แนะคสช.-รบ.ตั้งเวทีเสวนาดึงนักวิชาการเห็นต่างร่วมถก
แนะคสช.-รัฐบาลตั้งเวทีเสวนา ดึงนักวิชาการเห็นต่างร่วมถก
จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าควบคุมตัว นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย พร้อมขอให้ยุติการบรรยายปาฐกถาเรื่อง “การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ” โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า หากจะมีการจัดเสวนาจะต้องส่งหัวข้อให้ทหารเป็นผู้พิจารณาก่อน รวมถึงกรณีการขอให้ยุติการจัดเสวนาวิชาการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากกลุ่มนักวิชาการอย่างมาก
ส่วนหนึ่งของกลุ่มนักวิชาการ ได้ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการร่วมลงชื่อของ 60 นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เพื่อประท้วงการดำเนินการที่มองว่า "เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ" และแม้ว่าภายหลัง คสช.ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ห้ามจัดเสวนาแต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือให้งดการจัดเสวนาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองออกไปก่อน หรือหากจะมีการจัดเสวนาครั้งต่อไปต้องส่งหัวข้อให้ทหารดูก่อนนั้น
ประเด็นนี้ก็ยังคงถูกตั้งคำถามจากสังคม รวมถึงนักวิชาการมากพอสมควร ถึงประเด็นอำนาจของ คสช.ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ขณะที่บางส่วนมีความกังวลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับนักวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น
นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เห็นว่า ประเด็นนี้จะต้องมาพิจารณาว่าการจัดเสวนาเป็นการปลุกเร้าหรือระดมมวลชนเพื่อให้ออกมาชุมนุมหรือไม่ ถ้าไม่มีลักษณะปลุกระดมมวลชน แต่เป็นการเสวนาวิชาการก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องเปิดพื้นที่ให้พูดอย่างเต็มที่เพื่อให้ความขัดแย้งบรรเทาเบาบางลง
"เห็นว่าถ้า คสช.มีความกังวล และไม่อยากให้มีการจัดเสวนา ก็ควรที่จะมีการจัดเสวนาเองโดยเชิญผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างมาพูดคุยกันมากกว่าที่จะห้ามไม่ให้มีการจัดเสวนา เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการสร้างแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดความคับข้องใจและออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่จะเป็นปัญหาต่อกระบวนการปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใด คิดว่าวิกฤติตรงนี้ควรเปลี่ยนเป็นการสร้างโอกาส โดยเอาพลังของแต่ละฝ่ายมาพูดคุยกัน"
ขณะที่ นายอุดม ทุมโฆสิต อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เห็นว่า เชื่อว่าหัวข้อที่ทางอาจารย์ธรรมศาสตร์จัดขึ้นนั้น คงต้องการส่งสัญญาณให้สังคมเห็นว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลคงไม่อยากให้ออกมาพูดหรือแสดงความเห็นเวลานี้ จึงใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎอัยการศึกมากำราบเรียกว่ากริ่งเกรงดีกว่า
"ถ้าผมเป็นรัฐบาลจะมองความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ จะประนีประนอมและชี้แจงสังคมว่าที่ไม่ต้องการให้เสวนาเรื่องการเมืองในเวลานี้เพราะอะไร อีกอย่างส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง เพราะทางออกที่ดียังมี ยิ่งไปทำอย่างนั้นคนส่วนใหญ่ยิ่งมองว่ารัฐบาลใช้กำลังไปรังแก ซึ่งไม่เป็นผลดีแน่หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง"
อาจารย์นิด้าผู้นี้ กล่าวด้วยว่า ต้องอย่าลืมว่านักวิชาการเหล่านั้น เป็นครูบาอาจารย์ มีลูกศิษย์ลูกหา มีญาติพี่น้อง และโดยหลักทางจิตวิทยาแล้วคนที่ถูกกระทำจะได้รับความเห็นใจมากกว่าผู้กระทำแน่ ถ้ายังเกิดอีกก็เข้าทางผู้จัดงาน และรัฐบาลจะเสียเปรียบ ส่วนตัวคาดว่าทางผู้จัดงานคาดล่วงหน้าแล้วว่าหากจัดงานขึ้นเวลานี้ในหัวข้อดังกล่าวจะเกิดอะไรตามมา
นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า นักวิชาการต้องทำตามกฎหมาย หากจะจัดงานเสวนาต้องทำหนังสือขออนุญาต คสช.ก่อน เพราะเป็นเผด็จการชัดแจ้งเกินไป ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ ก็มีความเป็นห่วงว่าอายุรัฐบาลจะอยู่ครบ 1 ปี หรือไม่
"อย่างไรก็ดี เข้าใจดีในเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ และปรับโหมดเข้าสู่การปฏิรูปประเทศและปรองดอง แต่อีกฝ่ายอาจตั้งใจป่วนให้ปวดหัว การรุกรับต้องหลากหลายมากกว่าไปพุ่งชนอย่างเดียว อย่าลืมว่าน้ำนิ่งอยู่ ไม่ได้หมายความว่าข้างใต้ไม่มีคลื่น" นายอุดม กล่าว
ส่วนความเห็นอีกด้านจาก นายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ถ้าจะถามว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่า "ใช่" แต่หากวัดสเกลในการแสดงความเห็นของนักวิชาการในการแสดงความคิดเห็น ยังถือว่า "น้อยมาก" เพราะขณะนี้ยังมีเวทีเสวนาอื่นๆ อีกหลายเวทีที่ยังสามารถจัดการเสวนาได้ตามปกติ
สำหรับข้อกังวลที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับนักวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น เห็นว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นเพราะนักวิชาการโดยเฉพาะกลุ่ม 60 นักวิชาการที่ออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าวก็เป็นเพียงแค่การเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งนักวิชาการเหล่านั้นมีน้ำหนักทางวิชาการมากน้อยแค่ไหน
อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้นี้ ทิ้งท้ายว่า "การจัดเสวนานั้น ถ้าเป็นการจัดเสวนาที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจหรือการปฏิรูปประเทศ เชื่อว่ารัฐบาลและคสช.คงไม่ขัดข้อง แต่หากเป็นการเสวนาที่เกี่ยวกับการเมืองหรือมีเนื้อหาที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ขอถามว่าตรงนี้เป็นการใช้เสรีภาพที่แท้จริงหรือไม่"
ขอบคุณข่าวจาก