เจาะไอร้องคว้า "โรงพักยอดเยี่ยม" ต้นแบบพัฒนาสถานีตำรวจชายแดนใต้
สภ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ได้รับเลือกจากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็น "โรงพักต้นแบบ" ด้านการพัฒนาสถานี คว้ารางวัลสุดยอดเกียรติยศตำรวจไทย ประจำปี 2557
กล่าวสำหรับ สภ.เจาะไอร้อง หนึ่งในกว่า 30 โรงพักปลายด้ามขวาน ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้รับรางวัล แต่สถานีตำรวจแห่งนี้เคยได้รับรางวัลโรงพักต้นแบบ "ป้าย3ภาษา" มาแล้ว เพราะป้ายบนสถานีมีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษามลายู
การปรากฏภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนป้ายต่างๆ รวมทั้งบนโรงพักย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกในโลกยุคปัจจุบัน แต่การมีภาษามลายูบนป้ายด้วย สะท้อนถึงอัตลักษณ์พิเศษแห่งพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์มลายู นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสาร
พ.ต.อ.สุชาติ สะอิ ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.เจาะไอร้อง เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2555 ที่ พ.ต.อ.ประยงค์ โคตรสาขา เข้ารับตำแหน่ง ผกก. ท่านเป็นคนคิดริเริ่มการติดตั้งป้าย 3 ภาษาเพื่อเป็นการต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และเพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับประชาชนที่มาติดต่อราชการบนโรงพัก ซึ่งส่วนใหญ่ 99% เป็นพี่น้องมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ทำให้ที่ผ่านมาสื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจ จึงจำเป็นต้องมีภาษามลายูถิ่นเข้ามาช่วย
"เมื่อก่อนชาวบ้านจะมาติดต่อราชการต้องพาผู้นำศาสนาหรือผู้นำหมู่บ้านที่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้มาเป็นคนกลางในการประสานงาน ทำให้ประชาชนต้องลำบาก ท่านอดีตผู้กำกับฯจึงจัดทำป้ายภาษามลายูเพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้อง โดยเฉพาะชาวมุสลิม"
"ขณะเดียวกันก็ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถใช้ภาษามลายูถิ่นได้อย่างถูกต้อง เพื่อต้อนรับประชาชนที่มาติดต่อราชการ พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ตลอดจนให้อำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านเพื่อความเข้าใจตรงกัน ไม่คลาดเคลื่อน และสื่อสารกันง่ายมากขึ้น อันจะทำให้เกิดความไว้วางใจ อยากใช้บริการ และเชื่อมั่นต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่"
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้มา ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวบ้าน เวลามาติดต่อราชการก็ไม่ต้องไปรบกวนผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นให้พามาอีกแล้ว เพราะสามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการได้เลย ทำให้เกิดความพึงพอใจและไว้วางใจในตัวเจ้าหน้าที่มากขึ้นกว่าเดิม
"อดีต ผกก.ประยงค์ ย้ายไป สภ.ตากใบ เมื่อปีที่แล้ว ผมเข้ามารับตำแหน่งต่อ ก็ได้สานต่อโครงการ และนำเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมภาษามลายูถิ่นเพื่อให้สามารถสื่อสารกับประชาชนได้เป็นอย่างดี อันจะช่วยสร้างความร่วมมือ ลดปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งลดความเข้าใจผิดต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง" ผกก.สภ.เจาะไอร้อง ระบุ
การเปิดกว้างเรื่องภาษาและวัฒนธรรมในดินแดนปลายด้ามขวาน นอกจากจะเป็นแนวคิดของ พ.ต.อ.ประยงค์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แล้ว ยังได้รับการกระตุ้นจากกลุุ่มนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 (4 ส.2) ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งขับเคลื่อนผลักดันแนวคิด "สันติธานี" ในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย
แนวคิดดังกล่าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์ "วิถีวัฒนธรรมนำการเมืองและการทหาร" ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ถูกนำไปทดลองใช้เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งและลดเงื่อนไขในพื้นที่
หลักการก็คือ ปรับเปลี่ยนการให้บริการขั้นพื้นฐานของรัฐให้สอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ ความเชื่อ หลักการทางศาสนา และวัฒนธรรมของคนสามจังหวัด เพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจ ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ซึ่งผลจากความรู้สึกตรงนั้นจะแปรเป็นพลังร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้ปลอดจากความรุนแรง มีแต่ความเข้าอกเข้าใจ
จากแนวคิดดังกล่าวได้แปรเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ สู่โครงการนำร่องที่ใช้ชื่อว่า "สันติธานี พื้นที่วิถีวัฒนธรรมสู่สันติสุขชายแดนใต้" โดยสร้าง "เมืองจำลอง" ขึ้นในพื้นที่จริงตามหลักการของ "สันติธานี"
ทั้งนี้ กิจกรรมที่มุ่งปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องพื้นฐาน 3 เรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับทุกคน นั่นก็คือ การศึกษา การสาธารณสุข และการอำนวยความยุติธรรมลำดับต้น ซึ่งเรื่องที่ 3 หมายถึง "ตำรวจ" นั่นเอง
และพื้นที่เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ก็ได้รับเลือกเป็นพื้นที่สำหรับทำโครงการนำร่อง เริ่มจากการลดอุปสรรคด้านภาษา
พิชญ์ดา เดอเยซูซ์ นักศึกษา 4 ส.2 นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง กล่าวว่า สภ.เจาะไอร้อง ให้ความสำคัญกับแนวคิดสันติธานีมาก มีเจ้าหน้าที่พูดภาษามลายูได้ และมีป้ายภาษามลายู ทั้งป้ายชื่อโรงพัก ป้ายชื่อเจ้าหน้าที่ในโรงพักทุกระดับ รวมทั้งป้ายบอกขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไปติดต่อรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องไปพบใคร และมีขั้นตอนอย่างไร
"โรงพักเจาะไอร้องถือว่าโดดเด่นมาก ส่วนที่อื่นแม้จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้แต่ก็ไม่มีรูปธรรมชัด เวลาเราไปประชุม ก็บอกว่าเป็นนโยบายของ ตร.อยู่แล้ว แต่กลับไม่เห็นรูปธรรมเท่าที่ควร" พิชญ์ดา กล่าวและว่าอยากเสนอให้การสร้างโรงพักใหม่ น่าจะอิงสถาปัตยกรรมท้องถิ่นด้วย
ความสำเร็จของ สภ.เจาะไอร้อง ทำให้อีกหลายๆ โรงพักกำลังก้าวตาม เช่น โรงพักระแงะ ภายใต้การนำของ พ.ต.อ.จิรเดช พระสว่าง ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งเทือกเขาบูโด เทือกเขาเมาะแต และเขาตะเว โดยโรงพักระแงะได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านความมั่นคง ป้องกันการโจมตีจากภายนอก โดยเฉพาะการจัดทำแผงเหล็กป้องกันการยิงขีปนาวุธวิถีโค้ง
ส่วนภายในก็จัดพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วนสำหรับการทำงาน เน้นความสะอาด เรียบง่าย มีห้องรับแจ้งความ ห้องพนักงานสอบสวน ห้องน้ำสะอาด และที่จะลืมไม่ได้คือ "ห้องละหมาด" สำหรับให้พี่น้องมุสลิมประกอบศาสนกิจ
ขณะเดียวกันก็สนองตอบนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยการตั้ง "จุดบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ" หรือ วัน สต็อป เซอร์วิส รวมงานให้บริการประชาชนให้จบทุกขั้นตอนในที่เดียว เพื่อให้เป็นโรงพักเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
และนี่คือเรื่องราวดีๆ กับทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดอย่างตำรวจ!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สภ.เจาะไอร้อง
2 สภ.ระแงะ