ชำแหละคอนเนกชั่น“ 250 สปช.” ล้วงชื่อ"แคนดิเดต"ชิงตำแหน่งเก้าอี้ "ปธ."
"..จากรายชื่อสปช.ใหม่ ที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่าบรรดา “สปช.” ส่วนใหญ่จะมาจากคนที่ “คสช.” ไว้วางใจเกือบทั้งหมด โดยจะอยู่ในกลุ่มของอดีตส.ว.-กลุ่ม 40 ส.ว.-กลุ่มขึ้นเวทีกปปส.-เครือญาติคสช. และโควต้ามูลนิธิป่ารอยต่อ.."
ในที่สุดชื่อของ 250 อรหันต์ ที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เลือกสรรให้มาดำรงตำแหน่ง “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) เพื่อขับเคลื่อนกลไกปฏิรูปประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไป ก็ถูกประกาศออกมาให้เห็นหน้าค่าตากันไปแล้ว
บางกระแสยอมรับการคัดเลือกจาก “คสช.” ที่พยายามเปิดกว้างที่สุดแล้ว ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเลือกคนที่ไว้วางใจได้มากเข้ามาทำงานใหญ่
แต่หลายกระแสค่อนข้างวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงว่า “คสช.” เลือกแต่พวกพ้องของคนใกล้ชิดบริวารตัวเองมาสานต่องาน “ปฏิรูปประเทศ” โอกาสที่งานใหญ่จะสำเร็จลุล่วงขจัดความขัดแย้งในประเทศไทยจึงมีน้อย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวมรายชื่อของ “สปช.” ที่ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องคอนเนคชั่นกับ “คสช.” และอีกหลายคนที่มีทัศนคติยืนคนล่ะฝั่งกับ “ขั้วตรงข้าม” โดยสิ้นเชิง มานำเสนอดังนี้
-บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นที่ยอมรับในวงการกฎหมาย ลูกศิษย์ก้นกรุอีกคนหนึ่งของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” คณะกรรมการคสช. มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2539 และปี 2549
ในช่วงการชุมนุมของ กปปส. “บวรศักดิ์” ถูก “แกนนำคนเสื้อแดง” โจมตีอย่างหนัก หลังออกมาพูดเรื่องการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการเปิดทางให้รัฐประหาร
และหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ชื่อของ “บวรศักดิ์” ปรากฏอยู่ใน “คณะทำงานคสช.” ด้านกฎหมาย มีส่วนสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ทันทีเช่นกัน
-ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ ในปี พ.ศ. 2531 โดยเรียกร้องให้มีการจัดร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้
และในปี2549 เคยร่วมกับ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (พธม.) ขับไล่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถมร่วมลงนามทูลเกล้าฯถวายฏีกาเพื่อขอนายกฯพระราชทานมาแล้วด้วย
-ชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา ภายหลังที่ “เนวิน ชิดชอบ” นำส.ส.อีสานใต้ในนาม “กลุ่มเพื่อนเนวิน” เดินออกจากพรรคพลังประชาชน พลิกขั้วร่วมจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงปลายปี 2552 ชื่อของ “ชัย” ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาทันที
ด้วยสายใยของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ยังทอดไปถึง “พรรคภูมิใจไทย” ของ “เนวิน” ชื่อของ “ชัย” จึงถูกชงเข้ามาเป็นสปช. และหากไม่ผิดคิว “ชัย” อาจจะได้รับเลือกมีตำแหน่งในสภาสปช.แน่นอน
เพราะแม้จะอายุ 86 ปี แต่ด้วยความเก๋าเกม “สภา” สามารถควบคุมการประชุมให้ลุล่วงได้สบาย
- พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ก่อนการเลือกตั้งปี 2554 “บิ๊กเยิ้ม” ได้รับมอบหมายจาก “กองทัพบก” ให้ดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคอีสาน และได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ปิดประตูภาคอีสาน ห้ามทักษิณเข้า” มาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานได้ ก่อนที่ “พรรคเพื่อไทย” จะโกยคะแนนเสียงในภาคอีสานไปแบบสบายมือ
ก่อนที่ “บิ๊กเยิ้ม” จะตัดสินใจลงเวทีการเมือง ในสังกัดพรรคชาติพัฒนา ตามเทียบเชิญของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ลงสู้ศึกเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชวดเก้าอี้ “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ก่อนจะมาสมหวังในเก้าอี้ สปช.
- เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ที่สรุปว่า “คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพล้มรัฐบาล” เคยทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยสนิทสนมกับ “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” เป็นอย่างดี และเมื่อ “พล.ต.สนั่น” เดินออกจากปชป. ได้ชักชวน “เอนก” มาร่วมจัดตั้งพรรคมหาชน
และได้รับเสนอให้เป็นหัวหน้าพรรคมหาชน สู้ศึกเลือกตั้ง 2548 แต่โดน “พ.ต.ท.ทักษิณ” ปรามาสว่า “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” ซึ่งสามารถนำส.ส.เข้าสภาได้เพียง 2 คน จากเป้าหมาย 20 ก่อนตัดสินใจลาออก
- ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งยืนอยู่คนละขั้วกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างชัดเจน และเป็น “ไพบูลย์” ที่หาช่องนำคดีที่ “ยิ่งลักษณ์” โยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาธิการสมช.ไม่เป็นธรรม ร้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ทำให้ “ยิ่งลักษณ์” พ้นสภาพนายกรัฐมนตรีรักษาการ นำมาสู่การยึดอำนาจของ “กองทัพ” ในเวลาต่อมา
-พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ และนายทหารคนสนิทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามเพื่อขจัดระบอบทักษิณ และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 รุ่นเดียวกับ “พล.อ.ประยุทธ์”
- คำนูณ สิทธิสมาน อดีตส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. มีบทบาทเป็นสนช.ในปี 2549 และเป็นสื่อมวลชนที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” มาโดยตลอด
- สมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยได้รับการแต้งตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหมวดที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง
ล่าสุดมีบทบาทอย่างสูงในฐานะกุนซือข้างกาย "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการกปปส.
- เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดัง เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาปี 2543-2549 และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2539 และ 2550 ร่วมกับกลุ่มพธม.และมีบทบาทสำคัญในการขับไล่ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเคยขึ้นเวทีกลุ่ม “กปปส.” ขับไล่ “ยิ่งลักษณ์” มาด้วย
- เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นักกวี รางวัลซีไรต์จากกวีนิพนธ์รวมเล่มเรื่องเพียงความเคลื่อนไหว และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ สาขาย่อยกวีนิพนธ์ มีบทบาททางการเมืองเคยขึ้นเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยและกลุ่มกปปส.
- จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท บุญรอด บิวเวอร์รี่ บิดาของ “น้องตั๊น” จิตร์ภัสท์ กฤษดากร อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แนวร่วมกปปส. ซึ่งในช่วงการชุมนุมของกปปส. “สันติ ภิรมย์ภักดี” ประธานกรรมการ บริษัท บุญรอด บิวเวอร์รี่ ได้ทำหนังสือถึง “จุตินันท์” เตือนไม่ให้ “น้องตั๊น” เคลื่อนไหวในนามกปปส. เพราะเกรงจะกระทบต่อธุรกิจ แต่ “จุตินันท์” ไฟเขียวให้ “น้องตั๊น” เคลื่อนไหวต่อ โดยยอมเปลี่ยนนามสกุล
- ดุสิต เครืองาม อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น้องชายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นวิศวกรเชี่ยวชาญเรื่องโซลาเซลล์ ไม่ปรากฏชื่อในแวดวงการเมืองหรือแวดวงการปฏิรูป ชื่อที่โผล่ออกมา จึงถูกจับตามองว่าได้ได้ดีเพราะ “พี่” อย่างแน่นอน
- พงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยโดน "พ.ต.ท.ทักษิณ" ย้ายออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จนเป็นเหตุให้ฟ้องร้องกันหลายยก ระยะหลังออกมาโจมตีการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างหนัก และเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีกปปส.ด้วย จนโดนโจมตีอย่างหนักจาก “คนเสื้อแดง” และถูกระบุว่าได้ชักชวน “พลากร สุวรรณรัฐ” องคมนตรี พูดคุยกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการกปปส. ในช่วงการชุมนุมด้วย
- สมชัย ฤชุพันธุ์ น้องชายของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” สมาชิกคสช. ไม่ต้องสืบกันให้ยากว่ามาจากสายไหน เพราะเห็นนามสกุลก็ต้องรู้แล้วว่ามาจากสายตรง
ทั้งนี้ จากรายชื่อสปช.ใหม่ ที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่าบรรดา “สปช.” ส่วนใหญ่จะมาจากคนที่ “คสช.” ไว้วางใจเกือบทั้งหมด โดยจะอยู่ในกลุ่มของอดีตส.ว.-กลุ่ม 40 ส.ว.-กลุ่มขึ้นเวทีกปปส.-เครือญาติคสช. และโควต้ามูลนิธิป่ารอยต่อ
ส่วนคนที่เคยอยู่ขั้วตรงข้ามมีแถบจะนับตัวได้ 1.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเคยถูกเชื่อมโยงว่าจะช่วยให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ” กลับประเทศไทยหลายครั้ง และยิ่งชัดเจนเมื่อปรากฏคลิปถั่งเช่า
2.พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหลานของ “ขวัญแก้ว วัชโรทัย” เลขาธิการสำนักพระราชวัง เคยทำงานการเมืองกับพรรคความหวังใหม่ ทำให้มีความสนิทสนมกับ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ”
3.บัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทีมทนายความคดีรับจำนำข้าวของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แต่ก็เคยเป็นทนายความให้กับ "พล.ต.อ.พัชรวาม วงษ์สุวรรณ" สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร ด้วยเช่นกัน
4.บุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในระยะหลังเข้าร่วมกิจกรรมกับ “คนเสื้อแดง” หลายครั้ง
5. ดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว.นนทบุรี ซึ่งแกนนำส.ว.สายเลือกตั้ง ซึ่งในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มักจะให้การสนับสนุนกฏหมายที่เสนอจากฝั่งรัฐบาล เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.
ซึ่งดูตามเนื้อผ้าแล้ว เสียงของสัดส่วน “สปช.” ในสายขั้วตรงข้าม-ขั้วเคยตรงข้าม มีน้อยมาก จนสามารถแยกแยะจำนวนออกมาได้ ผิดกับ “สปช.” ขั้วเดียวกับคู่ปรับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” แล้วต่างกันลิบลับ
ส่วนสูตรการคัดเลือก “ประธานสปช.” เริ่มมีออกมาให้เห็นกันแล้ว โดยตัวเต็งคงหนีไม่พ้นชื่อของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” แต่ทว่าใจจริงของ “บวรศักดิ์” แล้ว อยากที่จะนั่งในตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” เสียมากกว่า ดังนั้นหากนั่งตำแหน่ง “ประธานสปช.” เกรงว่าจะไม่มีเวลา
ล่าสุดจึงมีสูตรให้ “เทียนฉาย กีระนันทน์” รองประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขึ้นเป็น “ประธานสปช.” ซึ่งสูตรนี้ "บวรศักดิ์" ออกแรงสนับสนุนด้วยตัวเอง
ส่วนอีกสูตร "คำนูญ สิทธิสมาน" อดีตแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. พยายามผลักดัน "ชัยอนันต์ สมุทรวานิช" ขึ้นเป็น "ประธานสปช." ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มอดีตส.ว. เป็นอย่างดี
หนทางการ “ปฏิรูปประเทศไทย” จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะแค่รายชื่อที่ออกมาแสงสว่างปลายอุโมงค์ ก็เริ่มมีคนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ จำนวนมากแล้ว