รู้จักสมาชิก สปช.ชายแดนใต้ อดีตประธานสาขา ปชป.ยะลาเข้าวินด้วย
หลังการประกาศรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คนอย่างเป็นทางการ ก็มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา แต่ประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือ สปช.จากชายแดนใต้เป็นใครกันบ้าง
แม้ที่ผ่านมามีเสียงบ่นจากในพื้นที่ปลายด้ามขวานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้ให้น้ำหนักปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาพิเศษที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างการจัดการกันขนานใหญ่ ทั้งยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากในพื้นที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.จำนวน 11 ด้านค่อนข้างน้อย ทว่าถึงที่สุดแล้วก็มีตัวแทน สปช.จากชายแดนใต้เข้าไปร่วมออกแบบปฏิรูปประเทศไทยด้วยจำนวนหนึ่ง
แน่นอนว่าตัวแทนหลักๆ มาจากผู้สมัครระดับจังหวัดที่ คสช.เลือกมาจังหวัดละ 1 คน ฉะนั้นย่อมมีตัวแทนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 3 คนอยู่แล้ว ทว่าในความเป็นจริงมีมากกว่านั้น ถึงจะเพียงน้อยนิดก็ตาม
เริ่มจากตัวแทนจังหวัดมี 3 คน ประกอบด้วย
1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิฟาริด ระเด่นอาหมัด สปช.จาก จ.ปัตตานี เขามีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดย ผศ.นิฟาริด เป็นอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ ขณะที่ตระกูลระเด่นอาหมัด ก็เป็นตระกูลเก่าแก่ของปัตตานี สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน บางส่วนรับราชการเป็นข้าราชการระดับสูงของพื้นที่
2.นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง สปช.จาก จ.นราธิวาส เขาเป็นข้าราชการบำนาญสายมหาดไทย เป็นอดีตนายอำเภอบาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นอดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขของจังหวัด เคยทำหน้าที่ผู้พิพากษาสมทบประจำศาลจังหวัดนราธิวาส และปัจจุบันยังเป็นรองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดนราธิวาสด้วย
3.นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์ สปช.จาก จ.ยะลา เขาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของจังหวัด เป็นอดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) 2 สมัย และยังเป็นอดีตประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เขต อ.เมืองยะลาด้วย โดยครอบครัวของนายดุสิตมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากตัวแทนจังหวัดแล้ว ยังมี สปช.จากชายแดนใต้ในสายที่ได้รับการเสนอชื่อโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร 11 ด้านด้วย คือ นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี โดยเธอเป็นนักการเมืองท้องถิ่นตัวยงของพื้นที่คนหนึ่ง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งหลายสนามใน จ.ยะลา แต่สอบตก ทั้งยังเคยสมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงเคยลงสมัคร ส.ส.ยะลา สังกัดพรรคชาติพัฒนาด้วย
อย่างไรก็ดี นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มีชื่อเป็นว่าที่ สปช.ด้านสังคม ในเอกสารว่าที่ สปช.จาก 11 ด้าน จำนวน 173 คนที่หลุดออกมาทางสื่อสารมวลชนเมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา จึงถือว่าเธอเป็นตัวเต็ง สปช.คนหนึ่ง และก็ไม่พลาดเมื่อถึงคราวประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ
นอกจาก สปช.ซึ่งเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกิจการมุสลิมอีกอย่างน้อย 2 คน คือ
1.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) เขามีบทบาทสำคัญในการสร้างช่องทางการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ที่นอกเหนือจากช่องทางระดับรัฐบาล โดยภาษาที่นักสร้างสันติภาพชอบใช้ เรียกว่าการพูดคุยแทร็ค 2 หรือแทร็ค 3
นอกจากนี้ พล.อ.เอกชัย ยังมีบทบาทในการเสนอโรดแมพพูดคุยสันติภาพเมื่อครั้งมีการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นในช่วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ในหลากหลายมิติ ผ่านนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข หรือ 4ส. ของสถาบันพระปกเกล้าด้วย
2.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างสูงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยความรู้ความสามารถของเขาสอดรับกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ด้วยการสร้างเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลของภูมิภาค
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด สปช.จาก จ.ปัตตานี
ขอบคุณ : ภาพต้นฉบับจากธนาคารภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ http://pr.pn.psu.ac.th/picturebank/boss/boss.html
หมายเหตุ : ภาพถูก crop และตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา