ฟังเสียง "แซะห์" แจงปัญหาฮัจญ์ - "ภาณุ" รุดเยี่ยม "ผู้แสวงบุญ"
หลังมีการตีแผ่ปัญหาของผู้แสวงบุญ หรือ "ฮุจญาต" จากประเทศไทยที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทั้งเรื่องที่พักไม่ได้มาตรฐาน อาหารไม่เพียงพอ และการเดินทางไปประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ตามหลักศาสนาไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ผู้แสวงบุญทั่วไปต้องจ่ายเงินให้บริษัทผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ หรือ "แซะห์" รายละ 180,000-200,000 บาท
ขณะที่ผู้แสวงบุญในโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็พบปัญหาคล้ายคลึงกันนั้น
ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ได้เดินทางไปยังกรุงเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อเยี่ยมเยียนผู้แสวงบุญในโครงการของ ศอ.บต. พร้อมทั้งชี้แจงถึงปัญหาเรื่องที่พัก อาหาร และปัญหาการได้รับวีซ่าล่าช้า โดยเฉพาะปัญหาวีซ่า นายภาณุยืนยันว่าไม่ได้เกิดปัญหาเพียงประเทศไทยประเทศเดียว
"ศอ.บต.ได้จัดให้มีรายการวิทยุและโทรทัศน์สายสัมพันธ์ฮัจญ์ ศอ.บต. เพื่อให้ญาติพี่น้องของผู้แสวงบุญได้รับทราบความเคลื่อนไหวและความเป็นอยู่ของผู้แสวงบุญเป็นประจำทุกวัน เมื่อกลับไปจะจัดตั้งชมรมคนสมบูรณ์ เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้ที่กลับจากประกอบพิธีฮัจญ์ เพื่อสร้างแบบอย่างที่ดี นำคุณค่าที่ได้รับจากฮัจญ์ไปช่วยกันกันพัฒนาพื้นที่ต่อไป" เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
เป็นที่น่าสังเกตว่า เดิมนายภาณุมีกำหนดการเดินทางไปเยี่ยมผู้แสวงบุญในวันที่ 27 ก.ย. แต่กลับเดินหน้าไปก่อนกำหนดหลังมีการนำเสนอข่าวปัญหาของฮุจญาตจากประเทศไทย
ทั้งนี้ ปัญหาของผู้แสวงบุญไม่ได้มีเฉพาะเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างปฏิบัติศาสนกิจที่ซาอุฯเท่านั้น ทว่ายังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกคือเรื่อง "วีซ่า" ซึ่งบางแง่มุมโยงไปถึงผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ หรือ "แซะห์" ด้วย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ก.ย.) ได้มีหนังสือจากกรมการศาสนา ส่งถึงผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ ระบุว่ามีผู้ที่ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้กับกรมการศาสนาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับวีซ่าจำนวน 452 คน โดยกรมการศาสนาได้รับการประสานจากสถานกงสุลใหญ่ซาอุดิอาระเบีย ได้รับแจ้งว่ามีผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ลงทะเบียนขอวีซ่าเกินจำนวนที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้แสวงบุญที่ได้รับสิทธิในปีนี้ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า กรมการศาสนาจึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ตรวจสอบรายชื่อผู้แสวงบุญที่ได้บันทึกข้อมูลไว้เกินกว่าที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ฯ และขอให้ดำเนินการยกเลิกรายชื่อในระบบการลงทะเบียนขอวีซ่าทันที ภายในวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ย. เพื่อที่สถานกงสุลซาอุดิอาระเบียจะได้ดำเนินการออกวีซ่าให้ผู้ได้รับสิทธิไปประกอบพิธีฮัจญ์ต่อไป หากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืน ทางกรมการศาสนาจะดำเนินการตามกฎหมาย
แหล่งข่าวจากบุคคลในแวดวงผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ ระบุว่า ปัญหาผู้แสวงบุญตกค้างมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการ หรือ "แซะห์" ส่งชื่อผู้แสวงบุญเพื่อขอวีซ่าเกินกว่าโควตาที่กำหนด บางรายเมื่อส่งชื่อไปแล้วก็นำหลักฐานการส่งชื่อไปเก็บเงินจากผู้แสวงบุญทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่แน่ว่าจะได้วีซ่าเดินทางหรือไม่ และเมื่อสุดท้ายไม่ได้รับวีซ่า แซะห์บางรายก็ไม่ยอมคืนเงิน อ้างว่าเพื่อจองโควตาในปีต่อๆ ไป ทำให้ผู้แสวงบุญบางคนต้องรอ 2-3 ปีกว่าจะได้เดินทาง บางคนชื่อตกหล่น ไม่ได้ไปเลยก็มี
ข้อมูลล่าสุด ณ วันจันทร์ที่ 22 ก.ย. เจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ยืนยันว่ายังมีผู้แสวงบุญตกค้างอยู่อีก แต่ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนที่แน่นอนได้ เพราะตัวเลขอยู่ที่สถานกงสุลใหญ่ซาอุดิอาระเบีย ขณะที่ทางการซาอุฯประกาศปิดสนามบินเจดดาห์ในวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายสำหรับการเดินทางของผู้แสวงบุญที่ต้องการประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้
นายมุหรอด ใบสะมะอุ นายกสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ภาคใต้ กล่าวถึงปัญหาของผู้แสวงบุญว่า ยอมรับว่าที่พักของผู้แสวงบุญยังไม่ได้มาตรฐาน ดูจากสภาพที่อยู่ก็รู้สึกไม่ค่อยดีที่ต้องอยู่กันอย่างนั้น ขณะที่ยังมีผู้แสวงบุญตกค้างอยู่ที่เมืองไทยเพราะไม่ได้วีซ่าอีกราวๆ 200 คน ทางสมาคมฯกำลังประสานเพื่อให้ความช่วยเหลือ
"ปีนี้มีปัญหาอยู่ที่ทางการซาอุฯเปลี่ยนระบบการออกวีซ่าให้ทันสมัยมากขึ้น ใช้ระบบบาร์โค้ด ทำให้คอมพิวเตอร์ไม่อ่านข้อมูลของพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง) แบบเก่าที่ยังไม่มีบาร์โค้ด"
นายมุหรอด บอกอีกว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เกิดจากผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ ทางสมาคมฯไม่มีอำนาจอะไรมาก หากพบว่าบริษัทไหนมีปัญหา อย่างเรื่องที่พักหรืออาหารการกิน ก็ทำได้แค่ตักเตือน ยังไม่มีมาตรการอะไรมากกว่านั้น ซึ่งก็พบว่าปัญหามีอยู่จริง
"บางมุมก็เห็นใจผู้ประกอบการเหมือนกัน เพราะว่าการเช่าเหมาลำเครื่องบิน เช่าที่พักที่มาดีนะห์ (เมืองที่ผู้แสวงบุญต้องไปประกอบพิธีนอกเหนือจากที่เมืองมักกะฮ์) บางทีก็ต้องเช่าก่อนวีซ่าผู้แสวงบุญออกมา เมื่อวีซ่าออกช้า หรือไม่ออก ก็ทำให้มีปัญหา จองทิ้งจองเกินก็มี ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินก็มากอยู่เหมือนกัน ทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องใช้วิธีไม่เช่าเหม่าลำเครื่องบิน แต่ให้บินต่อ 2-3 ต่อจึงจะถึงสนามบินเจดดาห์"
"ส่วนเรื่องที่พัก เมื่อจองแล้วจะเลื่อนหรือเปลี่ยนไม่ได้เลย หากวีซ่าออกช้าจะกระทบทันที เพราะการเช่าที่พักในฤดูกาลฮัจญ์ จะทำสัญญาแบบเหมาว่าจะอยู่กี่วัน อย่างที่มาดีนะห์ ปกติฮุจยาตต้องอยู่ 8 วันเพื่อละหมาดให้ครบตามศาสนบัญญัติ แต่เมื่อวีซ่าออกช้า ผู้แสวงบุญก็จะอยู่ไม่ครบ 8 วัน แต่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบทั้งหมด นี่ก็เป็นปัญหาของผู้ประกอบการ"
นายมุหรอด ยังเรียกร้องให้ "อะมีรุ้ลฮัจญ์" หรือผู้นำสูงสุดในกิจการฮัจญ์ (มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฮัจญ์) เพิ่มกลไกการตรวจสอบปัญหาของผู้แสวงบุญให้มากกว่าปัจจุบัน เพราะมีกรรมการปีหนึ่งๆ หลายสิบคน เพื่อไม่ให้ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกปี
ด้านผู้ประกอบกิจการฮัจญ์รายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) กล่าวว่า ปัญหาของผู้แสวงบุญค่อนข้างซับซ้อน เพราะแซะห์บางรายไม่ได้มีบริษัทเป็นของตนเอง เรียกว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการจริงก็ได้ แต่มีการทำระบบนายหน้า ให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องไประดมหาผู้แสวงบุญ เช่น หากหาได้ครบ 10 คน ตัวคนที่เป็นนายหน้าและภรรยาจะได้ไปทำฮัจญ์ฟรี ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนลงให้มากที่สุดเพื่อให้นายหน้าได้ไปฟรี
ขณะที่นายหน้าบางรายก็ทำในลักษณะเป็นผู้ประกอบกิจการเองเลย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียน และปัญหาก็เกิดจากนายหน้ากลุ่มนี้มากกว่าแซะห์จริงๆ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อาคารที่พักของฮุจญาตจากประเทศไทย ในซาอุดิอาระเบีย
2 นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ระหว่างเดินทางไปเจดดาห์ ประเทศซาอุฯ เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้แสวงบุญ
่อ่านประกอบ : "ผลประโยชน์"อ้างหลักศาสนา สารพัดปัญหาของผู้แสวงบุญฮัจญ์