ส.การประมงนอกน่านน้ำไทยแจง กรณีลูกเรือไทย-ข้ามชาติ "ตกเรือ"ที่เกาะอัมบน-อินโดฯ?
คำชี้แจงข้อเท็จจริงของสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย
เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชนและสื่อมวลชน
ของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)
ตามที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งเป็นองค์กรที่อ้างตัวว่า “เป็นองค์กรด้านแรงงานที่มุ่งมั่นส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุ้มครองสิทธิความเสมอภาค การพึ่งตนเอง และสรรค์สร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ” ได้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนว่า “จากการลงพื้นที่ในประเทศอินโดนีเซีย พบลูกเรือไทย ๖ คน และลูกเรือพม่า ๑ คน ซึ่งหลบหนีออกจากเรือขณะที่เรือเข้าฝั่งที่เกาะอัมบน (Ambon) เรือดังกล่าวได้แก่เรือ “เรือพรชัย ๓ เรือแพไหม เรืออ่าง ๕ เรือสมบูรณ์ เรือศรีใหม่ เรือมาบีรู ๑๗ ” ออกจากมหาชัยและท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร โดยลูกเรือทั้ง ๖ คน หลบซ่อนอยู่บนเกาะ เนื่องจากเกรงกลัวไต้ก๋งเรือคนไทยและคนมาเลเซียจะมาตามตัวกลับ ลูกเรือบางคนอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถูกจี้ปล้น ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารภาษาอินโดนีเซีย บางคนไม่มีเอกสารแสดงตนและได้ขอความช่วยเหลือส่งกลับประเทศไทย ” ดังรายละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบกับเจ้าของเรือบางส่วนในเบื้องต้นพบว่าเรือประมงชื่อ “แพรไหม” มีนางสาวมาลี พงศ์สถาพร เป็นเจ้าของ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้รับสัมปทานทำการประมงในประเทศอินโดนีเซียร่วมกับบริษัทท้องถิ่น และเป็นนายจ้างของลูกเรือที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้กล่าวอ้างถึง จำนวน ๒ คน คือ นายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิ และนายทองศรี พรมวิบุตร จากจำนวนที่เป็นคนไทย ๖ คน ซึ่งเป็นเจ้าของเรือได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่สมาคมฯ ตรวจสอบแล้ว ดังนี้
๑. เรือประมง “แพรไหม” ได้รับสัมปทานทำการประมงในประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้ชื่อเรือ “Mitra Sejahtera 3”
๒. เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ได้มีนายหน้าชาวไทย มีชื่อเล่นว่านายป้อม (ไม่ทราบชื่อและสกุลจริง) ได้ทราบข่าวว่าเจ้าของเรือประมง และมีความประสงค์ที่จะจ้างลูกเรือเพื่อไปทำงานบนเรือประมงในประเทศอินโดนีเซีย จึงได้นำคนไทยจำนวนรวม ๙ คน มาสมัครทำงาน โดยแจ้งความประสงค์ที่จะทำงานเป็นลูกเรือประมง ซึ่งทุกคนได้มีเอกสารแสดงตน (Seaman book) ที่ได้จัดหาด้วยตนเองแล้วมาประกอบการรับสมัคร (ดูเอกสารหมายเลย ๑ และ ๒ เฉพาะในส่วนของนายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิและนายทองศรี พรมวิบุตร)
๓. ลูกเรือทั้ง ๙ คน ได้ตกลงทำสัญญากับนายชนสิน พงศ์สถาพร ผู้แทนของเจ้าของเรือ โดยยินดีที่จะรับค่าจ้างเป็นรายเดือนๆ ละ ๙,๐๐๐ บาท และมีสิทธิที่จะรับส่วนแบ่งผลกำไรอีกต่างหากตามสัดส่วนที่ถือปฏิบัติของเรือประมงประเภทอวนลากทั่วไป รวมทั้งสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง (ดูเอกสารหมายเลข ๓ และ ๔ เฉพาะในส่วนของนายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิและนายทองศรี พรมวิบุตร)
๔. พร้อมกับการลงนามในสัญญาจ้างด้วยความสมัครใจ (เอกสารหมายเลข ๓ และ ๔ หน้า ๑ และหน้า ๓ ที่ลูกเรือเป็นผู้เขียนชื่อและสกุลของตนเอง) ลูกเรือยังได้ขอให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนล่วงหน้าให้กับตนเป็นจำนวนเงินคนละ ๓๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารและซื้อของใช้ส่วนตัวในการออกเรือ และยินยอมให้นายจ้างหักเงินจำนวนดังกล่าวจากรายได้ของตนด้วย (สัญญาข้อ ๒๓) และพร้อมกันนั้นลูกเรือยังได้ทำสัญญาและลงลายมือชื่อรับเงินในสัญญาเงินกู้ยืมเงินจากนายชนสิน พงศ์สถาพร จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ไปเรียบร้อยแล้วในวันดังกล่าว นอกจากนี้ ลูกเรือทุกคนยังได้ทำหนังสือมอบอำนาจอนุญาตให้เจ้าของเรือจ่ายเงินรายเดือนจากค่าจ้างของตนให้กับญาติ โดยผ่านการโอนเงินทางธนาคารด้วย (ดูเอกสารหมายเลข ๕, ๖, ๗, ๘ ,๙ และ ๑๐ เฉพาะในส่วนของนายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิและนายทองศรี พรมวิบุตร)
๕. เมื่อเรือประมง “แพรไหม” มีความพร้อมที่จะออกเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียแล้ว เจ้าของเรือได้ยื่นเอกสารต่างๆ เพื่อขออนุญาตปล่อยเรือจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจากกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง โดยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้มาทำการปล่อยเรืออกจากท่า (Port Clearance) ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ซึ่งลูกเรือทุกคนได้มาแสดงตนและลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่พนักงานด้วยตนเอง โดยไม่อยู่ในสภาพที่ถูกบังคับแต่ประการใด (ดูเอกสารหมายเลข ๑๑)
๖. ภายหลังจากการได้รับเอกสารปล่อยเรือแล้ว เรือประมง “แพรไหม” ได้ออกเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซีย และเข้าเทียบท่าที่เมืองอัมบน ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ในระหว่างการเดินทางลูกเรือทั้งหมดได้ใช้ชีวิตเป็นปกติอยู่บนเรือโดยไม่มีการทำงานใดๆ ยกเว้นลูกเรือที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือและใช้เครื่องยนต์เท่านั้น
๗. เมื่อเรือเทียบท่าแล้ว ได้ดำเนินการแจ้งเรือเข้ากับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามพิธีการเข้าเมืองตามปกติ และได้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตทำการประมงต่อไป (ดูเอกสารหมายเลข ๑๒)
๘. ระหว่างที่เรือกำลังรอใบอนุญาตทำการประมง (Fishing License) และใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมประมงของอินโดนีเซีย ลูกเรือทั้งหมดได้พักอาศัย กิน และนอน อยู่บนเรือ (ซึ่งเป็นปกติวิสัยของเรือประมงทั่วไป) และสามารถขออนุญาตออกจากบริเวณท่าเรือเพื่อเข้าเมืองได้ตามปกติ และลูกเรือเกือบทั้งหมดได้ขอเบิกเงินจากไต้ก๋ง (นายเพียร ปู่เคี้ยว) เพื่อซื้อของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น โดยนายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิ และนายทองศรี พรมวิบุตร ได้เบิกเงินรวม ๓ ครั้ง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นคนละ ๑,๓๐๐,๐๐๐ รูเปีย คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๔,๙๔๐ บาท ซึ่งไต้ก๋งได้แจ้งให้เจ้าของเรือได้รับทราบแล้ว (ดูเอกสารหมายเลข ๑๓)
๙. เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิ และนายทองศรี พรมวิบุตร ได้หายไป โดยไม่กลับมานอนพักที่เรือตามปกติ และต่อมาประมาณต้นเดือนกันยายน ไต้ก๋งได้ทราบว่า ลูกเรือทั้ง ๒ คน ได้ไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเมืองอัมบนว่าตนเองถูกหลอกให้มาทำงาน ขอให้ช่วยเหลือในการส่งตัวกลับประเทศไทย
๑๐. ณ วันเวลาใด ไม่ปรากฏ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้รับทราบข้อมูลจากนายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิ และนายทองศรี พรมวิบุตร และนำไปขยายผลและให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน กล่าวหาเจ้าของเรือและผู้ประกอบการประมงอื่นๆ ให้เข้าใจว่าเป็นผู้หลอกลวง บังคับขู่เข็ญในการใช้แรงงาน และค้ามนุษย์
จากข้อเท็จจริงข้างต้น สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยได้วิเคราะห์แล้ว พบว่าลูกเรือทั้งสองคน คือ นายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิ และนายทองศรี พรมวิบุตร มิได้ถูกหลอกลวงให้ทำงานบนเรือประมงแต่ประการใด ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ทั้งสองคนมีความสมัครใจและตั้งใจที่จะฉ้อโกงนายจ้าง และอาจร่วมมือกับองค์กรเอกชนในการสร้างเรื่องเพื่อใช้ประโยชน์ในทางมิชอบด้วยก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ลูกเรือทั้งสองทราบอยู่ก่อนแล้วว่าต้องมาทำงานบนเรือประมง และตนเองพร้อมที่จะทำงานนี้ โดย
ก. มีการไปทำหนังสือแสดงตนในฐานะลูกเรือ (Seaman book) ที่สำนักงานเจ้าท่าเขตสมุทร สงครามด้วยตนเอง และนำมาแสดงในวันที่สมัครงาน
ข. มีความสมัครใจที่จะลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างด้วยตนเอง ปราศจากการบังคับ
ค. มีการลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ในขณะที่กำลังแจ้งเรือออกจากท่า (Port Clearance) ซึ่งหากถูกหลอกลวงตามอ้าง ก็สามารถที่จะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือได้แต่ไม่ทำ
ง. มีการเบิกเงินล่วงหน้าทั้งก่อนออกเรือ และเมื่อถึงเมืองท่าปลายทางแล้ว ในขณะที่ยังมิได้ทำงานตามสัญญาจ้างประการใด
จ. ผิดสัญญาจ้าง ไม่ยอมทำงานตามที่ได้ตกลงไว้ โดยหลบหนี และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของอินโดนีเซีย
จากการสอบถามเจ้าของเรือประมงลำนี้ ได้รับทราบว่าเจ้าของเรือพร้อมที่จะให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อทำให้ความทั้งหมดได้ปรากฏ และในส่วนของสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยขอให้มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ซึ่งเป็นองค์กรที่อ้างตัวว่า “เป็นองค์กรด้านแรงงานที่มุ่งมั่นส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุ้มครองสิทธิความเสมอภาค การพึ่งตนเอง และสรรค์สร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ” ได้แสดงความรับผิดชอบต่อการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชนและสื่อมวลชน รวมทั้งการพยายามทำร้ายธุรกิจการประมงของไทยมานาน เพื่อการหาประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง โดยมิได้สืบสวนและสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งสองด้านก่อนการเผยแพร่ข้อมูลด้วยความรับผิดชอบในฐานะขององค์กรที่อ้างตนว่าเป็นองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะแต่ประการใด
สำหรับลูกเรือประมงทั้ง ๒ คน คือ นายวุฒิศักดิ์ ตันติวุฒิ และนายทองศรี พรมวิบุตร ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย เจ้าของเรือขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่ลูกเรือทั้ง ๒ คนต้องการ โดยเจ้าของเรือยินดีที่จะไม่เอาความใดๆ (กรณีแจ้งความเท็จ กล่าวหาเจ้าของเรือ ฯลฯ) เว้นแต่ลูกเรือทั้ง ๒ คน จะคืนเงินกู้และเงินที่เบิกล่วงหน้าจากไต้ก๋งและผู้แทนของเจ้าของเรือตามที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ เจ้าของเรือไม่ขอรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นการผิดสัญญาของลูกจ้างทั้งสองเอง และเป็นไปตามข้อ ๑๘ ในสัญญาจ้างทุกประการ
ส่วนลูกเรือและเจ้าของเรือรายอื่น สมาคมฯ จะได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำเสนอต่อสาธารณะโดยเร็วต่อไป
ท้ายที่สุดนี้ สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ขอวิงวอนให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้ช่วยกันทำหน้าที่สื่อด้วยความเที่ยงธรรม มีการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการนำเสนอสู่สาธารณะ มิใช่นำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำความเสียหายให้กับธุรกิจการประมงและประเทศไทยอย่างรู้ไม่เท่าทันองค์กรเอกชน (NGO) ที่ต้องการเพียงการนำเสนอข่าวร้ายของประเทศเพื่อแลกกับเงินสนับสนุนที่ต่างประเทศโยนให้โดยไม่สนใจว่าประเทศไทยจะได้รับความเสียหายอย่างไร และหากต้องการข้อเท็จจริงเพิ่มเติมใดๆ ขอให้ติดต่อสมาคมฯ ได้ทุกเวลา
ลงชื่อ (นายวิริยะ ศิริชัยเอกวัฒน์)
นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย
๒๖ กันยายน ๒๕๕๗
หมายเหตุ : เอกสารแจกในงานเสวนาและแถลงการณ์ การช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ "ตกเรือ" ณ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย: คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่ ? วันอังคารที่ 30 กันยายน 2557 เวลา 08.30 - 13.00 น. ณ ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร 601 อาคารมหิตลาธิเบศร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย