องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กับการป้องกันคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การจัดซื้อจัดจ้างกับการพัฒนา
เป็นที่เข้าใจดีว่าเพื่อให้เกิดการพัฒนา ประเทศจำเป็นต้องมีการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณสุข ระบบขนส่ง การศึกษา ฯ แต่เงินภาษีของประชาชนที่นำไปลงทุนนั้น ต้องถูกใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของในการพัฒนาที่เกิดขึ้น กล่าวคือ
1.เงินที่ใช้ไปต้องเกิดประโยชน์คุ้มค่า (Value of Money)
2.ลดการบริหารจัดการที่ผิดพลาด (Mismanagement) เช่น การเลือกโครงการที่ไม่เหมาะสม การวางแผนบริหารผิดพลาด คัดเลือกที่ปรึกษา-ผู้รับเหมา การกำหนดวงเงินลงทุน การตรวจสอบคุณภาพ ความล่าช้า การรับประกันคุณภาพ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน เป็นต้น
3.ต้องไม่มีการรั่วไหล (Corruption) และการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง
พัฒนาการของการโกง
คอร์รัปชันทำให้เกิดการตัดสินใจผิดๆ และเป็นตัวบั่นทอนประสิทธิภาพในการลงทุน ขณะที่กฎ ระเบียบที่มีเพื่อป้องกันคอร์รัปชัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันตรวจสอบ มักไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมการโกง และยิ่งหนักขึ้นไปอีกเมื่อเจ้าหน้าที่กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับขบวนการโกงเข้าไปด้วย
ตัวอย่างพัฒนาการของพฤติกรรมที่คอร์รัปชัน
1.ทุกวันนี้นักการเมืองใหญ่ ไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ผันตัวไปเป็นรัฐมนโท แล้วเรียกรัฐมนตรีใต้สังกัดและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปนั่งประชุมสั่งการที่บ้าน ด้วยวิธีการนี้ทำให้ตัวเขาไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่อยู่ใต้กฏหมายของ ป.ป.ช. ไม่ต้องกลัวถูกสั่งพักทางการเมือง 5 ปี
2.มีการสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ในแนวกว้าง คือ ระดับรัฐมนตรี ระดับ สส. หรือเครือข่ายข้ามหน่วยงาน เช่น กรมต่างๆ กับคนในสำนักงบประมาณ เป็นต้น และแนวลึก คือ ระดับ อบจ. เทศบาล อบต. และหัวคะแนน รวมทั้งเครือข่ายข้ามจังหวัด เป็นต้น
3.เปลี่ยนวิธีการโกงเป็นคอร์รัปชันเชิงนโยบาย คอร์รัปชันเชิงระบบและคอร์รัปชันตามระบบ ทำให้คนสับสนว่าเป็นการโกงหรือไม่ เช่น โครงการรับจำนำข้าวและโครงการประชานิยมจำนวนมาก
4.ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ชวนตั้งข้อสังเกตคือ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 กระทรวงอุตสาหกรรม ปล่อยให้ตำแหน่งข้าราชการ ซี 9 ขึ้น 10 ว่างประมาณ 40 ตำแหน่ง เพื่ออะไร มีคนตั้งคำถามว่า เพื่อให้เกิดการซื้อขายตำแหน่ง หรือเพื่อให้เกิดช่องว่างของอำนาจในการลงนามอนุมัติเรื่องสำคัญๆ เช่น ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ใบ รง. 4 จนทำให้อำนาจกลับไปอยู่ในมือระดับสูงแล้วมีการเรียกรับผลประโยชน์กัน ใช่หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในปีที่ผ่านมามีการรวบรวมเงินงบประมาณที่เป็นส่วนต่างระหว่างอัตราเงินเดือน ซี 9 และ ซี 10 ที่ไม่ยอมแต่งตั้งใครนี้ ได้เงินประมาณ 140 ล้านบาท แล้วโอนไปเป็นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์แทน
ความอ่อนแอของกระบวนการป้องกันตรวจสอบภาครัฐ
หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันมีหลายหน่วยงาน เช่น ป.ป.ช. สตง. ปปท. ปปง. เป็นต้น แต่ทั้งหมดยังมีข้อจำกัดและข้อด้อยอยู่มาก จึงทำให้การปราบปรามคอร์รัปชันล้าหลังอยู่เช่นทุกวันนี้น่าจะเป็นเพราะ
1.มีปริมาณงานและจำนวนข้อมูลจำนวนมากส่งมาที่หน่วยงานเพื่อรอการตรวจสอบ อันเป็นผลมาจากมาตรการที่กำหนดให้หน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมืองและเอกชนที่ทำสัญญากับรัฐต้องรายงานเข้ามา เช่น การยื่นบัญชีทรัพย์สิน เป็นต้น
2.การใช้ประโยชน์ในระบบสารสนเทศที่รัฐลงทุนไปมูลค่าหลายพันล้านบาท ยังมีข้อจำกัดอยู่มากและขาดความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. ข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เช่น งบประมาณ บุคลากร การแทรกแซงกดดันจากผู้มีอำนาจ รวมถึงคุณภาพของผู้นำและบุคลากรในหน่วยงาน
4.ความอ่อนแอของกฏหมายและการบังคับใช้
ที่กล่าวมาคือตัวอย่างความอ่อนแอของกระบวนการป้องกันตรวจสอบ ที่ต้องรับมือกับคอร์รัปชันที่สามารถพัฒนาพฤติกรรมเพื่อเอาชนะการตรวจจับตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการระบุว่า คอร์รัปชันที่ถูกเปิดโปงและถูกจับได้ทุกวันนี้มีเพียงประมาณร้อยละ 5 ของที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น
การตรวจสอบโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
เป็นที่ยอมรับในนานาประเทศว่าการป้องกันคอร์รัปชันที่ได้ผลคุ้มค่าและยั่งยืน คือการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบและเสนอแนะ ดังนั้นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ และภาคี จึงได้ร่วมกันนำเสนอกลไกเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ผ่านการใช้งานอย่างได้ผลในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยยึดหลัก “ความโปร่งใส” ในการดำเนินโครงการเป็นเครื่องมือสำคัญ ดังนี้
1.ข้อตกลงด้านคุณธรรม (Integrity Pact) คือ การตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและผู้ต้องการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนต่างๆของรัฐ ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการเรียกรับเงินสินบนหรือประโยชน์อื่นใด รวมทั้งจะต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการที่สำคัญในทุกกระบวน การให้โปร่งใส โดยยอมรับให้มีบุคคลที่สามที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ (Observer) ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มเขียนทีโออาร์ จนสิ้นสุดโครงการ โครงการนี้ริเริ่มโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
2.การประเมินความเสี่ยงในการเกิดคอร์รัปชันและการบริหารความเสี่ยง (Corruption Risk Assessment) เป็นโครงการที่ใช้แนวคิดเดียวกับการลงทุนทางธุรกิจที่ต้องมีการศึกษาความเสี่ยงเพื่อวางแผนบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นก่อนการลงทุน เพื่อป้องกันการสูญเสียใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยการทำการประเมินร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญอิสระ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก UNDP และมีสำนักงาน กพร. เป็นผู้ร่วมผลักดัน
3.โครงการ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย World Bank สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยมีแบบแผนของการเปิดเผยข้อมูลที่กระชับเข้าใจง่ายเป็นประโยชน์และครอบคลุม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมคิดร่วมตรวจสอบของภาคประชาชนอย่างโปร่ง ใส ปัจจุบันโครงการนี้มี สคร. เป็นหน่วยงานที่เข้ามาให้การสนับสนุนตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โครงการทั้งสามนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯและภาคีได้จัดให้การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาค เอกชนและหลายหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรสากลผู้ริเริ่มโครงการมาทำการ ศึกษาพฤติกรรมและรูปแบบที่เหมาะสมในประเทศไทยแล้วเช่นกัน กลไกเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่สนับ สนุนให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ มีการกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล การทำงานร่วมกัน การออกความเห็น การตอบสนองต่อข้อคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติหากเกิดข้อขัดแย้ง ซึ่งต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมกับข้อจำกัดทางกฎหมายและการเมืองไทย แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการกำหนดให้เป็นมาตรการตามกฎหมายขั้นสูง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการยกเว้นหรือเลือกปฏิบัติได้ตามความต้องการหรือนโยบายของบุคคลผู้มีอำนาจในรัฐบาลตามยุคตามกระแส
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
ผู้อำนวยการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
14 กันยายน 2557