วันไหนรายอฮัจญี?...ปีนี้ยังสับสน
บรรยากาศที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้กำลังเต็มไปด้วยความสับสนว่า "วันรายอฮัจญี" หรือ "วันตรุษอีฎิ้่ลอัดฮา" ซึ่งเป็นวันที่มุสลิมทั่วโลกจะร่วมกันเฉลิมฉลองการเชือดสัตว์พลีทาน หรือ "กุรบาน" และตรงกับวันที่มุสลิมอีกจำนวนนับล้านคนไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียนั้น เป็นวันไหนกันแน่
เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า สภาตุลาการซาอุดิอาระเบียประกาศกำหนดวันที่ 1 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือนที่มีการประกอบพิธีฮัจญ์) ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.ย.57 ให้วันอาเราะฟะฮ์ ตรงกับวันศุกร์ที่ 3 ต.ค.57 และวันอีฎิ้ลอัดฮา ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 ต.ค 57 ซึ่งมุสลิมทั่วโลกต้องยึดตามประกาศนี้
ทว่าสำนักจุฬาราชมนตรีกลับออกประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง กำหนดวันอีฎิ้ลอัดฮา ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1435 ความว่า จุฬาราชมนตรีได้มีบัญชาให้ประกาศกำหนดวันอีฎิ้ลอัดฮา ประจำปี ฮ.ศ.1435 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 ต.ค.57 จึงขอประกาศให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศได้ปฏิบัติศาสนกิจในวันดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน
ประกาศฉบับนี้ออกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.ย.57 ลงนามโดย ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ในฐานะผู้รับสนองบัญชา
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าประกาศนี้ไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้นำศาสนาบางส่วนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จ.นราธิวาส ได้ประกาศมติของคณะกรรมการมัสยิดประจำจังหวัดนราธิวาส ให้ละหมาดอีฎิ้ลอัดฮา ในวันเสาร์ที่ 4 ต.ค.57 (ตรงกับที่ซาอุฯประกาศ) เป็นต้น
ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือ การกำหนดวันต่างๆ ดังกล่าวจะไปผูกกับหลักศาสนาและคำสอนขององค์อัลลอฮ์ โดยเฉพาะการถือศีลอด และการเชือดสัตว์พลี (กุรบาน) ซึ่งผู้กระทำจักได้บุญ หรือลบล้างบาป ฉะนั้นหากกำหนดวันไม่ตรงกัน ย่อมเกิดความสับสนว่าควรประกอบศาสนกิจในวันไหนกันแน่
ความสำคัญของวันอาเราะฟะฮ์?
ข้อมูลจากเทปบันทึกการบรรยายพิเศษเรื่อง "ความสำคัญของ 10วันแรกเดือนซุลฮิจญะฮ์" โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า 10 วันแรกในเดือนซุลฮิจญะฮ์เป็นโอกาสสำหรับผู้ที่พลาดโอกาสไม่ได้ถือศีลอดในเดือนเชาวาล (เดือนรอมฎอน) ที่ผ่านมา สามารถแก้ตัวได้โดยการถือศีลอดในช่วง 10 วันในเดือนซุลฮิจญะฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาเราะฟะฮ์ ที่ความประเสริฐของมันสามารถลบล้างบาปและความผิดพลาดทั้ง 1 ปีที่ผ่านมาและ 1 ปีที่ตามหลัง
10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์จึงมีความสำคัญมาก และเปิดโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มคุณงามความดีให้มีน้ำหนักมากขึ้น
จุดเด่นของ 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์มีดังนี้
1.พระองค์อัลลอฮ์ ทรงสาบานไว้ในอัลกุรอาน... 2.วันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ เป็นวันวุกูฟของบรรดาผู้ที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ที่ทุ่งอาเราะฟะฮ์ ซึ่งเป็นหลักประการสำคัญของฮัจญ์ที่จำเป็นต้องกระทำ ท่านเราะซูล (บุคคลที่ได้รับเลือกจากท่านศาสดาให้นำบัญญัติมาเผยแผ่แก่โลกมนุษย์) สนับสนุนให้พวกเขาถือศีลอดในวันนี้
3.วันที่ 10 หลังจากวันอาเราะฟะฮ์ เป็น วันอีฎิ้ลอัดฮา ท่านเราะซูลสนับสนุนส่งเสริมให้มุสลิมที่ไม่ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ เชือดสัตว์พลี ประกอบด้วย อูฐ วัว ควาย แพะ หรือ แกะ ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคล เพราะเป็นการเจริญรอยตามแบบฉบับของท่านเราะซูลที่มีรายงานว่าท่านได้เชือดแกะ 2 ตัวในวันนี้ เพื่อแจกจ่ายเนื้อสัตว์ให้แก่ผู้ยากจน ญาติมิตร และเพื่อนฝูง
สิ่งที่ควรปฏิบัติใน 10 วันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮ์มีดังนี้
1.ถือศีลอดในช่วงแรก 9 วันของเดือนซุลฮิจญะฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่ควรพลาดคือวันที่ 9 วันอะรอฟะฮ์ เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของท่านเราะซูล และหวังการอภัยโทษจากอัลลอฮ์ 2.รำลึกถึงพระองค์อัลลอฮ์ให้มาก โดยการกล่าวสดุดี สรรเสริญพระองค์ ประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังละหมาด 5 เวลา
3.ละหมาด 5 เวลาในเวลาของมัน โดยปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงกันที่มัสยิด และเติมเต็มด้วยการละหมาดสุนัต ทั้งก่อนและหลัง 4.สำหรับผู้ที่เจตนาจะทำการกุรบาน หรือเชือดสัตว์พลี ควรงดเว้นจากการตัดผมและตัดเล็บในช่วง 10 วันนี้ 5.บริจาคทานให้แก่ผู้ยากจนเท่าที่มีความสามารถ 6.เตาบัตตัว (ขออภัยโทษ) จากการกระทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย
อบจ.ปัตตานียกเลิกจัดพิธีละหมาด
จากข้อมูลแสดงความสำคัญของวันอาเราะฟะฮ์ กับวันอีฎิ้ลอัดฮาที่ยกมา และความสับสนในการกำหนดวันดังกล่าว ทำให้บรรยากาศในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ตลาด ร้านค้า สภากาแฟ ร้านตัดผมชาย หรือชุมชนต่างๆ มีแต่การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะวันอาเราะฟะฮ์ตรงกับวันไหน เพราะต้องถือศีลอด และวันรายอฮัจญี หรือวันอีฎิ้ลอัดฮา ตรงกับวันใด เพราะต้องเชือดสัตว์พลี
"ถ้าถือศีลอดวันศุกร์ที่ 3 ต.ค. ก็ตรงกับวันอาเราะฟะฮ์ที่ซาอุฯ เว้นวันเสาร์หนึ่งวัน แล้วรายอวันอาทิตย์ แต่ถ้าให้ถือศีลอดวันเสาร์ ก็ไม่ตรงกับวันอาเราะฟะฮ์ แล้วจะถือศีลอดทำไม" เป็นคำถามที่เกิดขึ้นแทบทุกวงพูดคุยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จนถึงขณะนี้ มุสลิมในพื้นที่่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน บางกลุ่มจะถือศีลอดวันศุกร์ที่ 3 ต.ค. แล้วรายอวันเสาร์ ตามประกาศของซาอุฯ โดยไม่ฟังประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่จะรายอวันอาทิตย์ตามคำสั่งของสำนักจุฬาราชมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดบางจังหวัด นับเป็นความสับสนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ล่าสุดมีข่าวว่า นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปัตตานี แจ้งว่า ตามที่ อบจ.ได้กำหนดจัดพิธีละหมาดรายอฮัจญ์ (อีฎิ้ลอัดฮา) ประจำปี 2557 นั้น เนื่องจากสังคมมุสลิมในประเทศไทยมีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นกำหนดวันอาเราะฟะฮ์ และวันอีฎิ้ลอัดฮา จึงขอประกาศยกเลิกการจัดละหมาดอีฎิ้ลอัดฮา ณ สนามกีฬา อบจ.ปัตตานี ในปีนี้
นักวิชาการอิสลามจี้สำนักจุฬาฯแจง
ในสื่อสังคมออนไลน์ก็มีความเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เช่น นักวิชาการอิสลาม (ขอสงวนนาม) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสำนักจุฬาราชมนตรี ขอให้ชี้แจงข้อสับสนในหลายประเด็น ประกอบด้วย 1.ที่อ้างว่ามีตัวแทนของสำนักจุฬาฯไปดูการเห็นจันทร์เสี้ยว (เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะห์) แล้วระบุว่าไม่เห็นจันทร์เสี้ยวนั้น ไปดูที่จังหวัดไหน เหตุใดจึงไม่มีประกาศออกทีวีเหมือนอีฎิ้ลฟิตริ (รอยอหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน)
2.ทำไมคำประกาศวันอีฎิ้ลอัดฮาจึงไม่ใช่คำประกาศของจุฬาราชมนตรีเอง แต่เป็นการลงนามโดยผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ผู้รับสนองบัญชา อยากทราบว่าหากจุฬาราชมนตรีมอบหมายจริง ทำไมจึงไม่มอบหมายให้รองจุฬาราชมนตรี หรือเลขาฯ แต่กลับมอบให้ผู้ทรงคุณวุฒิ
3.การเชือดสัตว์กุรบาน จะทำวันไหน เพราะถ้าจะให้ตรงกับซาอุฯ ต้องทำวันเสาร์ที่ 4 ต.ค. ซึ่งถ้าร่วมทำไปแล้วในวันที่ 4 และมาทำตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีในวันที่ 5 ก็จะไม่ถือว่าเป็นสัตว์กุรบาน 4.หากจะให้ถือศีลอดวันอาเราะฟะฮ์วันศุกร์ที่ 3 ต.ค. แล้วออกอีด (รายอ) วันอาทิตย์ที่ 5 ต.ค. การเว้นวันเสาร์ 1 วัน เคยมีหลักฐานการกระทำในอดีตหรือไม่ ขอให้ชี้แจง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ประกาศมติของคณะกรรมการมัสยิดประจำจังหวัดนราธิวาส กำหนดวันอีฎิ้ลอัดฮาคนละวันกับที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศ (ขวา)