เผย สปสช.รักษาโรคต้อกระจก 7 ปี ช่วยผู้ป่วยแล้วเกือบล้านราย
“หมอรัชตะ” เผย ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รุกงานรักษาโรคต้อกระจก 7 ปี ผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้วเกือบ 1 ล้านรายทั่วประเทศ หรือร้อยละ 45.9 ของผู้ป่วยที่ต้องการรักษา ลดผู้ป่วยตกค้างรอคิวผ่าตัด ระบุในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยวิกฤตอยู่ในภาวะตาบอด 1.2 แสนราย สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ด้าน “รองเลขาธิการ สปสช.” เผย เตรียมเดินหนุนรักษาต่อเนื่อง เน้นพื้นที่จำกัดบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคต้อกระจกนับเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย จากรายงานผลการสำรวจสภาวะตาบอด สายตาเลือนราง โรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ครั้งที่ 4 ในประเทศไทยระบุว่า ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าประชาชนมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาอย่างมาก ทั้งจากข้อจำกัดของหน่วยบริการและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้หน่วยบริการของรัฐสามารถผ่าตัดต้อกระจกให้กับผู้ป่วยได้เพียง 40,000 รายต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้มีผู้ป่วยต้อกระจกที่ตกค้างและรอคิวผ่าตัดจำนวนมาก โดยในจำนวนนี้มีภาวะตาบอดรวมอยู่ด้วย จากผลวิจัยปี 2549 -2550 มีประชาชนที่มีภาวะตาบอดถึงร้อยละ 0.59 ของจำนวนประชากร ในจำนวนนี้ร้อยละ 51.89 เกิดจากโรคต้อกระจก นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กว่าร้อยละ 50 จะเป็นโรคต้อกระจก ขณะที่อัตราความชุกต้อกระจกทุกกลุ่มอายุจะอยู่ที่ร้อยละ 9.22
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า เมื่อดูเฉพาะประชากรผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน พบว่าในจำนวนนี้เป็นต้อกระจกถึง 4.3 ล้านราย และจากอุบัติการณ์ดังกล่าว หากไม่มีการเร่งรัดจัดบริการผ่าตัด จะมีคนตาบอดจากโรคต้อกระจกเพิ่มขึ้น 42,840 ราย เป็นไปตามอัตราจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นตามฐานประชากร นอกจากนี้ยังพบว่าปี 2549-2550 มีผู้ป่วยอยู่ในภาวะตาบอดจากโรคต้อกระจกและรอการผ่าตัดอยู่ถึง 120,000 ราย
“จากสถานการณ์ดังกล่าว สปสช.จึงกำหนดให้มีการบริหารจัดการโรคต้อกระจกขึ้นมาเป็นบริการเฉพาะ เนื่องจากเป็นบริการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก และเห็นผลลัพธ์บริการได้ทันที เพียงผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดและเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมก็จะกลับมามีการมองเห็นเป็นปกติ โดย สปสช.ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) มูลนิธิการกุศลต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันดำเนินโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกเชิงรุกในพื้นที่ที่เป็นปัญหาการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ขาดแคลนจักษุแพทย์และทุรกันดาร” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากที่ สปสช.ได้บริหารจัดการโรคต้อกระจกเป็นบริการเฉพาะ ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2550-2557 มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดไปแล้ว 988,308 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 45.9 ของกลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับการผ่าตัดตามเกณฑ์ที่กำหนด ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะตาบอด 128,480 ราย และจากที่ได้บริหารเชิงรุกยังส่งผลให้ผู้ป่วยต้อกระจกได้รับการผ่าตัดเพิ่มขึ้นจาก 65,000 ราย ในปี 2555 เป็น 100,000 ราย ในปี 2556 ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดจากต้อกระจกที่ตกค้างการรักษาได้รับบริการเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 15.7 ในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.1 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัตราการเข้าถึงบริการผ่าตัดของผู้ป่วยโรคต้อกระจกจะดีขึ้นกว่าในระยะแรกมาก แต่พบว่าบางพื้นที่ยังมีข้อจำกัดด้านบริการ เช่น จำนวนจักษุแพทย์ไม่เพียงพอ ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากร เช่น บางจังหวัดในเขตภาคอีสาน พื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นจำเป็นที่ สปสช.และ สธ.ต้องร่วมกันสนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเข้าถึงบริการเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป