Human Right Watch ฉะรัฐเพิกเฉยไม่จัดการจริงขบวนการค้ามนุษย์
Human Right Watch Asia ชี้ไทยตระหนักดี มีปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ไม่แก้ไข แม้ออกมาตรการข้อบังคับสุดท้ายก็ไม่มีการปฏิบัติตาม จี้รัฐฯ เอาจริง ขบวนการค้ามนุษย์ ด้านศูนย์พัฒนาประมงฯ แนะจับมือร่วมกันหาทางออกทั้งรัฐ-เอกฃน
วันที่ 30 กันยายน 2557 ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง (The Rotary Peace Center) ศูนย์ให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมง หรือ Seafarers Action Center (SAC) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) , เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านค้ามนุษย์ (ATN) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา และชมรมนักข่าวอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา การช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ "ตกเรือ" ณ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย: คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่ ? ณ ห้องประชุมมหิตลาธิเศร 206 อาคารมหิตลาธิเบศร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. บัณฑิต โชคสงวน ศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) กล่าวว่า หากจะแก้ไข้ปัญหาลูกเรือไทยและข้ามชาติที่ตกเรือนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมท่าเรือ ศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ ต้องร่วมมือกันในการดำเนินการป้องกันและตรวจสอบข้อมูลของเรือ ตั้งแต่เริ่มต้นทำการประมง ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนเรือ เรื่องอาชญาบัตร การเข้า-ออกของเรือ ทั้งในและต่างประเทศถูกต้องหรือไม่ การจัดทำกฎเกณฑ์ที่ใช่ร่วมกันของแต่ละหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการให้ความรู้แก่ลูกเรือทุกคนก่อนออกไปการทำประมงนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ และถือว่าเป็นสิทธิที่แรงงานทุกคนควรจะได้รับ ทั้งนี้ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้เรือเข้าเรือออกไม่น่ามีปัญหาใดๆ
ด้านนายฟีล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการ Human Right Watch Asia กล่าวถึงการตื่นตัวและการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทยว่า รู้สึกหนักใจเพราะว่าการประชุมแต่ละครั้งจะพูดแต่เรื่องที่เคยพูดมาก่อน หน่วยงานทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และกระทรวงแรงงานได้ร่วมกันทำวิจัยจนได้งานวิจัยที่ชื่อว่า “Trafficking of Fishermen in Thailand” และได้นำเสนอต่อรัฐบาลพิจารณา และ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2012 จากนั้น ได้มีมาตรการไปยังฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กรมท่าเรือ กรมเจ้าท่า และตำรวจน้ำ เป็นต้น แต่ในหลายๆ เรื่องไม่มีการปฏิบัติตามและยังเกิดปัญหาในรูปแบบเดิมคือการค้ามนุษย์ยังคงรุนแรง
"ล่าสุดประเทศไทยถูกลดอันดับการค้ามนุษย์ไปยังระดับต่ำที่สุด ต่างชาติขาดความเชื่อถือต่อสินค้าของไทยและถูกระงับการสั่งซื้อไปบางส่วน จึงทำให้กรมประมงตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและได้ออกแผนการดำเนินงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในที่สุดไม่มีอะไรคืบหน้าแม้แต่น้อย และไม่มีการปฏิบัติตามอีกด้วย"
นายฟีล กล่าวต่อว่า ประเทศไทยตระหนักว่า มีปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ก็ไม่มีทางแก้ไขอย่างชัดเจน มีความพยายามออกมาตรการข้อบังคับ วิจัยต่างๆ ออกมาให้ดำเนินการ แต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม ภาครัฐอีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีความตั้งใจที่จะทำ ไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะแก้ไขปัญหา ต่างชาติจึงมองประเทศไทยว่า ไม่มีความน่าเชื่อถือในเรื่องนี้จึงได้ลดลำดับไปอยู่ที่ระดับต่ำสุด
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ที่ปรึกษากิติมศักดิ์และกรรมการบริหารสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย (TOFA) กล่าวว่า เรื่องกระบวนการค้ามนุษย์สร้างความเสียหายต่อวงการเรือประมงเป็นอย่างมาก ทางสมาคมก็เรียกร้องให้ทางภาครัฐเข้ามาร่วมแก้ปัญหาโดยร่วมกับทางสมาคมฯ อีกทั้งเรียกร้องให้ทางสำนักงานประกันสังคมแก้ไขเรื่องสิทธิของลูกเรือ เพราะว่าลูกเรือที่ทำงานให้กับทางสมาคมไม่ได้รับสิทธิจากทางประกันสังคมแต่อย่างใด แต่ทางสมาคมฯอยากเรียกร้องให้แก้ไขการได้รับสิทธิในส่วนนี้
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในช่วงท้ายของการเสวนากลุ่มศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และภาคีเครือข่ายได้มีการแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีการช่วยเหลือลูกเรือไทยและข้ามชาติ "ตกเรือ" ณ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย คนตกเรือ ค้าแรงงาน ค้ามนุษย์ลูกเรือประมงหรือไม่? โดยในเบื้องต้นเนื้อหาโดยสรุปชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและการให้ความช่วยเหลือกรณีแรงงานไทยและต่างชาติที่ถูกหลอกไปยังประเทศอินโดนีเซีย