ป.ป.ช.ส่งกลับสนช.ปมถอด“นิคม-สมศักดิ์”-ทบทวนคดี“ปู-39 ส.ว.”ต่อ
ป.ป.ช. โยนกลับคดีถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” ยันทำตาม ม.64 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ชี้ สนช. ทำหน้าที่เหมือนสภา - ถกคดีถอดถอน “ปู- 39 ส.ว.” ต่อ หากขัดตาม ม.58 พ.ร.บ.ป.ป.ช. ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูล เสนอ กก.ป.ป.ช. พิจารณา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีเจ้าหน้าที่กลุ่มงานถอดถอนและตรวจสอบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นำเอกสารสำนวนคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา จากกรณีการแก้ไขรับธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบ จำนวน 24 แฟ้มคดี เพื่อให้ ป.ป.ช. นำไปพิจารณาข้อกฎหมายใหม่ เนื่องจากสำนวนเดิมที่ ป.ป.ช. ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเป็นการอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งปัจจุบันไม่มีการบังคับใช้แล้ว จึงต้องให้ ป.ป.ช. พิจารณาตามหลักข้อกฎหมายให้ครบถ้วน
ต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามที่ประธาน สนช. ได้ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ประธานวุฒิสภาพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2557 และวันที่ 4 เมษายน 2557 คืนมายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากปัจจุบันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 มีผลบังคับใช้แล้วนั้น
บัดนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเสียงข้างมาก เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการกรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 64 ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 มาตรา 6 วรรคสอง ซึ่งระบุให้ สนช. ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังประธาน สนช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติเป็นหลักการเกี่ยวกับกรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว และกรณีถอดถอนอดีต ส.ว. จำนวน 39 ราย ในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบ รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ด้วยว่า หากเป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหา ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามมาตรา 58 ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไป จึงให้พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าว แล้วเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง