เจาะ 3 เหตุการณ์ร้อน!โยกย้ายบิ๊ก ขรก. สะเทือน"บิ๊กตู่"ก่อนนั่งนายกฯ?
เจาะ 3 เหตุการณ์ร้อนโยกย้ายบิ๊กอัยการฯ – รับลูก เลขาฯป.ป.ท. แต่งตั้งรองเลขาฯ 2 ราย – ตั้งกรรมการฉลาก สคบ. ชนวนวิบากกรรม บิ๊กตู่ ก่อนนั่งนายกฯ
เป็นประเด็นที่ทุกองคาพยพในสังคมต่างเฝ้าจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิด สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปสมัยที่ยังไม่มีรัฐบาล ช่วงที่เป็น คสช. นั้น พบว่า มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่น่าสนใจอยู่ 3 เหตุการณ์
คือ กรณีแต่งตั้งอัยการสูงสุด (อสส.) กรณีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอแต่งตั้งรองเลขาฯ ป.ป.ท. และกรณีแต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
โดยแต่ละเหตุการณ์นั้น ต่างมีบุคคลเข้ามาตั้งข้อสังเกต-ร่อนหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นการแต่งตั้งโดยไม่เหมาะสม-ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายทั้งสิ้น ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมรายละเอียดทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้นไว้ ดังนี้
1.กรณีแต่งตั้งอัยการสูงสุด
ภายหลัง คสช. ได้แต่งตั้งนายตระกูล วินิจฉัยภาค รอง อสส. ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น อสส. และให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง พ้นจากตำแหน่ง อสส. มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงาน อสส. เป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายนั้น
ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2557 นายวิทยา ปัตตพงศ์ กรรมการอัยการ (ก.อ.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแสดงความเห็นในกรณีดังกล่าวว่า การแต่งตั้งดังกล่าวน่าจะขัดหลักกฎหมาย เนื่องจาก อสส. เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และรองรับการทำหน้าที่ของอัยการไว้ชัดเจน จึงไม่ควรอยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร และเพื่อเป็นหลักประกันประการหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ จึงกำหนดให้มี ก.อ. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือให้สิ้นสุดจากตำแหน่ง
นายวิทยา ระบุว่า การที่ คสช. มีคำสั่งให้นายอรรถพล พ้นตำแหน่ง ทั้งที่ ก.อ. ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 ยังมีผลบบังคับใช้สมบูรณ์ จึงเป็นความคลาดเคลื่อนและขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย แม้ขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 47 กำหนดให้คำสั่ง คสช. ที่กระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ถือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารละพลเรือน รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งอัยการตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ด้วย
ดังนั้นการแต่งตั้งข้าราชการให้พ้นจากตำแหน่ง อสส. และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อสส. ควรต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอน และวิธีการกำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น โดยกระทำผ่านมติของ ก.อ. เพื่อความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อความสง่างามของผู้ได้รับการแต่งตั้ง และเพื่อรักษาองค์การอัยการให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่พี่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง
(อ่านประกอบ : อัยการขอคืนอำนาจจาก"ประยุทธ์"ตั้งอสส.ต้องผ่าน ก.อ.- ใช้คำสั่งคสช.ไม่สง่างาม )
นอกจากนี้ นายสมชาย เก้านพรัตน์ อัยการพิเศษฝ่ายงบประมาณ ได้เขียนบทความถึงฝ่ายกฎหมายของ คสช. แสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้าย อสส. โดยไม่ผ่าน ก.อ. ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชกรฝ่ายอัยการฯ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการฯ
โดยเล่าเบื้องหลังว่า เมื่อห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม และคนใกล้ชิดอีก 1 คน ได้พูดคุยถึงหนังสือของนายวิทยา ที่บอกว่า คสช. จะแต่งตั้งข้าราชการอัยการ ต้องผ่าน ก.อ. ก่อน โดย ศ.ดร.วิษณุ บอก พล.อ.ประยุทธ์ ว่า การย้ายข้าราชการอัยการเป็นหน้าที่ ก.อ. นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจการสั่งย้าย เห็นควรให้ส่งเรื่องคืน ก.อ. พิจารณาต่อไป แต่นายกรัฐมนตรีกลับบอกว่า ให้เสนอชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปก่อน หากผิดกฎหมายให้องคมนตรีคืนเรื่องมา แล้วค่อยส่งเรื่องให้ ก.อ. พิจารณา อย่างไรก็ดีนายสมชาย ไม่เชื่อข่าวลือนี้
แต่หากข่าวลือดังกล่าวเป็นจริง ต้องถือว่ากระทำผิดต่อจริยธรรมทางการเมืองในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร และผิดต่อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อันเป็นการแทรกแซงองค์กรอัยการซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม และขัดต่อนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า จะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ
(อ่านประกอบ : สมชาย เก้านพรัตน์ : จริยธรรมของนายกรัฐมนตรี)
2.กรณีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอแต่งตั้งรองเลขาฯ ป.ป.ท.
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม แสดงความไม่พอใจที่นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้มีการแต่งตั้งรองเลขาธิการ ป.ป.ท. 2 ตำแหน่ง โดยไม่ผ่านกระบวนการสรรหา
ทั้งนี้ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) การแต่งตั้งรองเลขาธิการ ป.ป.ท. จะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือผู้แทนตามที่ รมว.ยุติธรรมมอบหมาย เลขาธิการ ป.ป.ท. และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำการคัดเลือก โดยเปิดให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ แต่เลขาธิการ ป.ป.ท. กลับทำเรื่องเสนอขอแต่งตั้งโดยไม่ผ่านกระบวนการสรรหา ทั้งที่รู้ระเบียบอย่างดี ขณะที่ คสช. มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการโยกย้ายข้าราชการในช่วงระยะเวลานี้อีกด้วย
(อ่านประกอบ : โวย"เลขาฯ ป.ป.ท." ชงตั้ง "รองฯ" ไม่ผ่านการสรรหา-ยกขบวนดูงานตปท. )
โดยในหนังสือที่นายประยงค์ ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ ถูกตีตราว่า “ลับมาก” ผ่าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (ตำแหน่งขณะนั้น) รวมอยู่ด้วย ในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 โดยระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ท. มีตำแหน่งรองเลขาธิการฯ ว่าง 1 อัตรา เพื่อให้การปฏิบัติราชการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงเห็นสมควรขอแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ท. โดยขอเสนอโยกย้ายนายฉัตรชัย ยอดอุดม รองเลขาธิการ ป.ป.ท. ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และขอเสนอแต่งตั้ง พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผอ.สำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4 และ พ.ท.กรทิพย์ ตาโรจน์ ผอ.สำนักปราบปรามการทุจริตแห่งภาครัฐ 3 ไปดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ท.
(อ่านประกอบ : เบื้องลึก! ป.ป.ท.ชง "ประยุทธ์" บายพาส"ผอ.สำนักฯ"เสียบเก้าอี้รองเลขาฯ )
อย่างไรก็ดี นายประยงค์ ได้ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้มีการแต่งตั้งรองเลขาธิการ ป.ป.ท. ใหม่ทั้ง 2 คนจริง แต่ในขั้นตอนการแต่งตั้ง ผอ.สำนักปราบปรามการทุจริตฯทั้ง 2 ราย จะต้องผ่านกระบวนการสรรหาอีกครั้ง ไม่มีการลัดขั้นตอนตามที่ถูกร้องเรียนอย่างแน่นอน พร้อมอ้างว่า เป็นการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่แจ้งให้ส่วนราชการนำเสนอรายชื่อข้าราชการในสังกัดของตนเองที่ต้องการปรับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ ส่งมาให้ คสช. รับทราบล่วงหน้า ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจโดยพลการ และขณะนี้รอความเห็นชอบจาก คสช. อยู่ เท่ากับว่ากระบวนการสรรหาก็ยังไม่ได้เริ่มขึ้น เพราะต้องผลการพิจารณาของ คสช.
(อ่านประกอบ : เลขาฯป.ป.ท รับชงชื่อ"ผอ.สำนักฯ"ขึ้นตำแหน่งรองฯ-ยันใช้วิธีการสรรหาด้วย )
3.กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรปราการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมในการแต่งตั้งนายอนุวัฒน์ ธรมธัช อดีตเลขาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริภาค (สคบ.) เป็นประธานคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
เนื่องจากเห็นว่า นายอนุวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหารจัดการทั่วไป บริษัท จอย แอนด์ คอยน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกรรมการผู้จัดการบริษัท จอยมาร์ท จำกัด ทำธุรกิจขายตรงผลิตภัณฑ์อาหารและอื่น ๆ อีกหลายประเภท ซึ่งถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง
สำหรับการแต่งตั้งดังกล่าวเกิดจาก นายอำพล วงศ์ศิริ เลขา สคบ. คนปัจจุบันเป็นผู้เสนอ ส่วน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ลงนาม อนุมัติ
(อ่านประกอบ : อดีตส.ว.โพสต์หลักฐานซัด"คสช." ปล่อยสคบ.ตั้งคนบ.ขายตรงนั่งปธ.คกก.ฉลาก)
อย่างไรก็ดี นายอนุวัฒน์ ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะงานขายตรง กับเรื่องฉลาก เป็นงานคนละส่วนกัน มีกฎหมายดูแลคนละฉบับ ส่วนเรื่องข้อกล่าวหาว่าอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ไม่มีมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นแน่นอน เพราะแยกแยะงานสองส่วนได้ และงานธุรกิจขายตรง ก็ต้องทำฉลากเหมือนกัน ต้องถูกคุมเข้มเหมือนกัน บริษัทใดละเลย ก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้น
ขณะเดียวกันได้ยืนยันว่า สคบ. ได้แจ้งมายังนายอนุวัฒน์ว่าได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก และ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้ลงนามในคำสั่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งในวันที่ 24 กันยายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนัดแรก
ส่วนเรื่องการลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทขายตรง เพื่อแก้ข้อครหา นายอนุวัฒน์ ยืนยันว่า คงไม่ลาออก เพราะอย่างที่บอกว่าเป็นงานคนละส่วน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันแน่นอน
(อ่านประกอบ : "อนุวัฒน์"ยันนั่งเก้าอี้ปธ.คกก.ฉลากควบ"บ.ขายตรง"ได้-ไร้ข้อครหา"ไม่ลาออก" )
ทั้งหมดนี้คือการตั้งข้อสังเกตของอัยการ-เจ้าหน้าที่รัฐ-อดีต ส.ว. ถึงการทำหน้าที่ในการโยกย้ายข้าราชการของ คสช. ในห้วงที่ยังไม่มีรัฐบาล หรือรัฐบาลยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯปฏิบัติหน้าที่ อาจมีปัญหาตามมา
และบัดนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเต็มที่ในการบริหารบ้านเมืองแล้ว จึงน่าจับตาว่า ต่อจากนี้ไปจะมีการโยกย้าย-แต่งตั้งข้าราชการรายใด และจะถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องขัดต่อกฎหมาย-เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนอีกหรือไม่
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก thairath