คปก. เสนอสนช.เร่งรัดเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์
คปก. เสนอแนะนายกรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติฯ ให้เร่งรัดเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... โดย คปก.ได้จัดทำร่างเสนอไปด้วย เพื่อแก้ไขเยียวยาผู้เสียหายให้รวดเร็ว เป็นธรรม โดยไม่ต้องหาคนรับผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามหนังสือเสนอถึงนายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ “บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่องแนวทางการตรากฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พร้อมจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... เสนอไปพร้อม” เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เชื่อมั่นว่า ในภาวะการณ์ปัจจุบันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น และเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เสียหายกับผู้ให้บริการสาธารณสุข เพิ่มขึ้น ร่างกฎหมายฉบับที่ คปก.จัดทำขึ้นนี้ จะเกิดกองทุนที่ชดเชยให้ผู้เสียหายได้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เพื่อลดการฟ้องร้องระหว่างบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วย สร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และพัฒนาระบบป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับ คปก.คือการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันที่ความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างเป็นระบบให้ทันท่วงที ทำให้มีการฟ้องร้องผู้ให้บริการสาธารณสุขทั้งทางแพ่งและทางอาญา และทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการสาธารณสุขเปลี่ยนไปจากเดิมอันส่งผลกระทบต่อผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข ตลอดจนกระทบถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงระบบบริการสาธารณสุขด้วย สมควรจะได้แก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขได้รับการเยียวยาแก้ไขโดยรวดเร็วและเป็นธรรม โดยจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่จะเกิดจากบริการสาธารณสุขให้น้อยที่สุด อีกทั้งให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการบรรเทาโทษหรือไม่ลงโทษผู้ให้บริการสาธารณสุขในกรณีที่ถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาการกระทำโดยประมาทด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
กลไกที่สำคัญในร่างกฎหมายนี้มีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้เสียหายฯ คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชย ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด ขอบเขตความคุ้มครองของสถานพยาบาล ครอบคลุมถึงกรณีเจ็บป่วยแล้วเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ไม่อยู่ในประกันสังคม กรณีข้าราชการรับการรักษาจากโรงพยาบาลเอกชนแล้วได้รับความเสียหาย และโรงพยาบาลอื่นในเครือข่ายประกันสังคมด้วย รวมถึงเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชน ที่แสดงความจำนงจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามหลักเกณฑ์ ฯที่กำหนด ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับการเยี่ยวยาอย่างเป็นระบบ โดยรวดเร็วและเป็นธรรม มีการพัฒนาระบบความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่เกิดจากการบริการสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตระหนักดีว่า ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้เกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับหนังสือจากนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมเครือข่ายประมาณ 20 คน ซึ่งได้เสนอรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ผ่านเว็บไซต์ เชนจ์ (www.change.org)จำนวน 20,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิ์ และสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... อยู่ในแผนพัฒนากฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยได้ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับนี้ด้วย เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมคณะทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะนำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... มาหารือด้วย หากได้ข้อสรุปในการดำเนินการ จะแจ้งให้ทราบความคืบหน้าต่อไป ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ กล่าว