อัพเดทขุมข่าย"ท้อปบู๊ต คสช." นั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ยุค"ทหาร"เป็นใหญ่
ปฏิทินปีงบประมาณ 2558 ในหลายหน่วยงานภาครัฐบาลของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังดำเนินไป อีกหนึ่งองคาพยพสำคัญที่ต้องตรวจแถวควบคู่กันไปด้วย ก็คือการแต่งตั้ง "บอร์ดรัฐวิสาหกิจ" ของหลายหน่วยงานภาครัฐในยุคทหารเป็นใหญ่เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ารัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจเกรดเอหลายแห่ง ล้วนบ่อเงินบ่อทองสำคัญที่มีผลประโยชน์มากมายมหาศาลในแต่ละปี และหลายยุคก็มีการวิ่งเต้นของเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจกันมาตลอด อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจก็คือ ฐานอำนาจการเงินการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐในยุคนั้นๆ ที่จะตั้งคนของตัวเองไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อคุมผลประโยชน์ดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในเวลานี้
การตั้งบิ๊กทหารไปนั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ข่าวบอกว่าให้จับตากันต่อไป ยังคงมีต่อเนื่อง เพราะมีรัฐวิสาหกิจอีกบางแห่งทางรัฐบาลและคสช.กำลังตกแต่งให้เข้าที่เข้าทาง หลังบอร์ดบางแห่งว่างลง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าหลังผ่านพ้นการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีเสร็จสิ้นหมดทุกหน่วยงานแล้ว รัฐบาล และ คสช. ก็อาจมีการเขย่าโผบอร์ดรัฐวิสาหกิจบางแห่งเป็นลำดับต่อไป
อย่าง บริษัท อสทม. จำกัด (มหาชน) ที่ต้องหาคนไปแทน พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหมลาออกไปรับตำแหน่งรมว.แรงงาน เช่นเดียวกับ มล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ลาออกไปเป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่มล.ปนัดดา ลาออกจากประธานบอร์ด ฯ เช่นกัน หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน อาทิ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย เช่น การไฟฟ้านครหลวง-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หากฝ่ายการเมืองเห็นควรให้ปรับเปลี่ยน ก็ต้องนำรายชื่อเข้าที่ประชุมครม.ให้เห็นชอบต่อไป
ไล่ตรวจแถวบอร์ดรัฐวิสาหกิจบนการอัพเดทข้อมูลล่าสุดเพื่อดูว่ายุคคสช. บอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง มีโฉมหน้าเป็นอย่างไร ก็อย่างล่าสุดไม่นานมานี้ก็คือ การแต่งตั้งบอร์ด "บริษัทไปรษณีย์ไทย" ที่แม้อาจไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเกรดเอ จึงไม่ค่อยมีใครสนใจมากนักว่ามีการตั้งใครไปเป็นบอร์ดแห่งนี้ ซึ่งเมื่อตรวจดูรายชื่อก็พบว่ามีบิ๊กทหารเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดบริษัทนี้เช่นกัน
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 ของบริษัทไปรษณีย์ไทย พบว่ากระทรวงการคลังได้เสนอแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ขอลาออก จำนวน 5 คน เช่น นายดอน ภาสะวณิช แทน นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร - พลโท สาธิต พิธรัตน์ แทน นางสาวนงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ - นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล แทน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เป็นต้น
สำหรับพลโท สาธิต พิธรัตน์ (เตรียมทหารรุ่น 15) ไม่ธรรมดาอย่างยิ่งเนื่องจากเวลานี้เป็นแม่ทัพน้อยที่ 3 แต่ 1ตุลาคมนี้ จะเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 คุมพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ที่คนคาดกันว่า พลโทสาธิต ก็คือคนซึ่งพลโทปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 น้องชายพลเอกประยุทธ์ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 ผลักดันให้พลโทสาธิต ขึ้นมาให้มารับไม้เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ต่อจากตนเองที่จะขึ้นเป็นพลเอกในตำแหน่งผช.ผบ.ทบ. และคาดว่าพลโทสาธิต จะมีตำแหน่งใหญ่มากขึ้นหลังจากนี้แน่นอน
ขณะที่รัฐวิสาหกิจเกรดเอแม้ตอนนี้จะประสบปัญหาขาดทุนมหาศาลอย่าง "บริษัทการบินไทย" แถมยุคนี้ ทางคสช.ก็มีนโยบายรัดเข็มขัด ลดสวัสดิการบอร์ดกันหลายเรื่องแต่ก็ยังเป็นบอร์ดที่ทุกคนต่างก็อยากมานั่งกันมากเป็นลำดับต้น ๆ
รายชื่อบอร์ดการบินไทย พบว่ามีชื่อของ พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ที่จะติดยศพลเอกแล้วในเดือนหน้าในตำแหน่งใหม่ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก โดยพล.ท.อนันตพร ถือเป็นนายทหารที่ได้รับความไว้วางใจจากพลเอกประยุทธ์มาก เจ้าตัวมีตำแหน่งมากมายเวลานี้เช่นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ - ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ ที่กำลังเร่งแก้ไขปัญหาหนี้เสียจำนวนมหาศาลของขสมก. แต่ที่มีบทบาทมากสุดก็คือ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ (คตร.) ที่ออกมาตรวจสอบโครงการใหญ่ ๆ ในหลายหน่วยงานแม้แต่องค์กรอิสระ เช่น สำนักงาน กสทช. และ ล่าสุด ก็เข้ามาตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อไมค์และอุปกรณ์ติดตั้งในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่กำลังถูกสังคมเพ่งเล็งในเวลานี้ รวมถึงยังมีชื่อนายทหารอีกหลายคน อาทิ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ว่าที่ผบ.ทอ.คนใหม่ และยังเป็น 1 ใน 15 รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งในบอร์ดคสช.อีกด้วย
ขณะที่ "บริษัทท่าอากาศยานไทย(ทอท.)" พบว่ามีชื่อ พล.อ.ท.จอม รุ่งสว่าง รองเสนาธิการทหารอากาศ ที่เดือนหน้าจะเป็น พล.อ.อ.แล้วในตำแหน่งใหญ่ของทัพฟ้าคือเสนาธิการทหารอากาศ ควบคู่ไปกับการได้เป็นสนช.อีกหนึ่งตำแหน่ง
ฟากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็มีชื่อ "บิ๊กยอด พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ" ที่เป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 12 กับพลเอกประยุทธ์แต่เกษียณไปก่อนล่วงหน้า นั่งเป็นประธานบอร์ดรฟม.อยู่ สำหรับบิ๊กยอด แม้จะไม่ใช่อดีตทหารระดับผู้นำเหล่าทัพ แต่ก็ผ่านการคุมตำแหน่งสำคัญมาไม่น้อย เช่น ผบ.หน่วยบัญชาการป้องภัยทางอากาศทบ. (ผบ.นปอ.) -ผบ.กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน(ปตอ.พัน1รอ.) - หัวหน้าคณะนายทหารฝายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา (ผบ.ทบ.) โดยหลังรัฐประหารใหม่ ๆ ตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจคสช. และตอนนี้ยังมีตำแหน่งเป็นสนช.อีกหนึ่งเก้าอี้ ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่มีหนี้สะสมมากอย่าง "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)" ก็มี พลตรีวราห์ บุญญะสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ไปนั่งเป็นบอร์ดหลายเดือนแล้ว
ส่วน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก็มีบิ๊กทหารนั่งอยู่เช่นกัน แถมเป็นประธานบอร์ดอีกด้วย คือ พลเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฎ และยังมีชื่อ พล.อ.ท.บรรจง คลายนสูตร์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ พลเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฎ ปัจจุบันคือผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เกษียณอายุราชการปีนี้ ก่อนหน้านี้ผ่านตำแหน่งใหญ่คือ อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง หรือเจ้ากรมทหารช่าง ล่าสุดเจ้าตัวไปสมัครเป็นสปช.ด้านบริหารราชการแผ่นดินที่มีลุ้นไม่น้อย ส่วน พล.อ.ท.บรรจง คลายนสูตร์ ปัจจุบันเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพอากาศ อดีตเจ้ากรมช่างโยธาทหารอากาศ ล่าสุดพล.อ.อ.ประจิน รมว.คมนาคม ตั้งเป็นที่ปรึกษารมว.คมนาคม
อีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจ กระทรวงคมนาคม ที่มีความสำคัญไม่น้อยคือ "การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)" หลังหมดยุคบิ๊กแจ็ส เมื่อ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตประธานบอร์ดที่นำทีมลาออกหลังการมาของ คสช. ที่คสช. ก็ไม่รอช้ามีการแต่งตั้งบอร์ดกทท.ชุดใหม่ในเวลาไม่นาน โดยมีทหารเข้ามานั่งด้วยถึง 3 คน คือพล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวัฒนะ อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ ที่มานั่งเป็นประธานบอร์ดการท่าเรือฯ - พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รองเสธ.ทบ. อีกหนึ่งเพื่อนสนิท (ตท.15)กับพลโทปรีชา จันทร์โอชา น้องชายนายกฯ ที่ขึ้นเป็นเสนาธิการทหารบกในเดือนหน้าควบคู่กับการทำหน้าที่สนช. และคนสุดท้าย พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ รองผบ.ทร. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะเกษียณสิ้นเดือนนี้
ข้ามฟากจากกระทรวงคมนาคมมาที่กระทรวงพลังงาน อันเป็นกระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจเกรดซุปเปอร์เอซึ่งทุกคนอยากเป็นบอร์ดกันมากที่สุดอยู่ในสังกัด นั่นก็คือ "บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)" ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมีชื่อ "บิ๊กต็อก-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา" ผช.ผบ.ทบ.นั่งเป็นกรรมการอิสระอยู่ด้วย แต่ตอนนี้ลาออกไปเป็นรมว.ยุติธรรมแล้ว ขณะที่บริษัทในเครือ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. PTTEP ตอนนี้ก็มีบอร์ดเป็นทหารเช่นกัน คือ พล.ร.อ.ธนะรัตน์ อุบล ที่มาแทน พลเอกพรชัย กรานเลิศ ตท.10 เพื่อนสนิทพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรวมถึงพันเอกนิมิตต์ สุวรรณรัฐ ที่มาแทน พลเอกวรวัฒน์ อินทรทัต อีกหนึ่งตท.10
สำหรับ พล.ร.อ.ธนะรัตน์ อุบล (ตท.13) ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ แต่เดือนหน้าขึ้นเป็นเสนาธิการทหารเรือหนึ่งปีก่อนเกษียณ ส่วนพันเอกนิมิตต์ สุวรรณรัฐ นายทหารนามสกุลดัง ตามข่าวก่อนหน้านี้บอกว่าเป็นลูกน้องคนสนิทของ บิ๊กยอด พลเอกยอดยุทธ ประธานบอร์ดกทพ. เพราะเคยเป็นทหารสังกัดหน่วย กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) ที่บิ๊กยอดเป็นผบ.นปอ.มาก่อน
อีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงานที่สำคัญ คือ "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)" ก็มี บิ๊กโชย พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก - ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และสนช. นั่งเป็นบอร์ดอยู่ ส่วนใครจะมาเป็นประธานบอร์ดคนใหม่แทน "หม่อมเลน-ปนัดดา" ต้องรอดูกันต่อไป
ขณะที่รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารในสังกัดกระทรวงไอซีที ที่น่าสนใจก็เช่นบมจ.กสท โทรคมนาคมหรือการสื่อสารแห่งประเทศไทยเดิม ก็มีแกนนำกองทัพอย่าง "บิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหาร - ว่าที่ปลัดกระทรวงกลาโหม" เป็นประธานบอร์ด บอร์ดที่เหลือมีทหารมาร่วมด้วยอีกถึง 3 คน ได้แก่ พล.ต.อรรถพงศ์ ศิริวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นอดีตนายทหารปฏิบัติการยุทธการทหารในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ( ศอฉ. ) ช่วงเสื้อแดงชุมนุมปี 53 - พล.ต.สุชาติ ผ่องพุฒิ รองเจ้ากรมทหารสื่อสาร ก่อนหน้านี้เป็นหัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อของคสช. ที่จะขึ้นเป็นเจ้ากรมทหารสื่อสารเดือนหน้า ส่วนทหารอีกคนคือน.อ.สรรพชัย หุวะนันท์ แต่พบว่าเป็นบอร์ดมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว
การตั้งทหาร-อดีตบิ๊กกองทัพไปนั่งเป็นบอร์ดต่างๆ พบว่ากระจายไปหลายหน่วยงาน ไม่เว้นแม้แต่องค์กรในกระทรวงสาธารณสุข อย่าง "องค์การเภสัชกรรม" ที่มีผลประโยชน์มากมายมหาศาล ก็น่าสนใจเช่นกันเพราะก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมกระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด เรื่องแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ถึงสาธารณสุข โดยในหนังสือระบุแต่งตั้งให้ พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร เป็นประธานบอร์ด
ถามว่า พล.ท.ศุภกรคือใคร คำตอบก็คือ ตอนนี้มีตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ควบคู่ไปกับตำแหน่งที่พลเอกประยุทธ์ ตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วต้นเดือนตุลาคมก็จะขยับขึ้นไปเป็นรองเสนาธิการทหารบกนั่นเอง
ส่วนผู้บริหารในบอร์ดสังกัดกระทรวงการคลัง ก็มีเช่นกัน อย่างที่เด่น ๆ เลยก็คือ “โรงงานยาสูบ” ที่มี ประธานบอร์ด คือ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เพื่อนร่วมรุ่นตท.12 ล่าสุดเคยมีสถานะการเมืองเป็น นายกฯน้อย ทำเนียบรัฐบาล คือ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ่วงไปกับตำแหน่ง สนช.อีก สรุปว่าเวลานี้ พล.อ.วิลาศ สวมหมวกสามใบ ทั้งประธานบอร์ดโรงงานยาสูบ - สนช. -เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
บอกแล้ว ยุค คสช. ทหารแยกร่างทำงานได้!
และอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ถือเป็นแหล่งปั้มเงินให้กับรัฐบาลและกระทรวงการคลังมาตลอดหลายสิบปี นั่นก็คือ "สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" ก็มี "พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์" เป็นผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่ที่มาแทน พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร อดีตนายตำรวจติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ลาออกไปทันทีหลังรัฐประหารได้ไม่กี่วัน โดยพล.ต.ฉลองรัฐ ก็ใช่ธรรมดาเพราะพบว่าก่อนหน้ามารับตำแหน่งนี้ ก็มีตำแหน่งทางทหาร คือ นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาสำนักงานผู้บัญชาการทหารบก อันแสดงให้เห็นว่า ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯก็คือคนที่ฝ่ายการเมืองจะส่งมานั่งประจำการเพื่อคุมขุมทรัพย์แห่งนี้ และเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว ตำแหน่งนี้ก็ต้องเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงนั้นทุกครั้งไป
เป็นความจริงที่เห็นได้ชัด การเมืองไทย ไม่ว่าจะยุคเลือกตั้งหรือยุครัฐประหาร บอร์ดรัฐวิสาหกิจคืออีกหนึ่งฐานอำนาจที่ผู้คุมอำนาจในช่วงนั้นๆ ก็ต้องเอาคนของตัวเองหรือเครือข่าย-คนใกล้ชิดไปนั่งเป็นบอร์ดกันทั้งสิ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติและยอมรับกันไปโดยปริยายแล้ว ไม่เว้นยุค คสช.ที่ชูธงปฏิรูป ก็ไม่เว้น!
ขอบคุณภาพโลโก้องค์กรต่าง ๆ จาก google.co.th