คปก.เร่งติดตามความคืบหน้า ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานประมงทะเล
คปก.ชี้เหตุใช้แรงงานทาสส่วนหนึ่งมาจากการทำ SEAMAN Book ปลอม แนะะเร่งหาข้อสรุปแก้กฎกระทรวงฯประมง
ภายหลังกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการยกร่างกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ....และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)ได้จัดทำหนังสือขอให้ชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไว้ เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ด้วยเกรงว่าเนื้อหาของกฎกระทรวงฯยีงมีเนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาได้มีบันทึกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ....ประกอบกับ สถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (Trafficking In Persons Report-TIP Report) ปรับลดชั้นการค้ามนุษย์ของประเทศไทยไปอยู่ในระดับที่ 3 (Tier 3 ) หรือระดับต่ำสุด ซึ่งการถูกลดชั้นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและการจ้างงานในภาคประมงทะเลของไทยเป็นอย่างมาก
ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) โดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน จัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการต่อร่างกฏกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. .... ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชั้น 16/1 อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงความคืบหน้าร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ....ว่า มีความคืบหน้ามากกว่าเดิม แต่มีบางประเด็นที่ยังคงต้องพูดคุยและแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประเด็นการกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานเด็กที่แรงงานต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ประเด็นเรื่องรายละเอียดหนังสือสัญญาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นมาตรฐาน ที่ทุกฝ่ายจะต้องเห็นพ้องกัน และรายละเอียดของการดำเนินงานของลูกจ้างโดยการใช้ชีวิตของลูกจ้างระหว่างทำงานอยู่บนเรือ ซึ่งซับซ้อนทั้งในเรื่องของสวัสดิการและความเป็นอยู่
“ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้เป็นอย่างมากคือ ต้องขยายคำนิยามของคำว่า นายจ้างครอบคลุมถึงผู้คุมเรือหรือไตก๋งด้วย เพราะการทำงานบนเรือมีไตก๋งเป็นผู้คุมงานแทนนายจ้าง หากไม่กำหนดนิยามไว้ชัดเจน เวลาเกิดปัญหาด้านการบังคับใช้แรงงานทาสคนที่รับผิดชอบจะมีเพียงนายจ้างเท่านั้น ไม่ใช่ไตก๋ง อีกทั้งข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสจะเกี่ยวกับไตก๋งเอาเปรียบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องระบุคำนิยามไว้ให้ชัดเจน ครอบคลุมถึงไตก๋งด้วย”
รองประธาน คปก.กล่าวถึงการจดทะเบียนของแรงงานมีการดำเนินการเป็นระยะแล้ว แต่นายจ้าง (ครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ) ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแรงงานบ่อยเพราะการทำงานที่หนักหรือสาเหตุอื่นๆ ทั้งนี้นายจ้างอาจจะไม่ทำหรือทำไม่ได้ เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การค้ามนุษย์และการจัดลดชั้นไปอยู่ในระดับขั้นที่ 3
"เหตุนี้กฎกระทรวงฯ มีความหมายในเชิงแรงงานประมงเป็นอย่างมาก ประกอบกับการแก้ไขและยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ที่ระบุว่า หากเรือออกไปพ้นน่านน้ำไทยมากกว่า 1 ปี กฎหมายไทยจะไม่ครอบคุลมและดูแล ซึ่งส่วนนี้ได้ทำการยกเลิกและจะครอบคลุมไม่มีระยะเวลากำหนด"
นางสุนี กล่าวอีกว่า การทำสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ลูกจ้างเพื่อแสดงความเป็นตัวตนของลูกจ้าง หากไม่ทำก็กลายเป็นบุคคลสาปสูญ รวมถึงหนังสือคนประจำเรือ (SEAMAN BOOK) ปลอม ซึ่งเป็นการกระทำที่เสียหาย จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาในส่วนนี้โดยการจัดทำให้เป็นมาตรฐานเหมือนกัน
อย่างไรก็ดีภายหลังการประชุมจะมีการสรุปและแก้ไขร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ....ให้เป็นที่เรียบร้อยและจะนำเสนอต่อรัฐมนตรี โดยเร็วที่สุด
ด้าน Mr.Max Tunon ผู้ประสานงานอาวุโสและเจ้าหน้าที่โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ สิทธิแรงงานข้ามชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ....ว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาของกฎกระทรวงฯฉบับนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นของการกำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงาน ซึ่งอายุที่เหมาะสมที่สุดควรอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี รวมไปถึงต้องคำนึงระยะเวลาในการทำงาน อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ยังมีไม่เพียงพอ และความแข็งแรงของเด็ก เป็นต้น
ในเรื่องของการกำหนดชั่วโมงพักของลูกจ้าง Mr.Max Tunon กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดเวลาในการพัก แต่อนุสัญญามีการระบุไว้ว่าจะต้องมีเวลาพักที่สม่ำเสมอ และสำคัญคำนึงถึงสุขภาพอนามัยของแรงงาน เพราะว่าเรื่องของระยะเวลาการทำงานหรือชั่วโมงพักเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อความเหนื่อยล้าของการทำงานของแรงงาน
"ถ้าแรงงานมีความเหนื่อยล้าจะส่งผลต่อทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้ และการเสียชีวิตในระหว่างการทำงาน แรงงานจะต้องมีระยะเวลาพักอย่างน้อย 10 ชั่วโมงในระยะเวลาในการทำงาน 1 วันหรือ 77 ชั่วโมงในระยะเวลาในการทำงาน 7 วัน ทั้งนี้หากเกิดในกรณีที่ไม่สามารถการันตีในเวลาพักได้นั้น ต้องมีเวลาชดเชยและต้องสมเหตุสมผลของอนามัยการทำงานของแรงงาน"
Mr.Max Tunon กล่าวด้วยว่า สภาพการทำงานจากการศึกษาพบว่าสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดแรงงานโดนบังคับคือการยึดค่าจ้างไว้ ซึ่งจะทำให้แรงงานไม่สามารถมีเสรีภาพในการเดินทางกลับบ้าน ซึ่งอัตราค่าจ้างต้องระบุไว้ในสัญญาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้างและแรงงานไว้อย่างชัดเจนและจะต้องจัดทำสำเนาไว้เป็นหลักฐานภายในเรือด้วย นอกจากนั้นหากเกิดกรณีที่แรงงานเจ็บป่วยสวัสดิการในเรื่องรักษาต้องครอบคลุมและชัดเจนด้วย