ประพัฒน์ ยันร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติเข้าครม. 21 ตค.
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ... เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนปีแรกในด้านต่างๆ ซึ่งมีเรื่องของการสนับสนุนการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติรวมอยู่ด้วยนั้น ขณะนี้การดำเนินการผลักดันร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ... ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำลังรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจากการตรวจสอบกับสำนักงานเลขาธิการครม. ได้รับการยืนยันว่ามีวาระเข้าครม.ในวันที่ 21 ตุลาคม นี้ โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำเกษตรกรใน 4 ภาคมาแล้ว และหลังจากผ่านครม.แล้วทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะได้ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับเนื้อหาร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.... มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของเกษตรกร โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการรวมตัวของเกษตรในรูปของสภาเกษตรกร และเพื่อการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด เพื่อให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
เมื่อกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ จะมีการจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยประกอบไปด้วยสมาชิก 3 ประเภทคือ 1. สมาชิกซึ่งมาจากสภาเกษตรจังหวัดเสนอชื่อมาจังหวัดละ 1 คน 2. สมาชิกที่มาจากตัวแทนเกษตรกรด้านพืช ด้านสัตว์ ด้านประมงและด้านการเกษตรอื่นๆรวม 16 คน 3. สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้และประสบการณ์ด้านเกษตรกรรมอีก 7 คน
อำนาจตามหน้าที่ของสภาฯ เช่น กำหนดนโยบายส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกร กำหนดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาทำการเกษตรการทำเกษตรแบบผสมผสาน ระบบเกษตรธรรมชาติ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแก่คณะรัฐมนตรี จัดทำแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ กำหนดแนวทางประกันความเสี่ยง
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสภาเกษตรกรจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในระดับจังหวัด ประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างองค์กรเกษตรกร เกษตรกรในระดับจังหวัด มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัด และเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อบูรณาการเป็นแผนแม่บท
ในส่วนของแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม สภาเกษตรกรแห่งชาติต้องจัดทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและมีสาระสำคัญตามข้อกำหนด เช่น การพัฒนาศักยภาพ ความเข้มแข็ง ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร ส่งเสริมการพัฒนา และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาดิน และที่ดิน
การสร้างความเป็นธรรมด้านราคาผลผลิต การสร้างเครือข่ายองค์กรเกษตรกร เชื่อมโยง และพัฒนาความร่วมมือในด้านการผลิตทางเกษตรกรรม การแปรรูป การตลาด และการบริโภคเพื่อการยังชีพ ระหว่างเครือข่ายองค์กรเกษตรกรกับภาครัฐ และภาคเอกชน