคำถามจากรศ.ดร.พิชญา พรรคทอสุข ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เริ่มต้นตั้งคำถามภายหลังจากสารคดีจบลงพร้อมบอกเล่าให้ฟังว่า เธอได้ทำงานรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างยาวนานแต่ไม่เกิดผลอะไรขึ้น เวลาทำงานทำงานกับภาครัฐแต่จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ภาคราชการแต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่ภาคประชาชน เพราะหากประชาชนร่วมกันตรวจสอบก็จะทำให้มีน้ำหนักมาก ทั้งนี้มติครม.ที่ผ่านมาที่มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินนั้นหากกฎหมายในประเทศมีความเข้มแข็ง ณ เวลานี้คงไม่มีการนำเข้าแล้ว มิหนำซ้ำผ่านมาแล้ว 3 ปียังไม่มีอะไรเกิดขึ้น
รศ.ดร.พิชญา บอกอีกว่า หลายครั้งตั้งคำถามกับตัวเองว่ากฎหมายบ้านเราล้มเหลวหรือไม่ หรือกฎหมายเมืองไทยดีไหม ลองถามคำถามนี้กับเพื่อนที่เป็นคนต่างชาติก็ได้ความเห็นมาว่ากฎหมายเมืองไทยหลายๆเรื่องดีโดยเฉพาะเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาคือมีกฎหมายดีแต่การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้เลย
ด้านนางสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย บอกเล่าความรู้สึกหลังจากได้ชมสารคดี ว่า ยิ่งดูยิ่งรู้สึกบีบคั้นหัวใจมากเพราะเห็นได้ชัดว่าคนที่ได้รับผลกระทบ คนที่ต้องเสียชีวิต ครอบครัวต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาลและไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแต่ต้องสู้กันอีกหลายครั้ง รวมทั้งตัวเธอเองที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินจนต้องป่วยเป็นโรคปอดอักเสบมาแล้ว 15 ปี และทำงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเห็นการจากไปของเพื่อนๆที่รู้จักจากโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก
“ตอนที่เห็นเพื่อนตายแล้วต้องวิ่งหาแพทย์มาวินิจฉัยว่าตายด้วยสาเหตุอะไรรู้เลยว่าประเทศไทยไม่มีระบบการวินิจฉัย เมื่อไม่มีทุกคนก็ไม่รอด แล้วคนที่ได้รับผลกระทบมีแต่คนจนเป็นคนงานที่ไม่มีความรู้จึงไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อสู้ เพราะฉะนั้นในประเทศไทยจึงมีแต่การสูญเสียและการเจ็บปวดพิการตลอดชีวิตจากแร่ใยหิน”
สมบุญ เล่าด้วยว่า สังคมนี้ไม่เป็นธรรมกับคนงานคนจน ต่อให้มีคนล้มตายก็ไม่เชื่อว่าสาเหตุมาจากแร่ใยหินถ้าไร้หมอยืนยัน หรืออาจจะต้องรอขึ้นศาล มิหนำซ้ำการพัฒนาที่ผ่านมา 50-60 ปียังเอาต้นทุนจากสุขภาพของชีวิตคนงานที่ไม่มีปากไม่มีเสียง นี่หรือที่เรียกว่าความเจริญ หากต้นทุนที่ถูกที่สุดต้องตกอยู่กับคนงาน คนป่วย คนเจ็บ นี่คงจะเป็นความเจริญที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเร็วๆนี้คนที่รู้จักหมอชี้ว่าเป็นมะเร็ง นอนอยู่โรงพยาบาล 5 วันเสียชีวิต แต่ไม่มีใครลุกขึ้นมาสู้แล้วบอกว่าสาเหตุมาจากแร่ใยหิน มาจากกระเบื้องที่เขาต้องแบก
ขณะที่นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคณะกรรมการกองทุน สสส. เล่าว่า ที่จริงประเทศไทยโชคร้าย รณรงค์มาตั้งแต่ปี 2549 ผลักดันกันเข้าสู่สมัชชาจนกระทั่งมีมติขึ้นไปถึงครม.ให้ยกเลิก ตอนบอกให้ยกเลิกก็คงไม่ได้อ่านรายละเอียดมากคงจะพิจารณาแบบผ่านๆ หลังจากพิจารณาเห็นผลกระทบมากและหาวิธีการสารพัดที่จะไม่ทำตามมติครม.
“สิ่งที่น่าเสียใจที่สุด คือกระทรวงสาธารณสุขริเริ่มให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินชัดเจน แต่หลังจากที่ไปดูงานที่ประเทศรัสเซียปรากฎว่าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงบางคนออกมากับมติไครโซไทล์ไม่เป็นอันตรายแถมยังบอกอีกว่า"ไม้จิ้มฟัน"อันตรายกว่าแร่ใยหิน แบบนี้ผมว่าไม่ใช่หมอและไม่ใช่คน คนคนนี้ทำให้มติครม.เปลี่ยนและทำให้เรื่องการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินชะลอไปเรื่อยๆ”
นพ.วิชัย ทิ้งท้ายด้วยว่า เรื่องนี้จะสู้สำเร็จหรือไม่หรือจะต้องมีคนไทยเสียชีวิตเป็นจำนวนมากอย่างเมืองตูริน ประเทศอิตาลี จนเป็นที่ปรากฏขนาดนั้นหรือไม่ คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันพยายามรณรงค์ต่อไปจนกว่าดอกไม้จะบาน
กว่าดอกไม้จะบานก็ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องแลกกับสุขภาพคนไทยอีกกี่คนถึงจะมองคนได้เท่ากัน
ขอบคุณภาพจากเฟชบุ๊กมูฟวีแมทเธอร์