สำรวจเทรนด์เสื้อผ้ามุสลิมะฮ์รับรายอปอซอ
ใกล้วันรายอปอซอแล้ว (ฮารีรายออีดิ้ลฟิตรี) อีกไม่กี่วันมุสลิมทั้งหลายจะได้ร่วมกันฉลองหลังจากถือศีลอดกันมาครบหนึ่งเดือน ทุกปีก่อนจะถึงวันรายอปอซอ มุสลิมทั้งหญิงชายจะออกมาจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าใหม่สีสันสดใสพร้อมเครื่องประดับเพื่อเตรียมไว้รอรับสวมใส่กันในวันรายอ
บรรยากาศการจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าแพรพรรณในตัวเมืองปัตตานีเป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งในตลาดและร้านรวงต่างๆ ลูกค้าแน่นแทบทุกร้านโดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์สุดท้ายก่อนรายอ
ตลาดนัดเทศบาลเมืองปัตตานีเป็นตลาดใหญ่ที่เป็นศูนย์รวมของร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ซึ่งเปิดขายทุกวันจันทร์ พฤหัสบดี และเสาร์ มีสินค้ามากมายให้เลือกซื้อกันตามใจชอบ อีกตลาดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ “ตลาดเปิดท้าย” แหล่งชอปปิ้งใจกลางเมืองปัตตานีที่ขายกันทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีลูกค้ามาเลือกซื้อหาเสื้อผ้าและเครื่องประดับกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะ “เสื้อโต๊บ” หรือเสื้อสำหรับชายมุสลิม, ชุดละหมาด, หมวกกะปิเยาะห์, ผ้าโสร่งหญิง-ชาย, ฮิญาบ (ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม), รองเท้า และกระเป๋า ลูกค้ามีทั้งในพื้นที่ปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง
ปีนี้เทรนด์เสื้อผ้าของมุสลิมะฮ์ (หญิงมุสลิม) เป็นแบบเรียบหรู ดูดี ลวดลายน้อย ส่วนมากเป็นผ้าบางพลิ้ว แต่ราคามักไม่พลิ้วตาม เพราะแต่ละชุดตัวเลขอยู่ที่หลักพัน แต่ก็ยังมีสาวๆ ทั้งสาวน้อยสาวใหญ่ให้ความสนใจเลือกซื้อหาไปสวมใส่กันไม่น้อย
ส่วนเสื้อผ้าของมุสลิมีน (ผู้ชายมุสลิม) ไม่ค่อยมีแบบหลากหลายมากนัก ส่วนใหญ่เป็นชุดโต๊บที่ยาวเกือบถึงตาตุ่ม มีให้เลือกทั้งสีขาว ดำ เทา น้ำตาล
นอกจากการเลือกซื้อชุดใหม่แบบสำเร็จรูปแล้ว การตัดชุดด้วยผ้าที่เลือกหามาเองก็เป็นที่นิยมของมุสลิมะฮ์เช่นเดียวกัน ทำให้ร้านตัดเย็บเสื้อผ้ามีงานเข้าและรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ เพราะมุสลิมะฮ์นำผ้ามาให้ช่างออกแบบเป็นชุดกุรง ชุดบานง ชุดปากี ชุดอาบายะห์ และชุดสไตล์อินเดียกันตั้งแต่ต้นเดือนกันเลยทีเดียว
แอเสาะ ต่วนกะจิ เจ้าของร้านจำหน่ายเสื้อผ้าชุดรายอและเครื่องประดับในตลาดนัดเทศบาลเมืองปัตตานี เล่าว่า ปีนี้ลูกค้าออกมาเลือกซื้อของกันเร็วกว่าปีก่อน ขายดีมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะสิบวันสุดท้ายขายดีทุกอย่าง อาจจะเป็นเพราะยางพาราราคาดี ทำให้ทุกบ้านมีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายมากขึ้น
แอเสาะ บอกว่า สินค้าในร้านของเธอส่วนใหญ่รับมาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยสินค้าที่ขายดีจะเป็นเสื้อโต๊บ ฮิญาบ ชุดมุสลิมะฮ์ หมวกกะปิเยาะห์ตามลำดับ สำหรับราคาสินค้าทุกชนิดปรับขึ้นหมดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะค่าแรงและสินค้าทุกอย่างขึ้นราคา
แบลี แวอาโก๊ะ เจ้าของร้านขายโสร่งและผ้าปาเต๊ะในย่านเดียวกัน บอกว่า คนออกมาซื้อสินค้ากันมากช่วงเสาร์อาทิตย์ก่อนรายอ ของในร้านขายดีทุกอย่างทั้งที่ราคาขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ลูกค้าก็เข้าใจและไม่ต่อรองมากนัก รายได้ช่วงนี้ถือว่าดีกว่าช่วงปกติมาก
นอกเหนือจากการตระเตรียมเสื้อผ้าใหม่ ยังมีการจับจ่ายจำพวกอาหารสดเอาไว้สำหรับปรุงอาหารเลี้ยงญาติพี่น้องที่จะออกเยี่ยมเยียนกันช่วงเทศกาลฮารีรายอด้วย
โดยอาหารสดที่ต้องเตรียมกันทุกบ้านก็คือ “เนื้อวัว” ซึ่งจะมีการชำแหละขายทั้งตามตลาดสดระดับจังหวัด อำเภอ กระทั่งถึงหมู่บ้าน
เมื่อความต้องการมาก ทำให้วัวในพื้นที่ไม่เพียงพอ พ่อค้าจึงต้องสั่งวัวมาจากจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะภาคกลาง ซึ่งในปีนี้ความต้องบริโภคเนื้อวัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ปัจจุบันเฉพาะการชำแหละขายในเขตเทศบาลนครยะลาในเดือนรอมฎอน มีการชำแหละวันละไม่ต่ำกว่า 20–25 ตัว ต่างจากในเดือนปกติซึ่งชำแหละวันละประมาณ 15-20 ตัว
รอกีเย๊าะ สาและ หรือ “ก๊ะเย๊าะ” แม่ค้าขายเนื้อวัวในตลาดเมืองใหม่ เทศบาลนครยะลา บอกว่า เดือนรอมฎอนปีนี้ความต้องการเนื้อวัวของลูกค้ามีมากขึ้น โดยในช่วงปกติจะชำแหละเนื้อขายวันละ 1 ตัว แต่เดือนรอมฎอนโดยเฉพาะใกล้ๆ วันรายอ จะชำแหละขายวันละ 2-3 ตัว สำหรับราคาเนื้อวัวคุณภาพดี เนื้อสันในอยู่ที่กิโลกรัมละ 180 บาท เนื้อส่วนธรรมดาอยู่ที่กิโลกรัมละ 170 บาท เนื้อซี่โครงอยู่ที่กิโลกรัมละ 160 บาท
ใกล้รายอแบบนี้...ใครผ่านไปแถวตลาด ทั้งตลาดนัดและตลาดสดในพื้นที่ชายแดนใต้คงต้องทำใจ เพราะรถรามากมายเป็นพิเศษ เนื่องจากใครๆ ก็เตรียมจับจ่ายสำหรับเฉลิมฉลองรายอปอซอ...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตั้งแต่หัวจรดเท้าที่วางขายรับเทศกาลฮารีรายอ (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)