ดร.สุรินทร์ ชี้เดินหน้าประเทศไทย ‘ภาคเกษตร- ยานยนต์ –ท่องเที่ยว’ ต้องคิดใหม่
ธ.ไทยพาณิชย์ จัดสัมมนา “SCB Investment Symposium 2014: Change Rising ทะยานสู่ศักราชใหม่เศรษฐกิจโลก ดร.สุรินทร์ ชี้จุดอ่อนประเทศไทย การเมืองไม่นิ่ง นโยบายไม่มีเสถียรภาพ แถมไม่มีองค์กรไปเจรจาต่อรองบนเวทีโลก หวั่นรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ลำบาก
วันที่ 23 กันยายน ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานสัมมนา “SCB Investment Symposium 2014: Change Rising ทะยานสู่ศักราชใหม่เศรษฐกิจโลก” ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ ห้องฉัตรา บอลลูม โดยมีนางสาวผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเปิดงาน
จากนั้น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (FIT) ปาฐกถาพิเศษ “เดินหน้าประเทศไทยในตลาดโลก” ตอนหนึ่งถึงงานวิจัยของ Asian Development Bank Institute หรือ ADBI ที่ระบุว่า 15 ปีหลังจากนี้ 60% ของประชากรอาเซียน หรือประมาณ 400 ล้านคน จะเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่มีรสนิยม ไลฟ์สไตล์ และแนวการบริโภคที่พิเศษ โดยจะเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า หัวจักรใหม่ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่อาเซียน ลูกตุ้มนาฬิกาได้เหวี่ยงมาที่ประเทศอาเซียนแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ท้าทาย คือ ประเทศไทยจะรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร "จะอยู่ที่เดิม คลานต้วมเตี้ยม หรือพร้อมก้าวทัน"
"ประเทศไทยมีข้อดี มีของดีมากมาย แต่ข้อด้อยก็มากเช่นกัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย การเมืองไม่นิ่ง นโยบายไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงไม่มีองค์กร หรือสถาบันที่จะไปเจรจาต่อรองบนเวทีอาเซียน และในภูมิภาค"
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทย วันนี้ไม่มีใครแย่งไปจากเราได้ แต่ต้องก็ปรับปรุง พัฒนา เพิ่มเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อให้ยังคงรักษาจุดแข็งนี้ต่อไป ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ แม้กำลังการผลิตยังคงเป็นที่หนึ่ง แต่ในอนาคตต้องพัฒนาคุณภาพ หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย
“ส่วนตลาดท่องเที่ยวนั้นจำเป็นต้องคิดใหม่ เพราะความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป การบริการก็ต้องเปลี่ยนตาม โดยหันไปร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับประเทศต่าง ๆ นำคนข้างนอกมาบ้านเรา และเอาคนที่มาบ้านเราแล้ว ออกไปประเทศรอบๆ ประเทศเรา”
สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจด้านนี้กำลังเจออุปสรรคด้านกฎระเบียบของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย กระทบการทำธุรกิจด้านนี้ เหมือนที่ฝรั่งบอกว่า “เรากำลังฆ่าห่านที่ไข่ออกมาเป็นทองให้เรา” รวมถึงเรื่องระบบการศึกษา ภาษาอังกฤษ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสนใจ เพราะนี่คือกุญแจสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย หากการศึกษาเมืองไทยยังไม่ดี เราจะไปแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้
สุดท้าย ดร.สุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องทำ มี 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ระบบราชการต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นกลาง อย่าให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องมากนัก 2.ระบบการศึกษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษต้องมีประสิทธิภาพดีกว่านี้ 3.ลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และสร้างนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมไทย และ 4. ความโปร่งใส อย่าให้มีการจ่ายใต้โต๊ะ 30%