4 ประเด็นท้าทายไฟใต้ปีงบประมาณ 58
อีก 2 วัน (นับวันนี้ด้วย) ก็จะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2557 และเริ่มปีงบประมาณ 2558 ในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งที่ชายแดนใต้จะมีการเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้รับผิดชอบปัญหา (ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4) จาก พล.ท.วลิต โรจนภักดี เป็น พล.ต.ปราการ ชลยุทธ ทั้งๆ ที่ พล.ท.วลิต เพิ่งได้ทำงานพิสูจน์ฝีมือเพียง 6 เดือนเท่านั้น
ขณะที่ในปีงบประมาณ 2557 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ คือ การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. (หลังจาก พล.ท.วลิต เข้ารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ไม่ถึง 2 เดือน) บางคนก็ว่ามีผลต่อปัญหาไฟใต้ แต่บางคนก็บอกว่าไม่มีผลอะไร
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้จึงน่าสรุปสถานการณ์ไฟใต้ที่ดูจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในห้วงที่ผ่านมา...
1.สถานการณ์ความรุนแรงลดระดับลงพอสมควร พิจารณาจากสถิติตัวเลขที่เก็บรวบรวมโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พบว่า
O เดือน พ.ค. มีเหตุรุนแรง 45 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 24 เหตุการณ์ ระเบิด 17 เหตุการณ์ ก่อกวน 1 เหตุการณ์ ลอบวางเพลิง 3 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 127 ราย
O เดือน มิ.ย. มีเหตุรุนแรง 60 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 39 เหตุการณ์ ระเบิด 12 เหตุการณ์ ก่อกวน 5 เหตุการณ์ ลอบวางเพลิง 4 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 34 ราย บาดเจ็บ 47 ราย
O เดือน ก.ค. มีเหตุรุนแรง 40 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 25 เหตุการณ์ ระเบิด 14 เหตุการณ์ ก่อกวน 1 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บ 104 ราย
O เดือน ส.ค. มีเหตุรุนแรง 36 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 19 เหตุการณ์ ระเบิด 13 เหตุการณ์ ก่อกวน 4 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 40 ราย
ขณะที่ห้วงเวลาก่อนหน้านั้น คือ เดือน ม.ค.ถึง เม.ย.57 เกือบทุกเดือนมีเหตุรุนแรงเกิน 50 เหตุการณ์ โดยที่เดือน ก.พ.มีถึง 62 เหตุการณ์ มีเพียงเดือนเดียวที่ปรากฏเหตุรุนแรงน้อย คือ เดือน เม.ย. จำนวน 29 เหตุการณ์ แต่เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดพบว่ามีปัญหาเรื่องการนับจำนวนเหตุการณ์ เพราะเหตุระเบิดกลางเมืองยะลา 2 วันซ้อน คือ วันที่ 6 กับ 7 เม.ย. นับเป็นวันละ 1 เหตุการณ์เท่านั้น ทั้งๆ ที่แต่ละวันมีระเบิดเกิดขึ้นมากกว่า 1 จุด
2.เหตุรุนแรงที่ลดจำนวนลงเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานของ พล.ท.วลิต ที่สามารถแปรนโยบายของ คปต. หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่การปฏิบัติได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแผนงานการรักษาความปลอดภัย ทั้งยังประสานกับหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ อย่างมีเอกภาพ แม้เขาจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของสื่อและผู้นำในพื้นที่บางส่วนก็ตาม
3.เป็นผลส่วนหนึ่งจากข้อ 2 คือ ฝ่ายความมั่นคง (ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง) ได้เปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นตรงเป้าหลายครั้ง จับกุมผู้ก่อความไม่สงบคนสำคัญได้หลายราย เช่น มือประกอบระเบิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทลายฐานฝึกบนภูเขาใน จ.นราธิวาส และการบุกค้นสถานที่ที่เชื่อว่าใช้เป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดความเชื่อใน จ.ปัตตานี นอกจากนั้นยังมีปฏิบัติการทลายอิทธิพลที่เป็น "ภัยแทรกซ้อน" และการส่งกำลังเข้าสกัดหรือตรวจค้นก่อนเกิดเหตุการณ์ ทั้งหมดนี้ทำให้ความรุนแรงลดระดับ
4.ทิศทางการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างซึ่งเชื่อมโยงกับผู้ใช้ความรุนแรงหลายกลุ่มรอดูความคืบหน้าและผล
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2558 ยังมีประเด็นท้าทายใหม่ๆ ในภารกิจดับไฟใต้ ดังนี้
1.แม่ทัพภาค 4 คนใหม่ คือ พล.ต.ปราการ เป็นสายพิราบ แม้เป็นที่ชื่นชอบของภาคประชาสังคม แต่ต้องรอดูว่าจะเดินตามแผนงานรักษาความปลอดภัยได้เต็มประสิทธิภาพเหมือน พล.ท.วลิต หรือไม่ โดยเฉพาะหากในอนาคตผลการพูดคุยสันติสุขไม่เป็นที่พึงพอใจของกลุ่มผู้เห็นต่าง
2.การก่อกำเนิดขึ้นของกองทัพน้อยที่ 4 (ทน.4) ซึ่งคาดว่าจะเข้ามารับหน้าที่แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง เพื่อเปิดช่องให้แม่ทัพไปทำภารกิจอื่นบ้าง เพราะในภาคใต้ยังมีปัญหาอีกหลายปัญหา เช่น แรงงานต่างด้าว ผู้หลบหนีเข้าเมือง ทั้งโรฮิงญา อุยกูร์ ซึ่งล้วนกระทบต่อความมั่นคงทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาแม่ทัพภาคที่ 4 สาละวนอยู่กับปัญหาชายแดนใต้เป็นหลัก
ล่าสุด ทน.4 จะเริ่มทำงานในวันที่ 1 ต.ค.นี้ และมี พล.ท.กิตติ อินทสร ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายข่าว ดำรงตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 4 คนแรก
หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่า การแบ่งส่วนงานและให้น้ำหนักของงานระหว่าง ทน.4 กับกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. จะลงตัวหรือไม่ โดยเฉพาะการประสานงานระหว่าง พล.ท.กิตติ ซึ่งเป็นลูกหม้อกองทัพภาคที่ 4 (เคยเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 แคนดิเดตแม่ทัพ) และเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 (ตท.14) เป็นนายทหารรุ่นพี่ของ พล.ต.ปราการ แม่ทัพคนใหม่ ซึ่งเป็นนายทหาร ตท.15 และเติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 3
3.การเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) ซึ่งพลิกโผจาก พล.ต.ท.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ หัวหน้าชุดเครื่องมือพิเศษฯ ที่ทำงานเกาะติดพื้้นที่ เกาะติดความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ก่อความไม่สงบอย่างใกล้ชิด เป็น พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ จเรตำรวจ (สบ 8) จะส่งผลคล้ายๆ ข้อแรก เพราะ พล.ต.ท.อนุรุต ไม่ใช่สายบู๊เหมือน พล.ต.ท.สุชาติ แต่เป็นมือทำงบประมาณ เชี่ยวชาญงานจัดซื้อจัดจ้าง และทำโครงการพัฒนาต่างๆ ก็ต้องรอลุ้นว่าจะมีผลต่อสถานการณ์แค่ไหน
4.ผลคืบหน้าของการพูดคุยสันติสุขจะเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดสถานการณ์ข้างหน้า จึงเป็นประเด็นท้าทายคณะพูดคุยชุดใหม่เป็นอย่างยิ่งว่า จะชักชวนให้กลุ่มผู้เห็นต่างหันมาคุยเรื่องการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยก้าวข้ามเรื่องเอกราช แยกดินแดน และเขตปกครองพิเศษที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศชัดว่า "ไม่คุย" ได้อย่างไร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงตัวเลขเหตุรุนแรงชายแดนใต้และความสูญเสีย ตั้งแต่เดือน พ.ค.57 ซึ่งเป็นเดือนที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง จนถึงเดือน ส.ค.57
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนในรายงานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "แกะรอย" ปกโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 29 ก.ย.57