"เคทีบีฯ-โชควรลักษณ์"ตัวละครคดีระบายข้าวในปท.โกยรายได้ล่าสุดเฉียดพันล.
ตามรอย"เคทีบีไซโล-โรงสีโชควรลักษณ์" ตัวละครเอกคดีระบายข้าวในปท.ยุค"ยิ่งลักษณ์" ย้อนหลักฐานความสัมพันธ์ "เสี่ยเปี๋ยง&เสี่ยเปี๊ยก" ของ "หมอวรงค์" ล่าสุดพบยังไม่เลิกกิจการ โกยรายได้เฉียดพันล้าน!
ในบรรดาบริษัทเครือข่ายของ "นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร" หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" นักธุรกิจค้าข้าวผู้โด่งดังของเมืองไทย นอกเหนือจากบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และ บริษัทสิราลัย จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด ถูกบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ามาซื้อกิจการต่อไปแล้ว) ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตโครงการระบายข้าวรับจำนำของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว
บริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด ที่ปรากฏรายชื่อ"นายอภิชาติ" เป็นผู้ก่อตั้ง และถูกระบุว่าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการระบายข้าวรับจำนำของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน!
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด แจ้งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547 ทุน 750,000,000 บาท ประกอบธุรกิจ ไซโลเก็บพืชผลทางการเกษตร ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เลขที่ 48/7-8 ซอยรัชดาภิเษก 20 ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ปรากฏชื่อ นางสาว เรืองวัน เลิศศลารักษ์ และนางรัตนา แซ่เฮ้ง เป็นกรรมการ
นางสุดา คุณจักร อดีตผู้ถือใหญ่ บริษัท สยามอินดิก้า ถือหุ้นใหญ่อยู่
เดิมที่บริษัทแห่งนี้ มีชื่อว่า บริษัท สยามธัญรักษ์ ไซโล ปรากฏชื่อ นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นผู้ก่อตั้ง มีทุน 100 ล้าน ตั้งอยู่ที่ 557/1 ซอยสุทธิพร ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจ มีผู้ถือหุ้น 7 คน นายอภิชาติ ถือหุ้นใหญ่สุด
ก่อนที่จะมีการแจ้งเปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ และกรรมการหลายหน รวมถึงการเพิ่มทุนเป็น 750 ล้านบาท
ขณะที่ นายอภิชาติ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 และโอนหุ้นไปให้คนใกล้ชิดถือครองแทน
ทั้งนี้ หากใครยังไม่ลืมข้อมูล บริษัท เคทีบี ไซโล จำกัด จะทราบว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2.525 ล้านบาท ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ช่วงหัวค่ำวันที่ 29 พ.ค.56
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำข้อมูลความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับระบายข้าว ในประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลต่อเนื่องจากปัญหาการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ที่นำมาเปิดเผยไปแล้ว
นายแพทย์วรงค์ ได้โชว์เอกสารชิ้นแรก เป็นใบเสร็จขายข้าวของอคส. ที่ออกให้กับ โรงสีโชควรลักษณ์ รุ่งเรืองกิจ ในราคาที่ ตันละ 5,700 บาท
ก่อนจะขยายความว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ขายข้าวขาว 8 แสนกิโลกรัม ราคาตันละ 5,700 บาท ให้แก่โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งขึ้น วันที่ 22 ธันวาคม 2554 โรงสีโชควรลักษณ์นำขายข้าวไปขายต่อแก่โรงสีแห่งหนึ่งที่ จ.กำแพงเพชร ในราคาตันละ 12,000 บาท โดยใช้แฟกซ์โอนใบมอบอำนาจแค่ใบเดียวราคา 5 บาท แต่ฟันกำไรถึง 6,300 บาทต่อตัน และเป็นการขายก่อนที่จะได้ข้าวมาจากรัฐบาล
พร้อมระบุว่า เท่าที่ทราบมีการขายแบบนี้หลายครั้ง เม็ดเงินที่สะพัดในจังหวัดกำแพงเพชร มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
ส่วนเหตุผลที่มีการขายข้าวให้โรงสีโชควรลักษณ์ ในราคาต่ำเช่นนี้ได้ นพ.วรงค์ ระบุว่า เป็นเพราะเจ้าของโรงสีแห่งนี้ชื่อ “เสี่ยเปี๊ยก” มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด “เสี่ยเปี๋ยง” ที่เป็นนายทุนผูกขาดการค้าขายรายใหญ่และมีความใกล้ชิดนายใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ
ก่อนจะโชว์เอกสารสำคัญชิ้นที่สอง คือ หนังสือสัญญา นาปรัง ไซโล อคส. 1/2555 ซึ่งเป็นสัญญาเช่าไซโลระบบควบคุมบรรยากาศเพื่อจัดเก็บรักษาข้าวสาร (โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555)
ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าว เป็นการลงนามร่วมกันระหว่าง พันตำรวจตรี ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผอ.อคส. "ผู้เช่า" กับนายเอนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ “ผู้ให้เช่า”
ในหนังสือสัญญาดังกล่าว ระบุว่า ผู้เช่าตกลงเช่าและผู้ให้เช่าไซโล ระบบรวบคุมบรรยากาศของผู้ให้เช่าจำนวน 24 ถัง ปริมาณความจุรวมทั้งสิ้น 288,000 ตัน เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ที่ผู้เช่าสั่งให้โรงสีส่งมอบ
โดยปรากฏชื่อ เคทีบี ไซโล ตั้งอยู่เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในสัญญาดังกล่าวด้วย
นายแพทย์วรงค์ กล่าวอ้างด้วยว่า เป็นที่รู้กันในวงการว่า เคทีบี ไซโล เป็นไซโลของ เสี่ยเปี๋ยง ในอดีตใช้ชื่ออื่น ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นชื่อนี้
“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ข้อมูลนี้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่อคส.รายหนึ่ง เอาเอกสารฉบับนี้ มาให้ พอเห็นแล้วก็ถึงได้เข้าใจว่า ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เสี่ยเปี๊ยก กับ เสี่ยเปี๋ยง สองเสี่ย ป. นี่ แท้จริงแล้วมีความใกล้ชิดกัน และอาจเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไม เสี่ยเปี๊ยกถึงสามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ต่ำและนำไปขายต่อทำกำไรได้จำนวนมาก” นายแพทย์วรงค์ระบุ
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร จากบริการสอบถามข้อมูล 1133 ได้รับแจ้งว่า เป็นสถานที่ตั้ง บริษัท เคทีบีไซโล จำกัด จริง
จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มที่ตั้งสำนักงานอีกแห่งหนึ่ง คือ 23/3หมู่ที่3 ถนนบางมูลนาก -ตะพานหิน ตำบลหอไกร อ.บางมูลนาก พิจิตร อีกแห่งหนึ่ง
โดยที่ตั้งดังกล่าว อยู่ใกล้เคียงกับ เลขที่ 25/3 หมู่ที่ 3 ถนน บางมูลนาก-ตะพานหิน ตำบลหอไกร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่าไซโล ระหว่าง อคส. กับ นายอเนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน โรงสี โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ตามเอกสารที่นายแพทย์วรงค์นำมาเปิดเผย
ขณะที่นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัด หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า เหตุที่ซื้อข้าวมาได้ต่ำเพราะเป็นข้าวเก่า สภาพไม่ดี แต่ที่สำคัญที่สุดมันเป็นข้าวลม ไม่มีอยู่จริง โรงสีที่เก็บข้าวเอาไว้ เอาข้าวออกไปขายก่อนแล้ว เมื่อประมูลมาได้ ก็กลัวคดีความ ก็เลยมาขอซื้อต่อในราคาตันละ 12,000 บาท
ส่วนกรณีที่ปรากฏชื่อของตน ในเอกสารให้เช่าไซโล กับอคส. และมีการระบุข้อมูลว่า ไซโล นี่เป็นของ บริษัทเคทีบี ของเสี่ยเปี๋ยง นายเอนก ยืนยันว่า “ผมไปเช่าโกดัง นี้ มาจากธนาคารกรุงไทย เพราะเจ้าของเดิมมีหนี้อยู่ เช่ามาเกือบปีแล้ว ผมก็ทำธุรกิจของผม ไม่ได้มีอะไรเลย ไปเช็คประวัติผมดูได้ว่าเป็นอย่างไร”
พร้อมระบุว่า “ต่อไปนี้ จะไม่ทำอะไรอีกแล้ว เพราะทำธุรกิจอยู่ดีๆ ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอปัญหาอะไรแบบนี้ กลายเป็นแพะ เป็นจำเลยของสังคม ตอนนี้มีความคิดจะปิดกิจการแล้ว ไม่ทำต่อแล้ว ถอนตัวอำลาวงการข้าวไปเลยดีกว่า”
(อ่านประกอบ : ฟังชัดๆ “หมอวรงค์” ปะทะ “เสี่ยเปี๊ยก” ทุจริตระบายข้าว ในปท. ใครจริง-เท็จ? , แกะละเอียด โรงสี เสี่ยเปี๊ยก ทำธุรกิจร่วม 10 ปี ฟันรายได้ 2.8 พันล้าน- กำไรจิ๊บๆ 43 ล้าน ?)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เคทีบีฯ นำส่งงบดุลแสดงผลประกอบกิจการบริษัทฯ ปีล่าสุด 2556 พบว่า มีรายได้จากการขายและบริการ 3,516,289.50 บาท รายได้รวม 3,526,796.39 บาท ขาดทุนสุทธิ 9,277,685.69 บาท
ขณะที่งบดุล ปี 2555 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ – สุทธิ 5,549,391.90 บาท รายได้รวม 5,696,505.54 บาท ขาดทุนสุทธิ 6,751,948.68
ส่วน หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ล่าสุดพบว่ายังประกอบธุรกิจอยู่ โดยแจ้งงบดุลแสดงผลกำไร ปี 2555 ว่ามีรายได้จากการขายและบริการ – สุทธิ570,616,845.10 บาท รายได้รวม570,627,597.87 บาท มีกำไรสุทธิ 6,458,192.74 บาท
ส่วนงบดุลล่าสุดปี 2556 แจ้งรายได้จากการขายและบริการ – สุทธิ ขยับขึ้นเป็น 915,451,536.95 บาท รายได้รวม 915,549,675.56 บาท แต่มีกำไรสุทธิแค่ 5,110,843.07 บาท
นี่คือข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับ บริษัท เคทีบีฯ และ หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ สองตัวละครสำคัญ ในคดีการระบายข้าวรับจำนำ ในประเทศ ของรัฐบาล ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งประเทศ
และอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.)อยู่ในขณะนี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายเอนก ฉัตรไชยศิริ หุ้นส่วนผู้จัด หจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
แต่นายเอนก ปฏิเสธที่จะชี้แจง โดยระบุว่า "ไม่สะดวก"
เมื่อถามย้ำว่า ทางป.ป.ช. ได้เชิญมาให้ปากคำหรือยัง นายเอนก ตอบสั้นๆ ว่า "ไม่ทราบ"