แพทย์พบ “เด็กอุ้มผางร้อยละ 60 มีสารตะกั่วในเลือด” อันตรายต่อพัฒนาการสมอง
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ลงพื้นที่ อ.อุ้มผาง หลังพบรายงานเด็กร้อยละ 60 มีสารตะกั่วในเลือดในระดับชะลอพัฒนาการทางสมอง แต่ยังหาสาเหตุไม่ได้ เตรียมระดมหน่วยงานเกี่ยวข้องหาทางดูแล
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจัด “โครงการอาหารปลอดภัย เด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก” โดย พญ.นัยนา ณีศะนันท์ นำทีมลงพื้นที่อำเภออุ้มผางที่มีรายงานการพบสารตะกั่วในร่างกายเด็กพม่าที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพบริเวณชายแดนติดกับประเทศไทยสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด ทำให้ไทยต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบร่างกายของเด็กในอำเภออุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยเมื่อปี 2553 ได้ทำการตรวจเด็กอายุ 11–8 ปี 220 คน และปี 2554 ตรวจเด็กอายุ 1-2 ขวบ 225 คน โดยจำนวนนี้เป็นเด็กรายใหม่ 151 คน ผลการตรวจพบว่าร้อยละ 60 มีระดับสารตะกั่วในเลือดเกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งจะทำให้พัฒนาการทางสมองไม่เติบโตเท่าที่ควร
ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นย่านโรงงานอุตสาหกรรม และจากการตรวจสอบน้ำและฝุ่น พบว่าบางบ้านมีการปนเปื้อนสารตะกั่ว แต่บางบ้านไม่พบ จึงยากที่จะหาสาเหตุ ดังนั้นขั้นตอนต่อจากนี้จะร่วมมือกับสาธารณสุขอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาในเด็ก มาหารือในการกำหนดแนวทางดูแลสุขภาพเด็กที่เหมาะสม โดยในระยะสั้นจะให้ข้อมูลขั้นพื้นฐานเรื่องการป้องกันและดูแลสุขภาพตัวเองโดยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานวิตามีนซี และธาตุเหล็ก
สำหรับในชุมชนเมืองก็มีความเสี่ยงในการได้รับสารตะกั่วเช่นเดียวกันโดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ โรงงานภาชนะเคลือบสีที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ทาสีมานานแล้วจนมีการหลุดลอกอาจทำให้ร่างกายได้รับสารตะกั่วได้ ซึ่งการป้องกันที่ดีคือการสวมหน้ากากอนามัย และควรเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ก่อนกลับบ้าน
“ไม่มีค่าระดับตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยเฉพาะระดับที่มากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ไม่สามารถยอมรับได้” พญ.นัยนา กล่าว
ด้าน พญ.รัตโนทัย พลับรู้การ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่าเด็กมีโอกาสสัมผัสกับสารตะกั่วที่อยู่ในธรรมชาติได้อย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในขวดนมสำหรับเด็กที่ผลิตจากโพลิคาร์บอเนต ซึ่งมีสารบีพีเอ (BPA) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง อาจไปขัดขวางการทำงานของฮฮร์โมนในร่างกายและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ได้ ดังนั้นจึงขอรณรงค์ให้ผู้ปกครองหันมาใช้ขวดนมที่ผลิตจากพลาสติก polypropylene หรือ PP แทน
ทั้งนี้ในหลายประเทศ เช่น แคนาดา จีน มาเลเซีย ได้ยกเลิกการใช้ขวดนมที่มีสารบีพีเอแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีการจำหน่ายอยู่ ดังนั้นขอให้ผู้ปกครองสังเกตให้ดี เพราะขวดนมที่มีสารพีบีเอนั้นจะมีตัวเลข 7 อยู่ที่ก้นขวด ส่วนขวดนมที่ทำมาจากสารพีพีจะมีตัวเลข 5 อยู่ที่ก้นขวด .
ที่มาภาพ : http://renaultclubthai.com/forum/forum_posts.asp?TID=4729&PN=1