"โมบาย เลิร์นนิ่ง" เรียนผ่านอุปกรณ์พกพา ความหวังยกระดับการศึกษาชายแดนใต้
ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับครูและสถานศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ตกต่ำอยางน่าใจหาย
เพราะชั่วโมงเรียนในแต่ละวันน้อยกว่าโรงเรียนในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนสายสามัญหรือโรงเรียนของรัฐ เนื่องจากเด็กต้องเข้าเรียนสาย เลิกเรียนเร็ว เพื่อความปลอดภัยของครู อยู่ทำกิจกรรมจนเย็นย่ำค่ำมืดก็ไม่ได้ หนำซ้ำเวลามีครูถูกปองร้าย หรือโรงเรียนถูกเผา หรือมีระเบิดใกล้ๆ โรงเรียน ก็ต้องมีการประกาศปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ 1 วันไปจนถึงนานเป็นสัปดาห์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย
นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังหาทางออกแทบไม่ได้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา...
ทว่าล่าสุด 2 นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยกวับรูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ ที่เรียกว่า โมบาย เลิร์นนิ่ง (Mobile Learning) หรือ เอ็มเลิร์นนิ่ง (mLearning) ซึ่งเป็นการเรียนผ่านเครือข่ายไร้สายบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เช่นที่หลายคนใช้เป็นปกติในชีวิตประจำวันจนแทบจะเป็นปัจจัยที่ 5 อยู่แล้วอย่าง "โทรศัพท์มือถือ" หรือคอมพิวเตอร์แบบพกพา อาทิ แท็บเล็ต
หลักการของงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ ในยุคข้อมูลข่าวสารที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเราในเกือบทุกเรื่อง ทำให้ต้องมีการเรียนรู้เพื่อเท่าทันเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งการเรียนการสอนในโรงเรียนนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม หากมีระบบการจัดการที่ดีและเอื้อต่อการเรียนรู้ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเด็กให้ได้รับประโยชน์สูงสุดได้
และ เอ็มเลิร์นนิ่ง ก็คือรูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่ที่ว่านั้น
ดร.มูฮัสซัล และ ดร.ศริยา บิลแสละ เป็นนักวิชาการจากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ที่สนใจเรื่อง "โมบาย เลิร์นนิ่ง" จึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง "การใช้ โมบาย เลิร์นนิ่ง เพื่อการเรียนรู้ในจังหวัดชายแดนใต้" หรือ Mobile Learning implementation framework in the conflict area of the Four Southernmost Provinces of Thailand ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ "การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" เมื่อไม่นานมานี้ที่ ม.อ.ปัตตานีด้วย
ดร.มูฮัซซัล บอกว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทำให้โรงเรียนต่างๆ ได้รับผลกระทบไปหมด โรงเรียนต้องปิดบ่อยด้วยเกรงความไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่นอกตัวเมือง เด็กมีเวลาเรียนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กในพื้นที่อื่น เด็กมาเรียนบ้างไม่มาเรียนบ้าง และพบว่ามีเด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกอีกจำนวนมาก บางคนจบ ป.6 ยังอ่านหนังสือไม่แตก ผลสอบโอเน็ตก็ต่ำมาก
"ด้วยเหตุนี้เราจึงสนใจว่าจะมีเทคโนโลยีใดมาเติมเต็มให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ได้ แล้วก็พบว่าเครือข่ายไร้สายที่ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ดี" เขาอธิบายถึงแรงบันดาลใจในการทำวิจัยชิ้นนี้
"ยุคปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนเราเกือบทุกย่างก้าว" เขาอธิบายต่อ และว่า "ในต่างประเทศเด็กสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ได้ตลอดเวลา จึงอยากรู้ว่าบ้านเราจะใช้อย่างนั้นได้หรือไม่"
สาเหตุที่ต้องตั้งคำถามก่อนว่าบ้านเราใช้เทคโนโลยี โมบาย เลิร์นนิ่ง ได้หรือไม่ ก็เพราะอาจติดปัญหาเรื่องความพร้อม แน่นอนว่าศักยภาพของเทคโนโลยีนั้นไม่มีใครเถียง แต่ความพร้อมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจริงหรือไม่ หรือมีอุปสรรคปัญหาประการใด
โจทย์ของงานวิจัยจึงถูกตั้งขึ้น ดังนี้ 1.สำรวจสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นว่าส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง 2.ค้นหาข้อจำกัดของการเรียนในห้องเรียน 3.ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ถูกใช้ในพื้นที่อย่างไร 4.ออกแบบและสร้างแนวทาง ตลอดจนกรอบแนวคิดให้ผู้บริหารพิจารณาว่า หากจะใช้อุปกรณ์พกพาต้องมีปัจจัยหรือองค์ประกอบใดบ้าง
นักวิชาการทั้งสองใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2555 ถึง พ.ย.2556 (ระยะเวลาสิ้นสุดการศึกษา) รวมเวลา 18 เดือน ขณะนี้ศึกษามาใกล้จบแล้ว จึงเห็นถึงประโยชน์มากมายของการใช้อุปกรณ์พกพาในการเสริมการเรียนการสอน แต่ขณะเดียวกันก็พบอุปสรรคปัญหาด้วย
"เราค้นพบว่าสามจังหวัดชายแดนใต้ยังห่างไกลมากกับการใช้อุปกรณ์พกพา ขาดครูที่มีประสบการณ์ ขาดระบบการจัดการที่ดี ขาดการฝึกให้ครูเป็นผู้จัดการ ครูมักคิดว่าอุปกรณ์พกพามาแทนครู แต่ความจริงคือเป็นการส่งเสริมไม่ใช่มาทดแทน ใช้แค่ 15 นาที ไม่ได้ใช้เต็มเวลา เกิดความเข้าใจผิด ไม่เข้าใจกระบวนการเรียนการสอน บางโรงเรียนต่อต้านเรื่องนี้เพราะเข้าใจผิด ทั้งที่ในความจริงเป็นเครื่องมือที่เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ก้าวไปข้างหน้า เทคโนโลยีวิ่งชนเราทุกวัน"
"นอกจากนั้นยังขาดกิจกรรมและเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของเด็ก ไม่มีคลังความรู้ที่ดี ความสามารถในการใช้ภาษาที่ดีของเด็กมีค่อนข้างต่ำ การออกแบบไม่เหมาะสม ผู้ปกครองขาดทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่มีการออกแบบหลักสูตรที่จะใช้กับครูในเรื่องโมบาย เลิร์นนิ่ง มีแต่คู่มือแต่ไม่มีรายละเอียดบอกครู ขาดการประเมินเนื้อหาการสอน ครูผู้สอนและผู้เรียนขาดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการใช้อุปกรณ์กับเครือข่ายไร้สาย หรือมีแต่ไม่เหมาะสม รวมทั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ"
ทั้งหมดนั้นคือปัญหาหรือข้อติดขัด ซึ่ง ดร.มูฮัซซัล บอกว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเฟสแรกของการทำวิจัย ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มากหากผู้บริหารได้อ่านแล้วนำไปใช้จริง ทั้งการนำไปปฏิบัติทันทีหรือต่อยอด
ขณะที่ ดร.ศริยา กล่าวเสริมว่า หากรัฐต้องการนำแนวคิดนี้ไปใช้ ต้องจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมทั้งน้ำหนัก ขนาดซีพียู แบตเตอรี่ ส่วนเนื้อหาต้องดีพอ ค้นหาง่าย ใช้ง่าย เหมาะกับวัยของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กอ่าน และ ฝึกเด็กได้ ซึ่งต้องดูภูมิหลังของเด็กและครอบครัวด้วย เช่น เด็กมุสลิมก็ต้องให้เนื้อหาที่ตรงกับความเชื่อ ไม่ขัดกัน และส่งเสริมในสิ่งที่ถูกต้อง ความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ครู และรัฐ ต้องเกิดขึ้นจริง
"สิ่งสำคัญคือต้องมีเครือข่ายไร้สาย คุณลักษณะต้องรองรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา มีความเสถียร มีการจัดการที่ดีและเหมาะสม ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ทุกคนรู้สึกว่าสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา"
ดร.ศริยา บอกด้วยว่า การศึกษาในขั้นต่อไปจะเป็นการทดลองสร้างกระบวนการร่วมกับครู โดยบูรณาการเทคโนโลยีเข้าไปในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"จะนำร่องทำในสามจังหวัด จังหวัดละ 2 โรงเรียน ในชั้น ป.3 กับ ป.5 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยพิจารณาจากโรงเรียนที่พร้อม ผู้บริหารพร้อมก้าวไปกับเรา ครูที่คัดเลือกมาต้องพร้อมก้าวไปด้วยเช่นกัน แต่จะเลือกโรงเรียนที่ขาดโอกาสก่อน เป้าหมายอยู่ที่ตัวเด็กไม่ใช่ครู จะทำให้เป็นโมเดลที่ทำได้จริง แล้วจะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามที่คาดหวัง"
นับเป็นอีกหนึ่งความหวังของการยกระดับการศึกษาที่ชายแดนใต้!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 เด็กๆ ชายแดนใต้กับ โมบาย เลิร์นนิ่ง
3 เอกสารประกอบการบรรยายบนเวทีนำเสนองานวิจัย
4 สองนักวิจัย