ระบบการศึกษาไทยลงทุนมาก ได้ผลน้อย ทุ่มงบฯ 5 แสนล. เหตุใดยังเหลื่อมล้ำสูง
ที่ผ่านมา การทุ่มเทงบประมาณให้กับการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศนั้นค่อนข้างสวนทางกับประสิทธิภาพการจัดการ ประกอบกับผู้นำขาดการขับเคลื่อนนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จนแทบไม่เห็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะยังคงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นกับเมืองอยู่
“ระบบการศึกษาไทยมีปัญหามากมายมหาศาล ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้หากการแก้ไขปัญหาจะเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง” ดร.ไกรยส ภัทราวาท นักวิชาการ สำนักสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวขึ้น เมื่อถูกตั้งคำถามว่าจะจัดการศึกษาอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม
ดร.ไกรยส ระบุถึงข้อเท็จจริงสถานการณ์เด็กไทยในปัจจุบันว่า แม้ทุกฝ่ายจะมีความเข้าใจ รัฐจัดระบบการศึกษาเรียนฟรี 15 ปี ขึ้น แต่ความจริงแล้ว ยังมีเด็กไทยกว่า 2 ล้านคน อยู่นอกระบบการศึกษา ทำให้ขาดโอกาสพัฒนาการเรียนรู้และทักษะการประกอบอาชีพ กระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่สูงมาก
นอกจากนี้ไทยยังมีเด็กอีกกว่า 2 ล้านคน กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น เด็กสมาธิสั้น เด็กยากจน ซึ่งความยากจนนี้นับเป็นค่าเสียโอกาสที่พ่อแม่จำเป็นต้องดึงบุตรหลานออกจากระบบก่อนวัยอันควร เพราะการศึกษาในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์การประกอบอาชีพหารายได้เท่าที่ควร
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญของระบบการศึกษาไทย นักวิชาการ สสค. บอกว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มจะแพ้หลายประเทศ แม้กระทั่งในอาเซียน โดยภายในปี 2563 มาเลเซียจะกลายเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้ขั้นสูงของโลก 1.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี ในขณะที่ประชากรไทยอยู่ที่ 8 พันดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี จึงตั้งคำถามว่า อนาคตไทยต้องการเป็นแมวหรือเสือ??? ตราบใดที่ระบบการศึกษาไทยยังเป็นเช่นนี้
“หากมีเด็กไทยเข้าสู่ระบบการศึกษา 10 คน จะมีราว 2.5 คน หลุดออกจากระบบก่อนจบชั้นม.3 ส่วนอีก 2.5 คน เข้าเรียนต่อในชั้นม.ปลาย แต่ไม่จบม. 6 ซึ่งมีเพียง 1 คนเท่านั้น ได้รับเรียนจบและเข้าสู่ตลาดแรงงาน” ดร.ไกรยส อธิบาย และว่า
ภาพรวมจะมีเด็กไทยเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาจนจบระดับอุดมศึกษา และมีงานประจำทำทันทีภายใน 1 ปี ไม่เป็นผู้ว่างงานในกลุ่มบัณฑิตจบใหม่
นักวิชาการ สสค. จึงถามหาความคุ้มค่าการลงทุนด้านการศึกษาที่มีสูงถึง 5 แสนล้านบาท/ปี สูงมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากกานา ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่ตกไปอยู่กับค่าจ้างบุคลากร ดังนั้นทำให้ผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนมีน้อย
สิ่งเหล่านี้คือประเด็นสำคัญ ‘ไทยลงทุนมาก แต่ได้ผลน้อย’ เพราะงบประมาณดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้อย่างตรงจุด และส่งผลให้ไทยก้าวไม่พ้นกับดักทางรายได้ขั้นกลางภายใน 20 ปี หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
“Dr.Nicholas Burnett อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization:UNESCO) ชี้ว่า ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาของไทยสร้างความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และประชากรศาสตร์ให้กับประเทศ โดยมีมูลค่าสูงถึงปีละ 3.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของจีดีพี”
ดร.ไกรยส ยังเปรียบปัญหาระบบการศึกษาไทยเหมือนคู่แฝด โดยแฝดคนที่ 1 คือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ซึ่งคนรวยที่สุด 20% ของประเทศ ถือครองทรัพย์สินและรายได้สูงถึง 54.4% ในขณะที่คนมีรายได้ต่ำสุด 50% ของประเทศ ถือครองทรัพย์สินและรายได้เพียง 18.5% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นของกลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งจากโครงสร้างดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก
แฝดคนที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพระบบการศึกษา นักวิชากร สสค. ยกตัวอย่างการประเมินคะแนนนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student. Assessment: PISA2012) ในวิชาคณิตศาสตร์ ของนักเรียนอายุ 15 ปี ผลปรากฏว่า มีเด็กไทยสอบตกสูงถึง 50% คงมีเพียง 2.5% เท่านั้น ที่สอบผ่านได้คะแนน 5-6 ในระดับสูง
“การใช้หลักความเสมอภาคกับเด็กไทยทุกคน โดยทุ่มงบประมาณและทรัพยากรที่เท่ากันคงไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา เท่ากับการชี้ชวนให้นักปกครองหันมาจุนเจืออุดหนุนเด็กที่ขาดแคลนก่อน ทั้งนี้ ควรหันมาส่งเสริมการจัดการเชิงพื้นที่ระดับจังหวัด โดยอาศัยเด็กเป็นตัวตั้ง เพราะที่ผ่านมาการจัดการระดับประเทศล้มเหลวไม่เป็นท่า ดังนั้นทำไมจึงไม่เริ่มคิดให้เกิดการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่ระดับประเทศ” นักวิชาการ สสค. เสนอทิ้งท้าย
ด้านนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน นักวิชาการ สสค. เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีส่วนรณรงค์ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการศึกษาไทยจากในระดับพื้นที่ โดยยกตัวอย่างรูปธรรมการจัดการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ภูเก็ตว่า เป็นการทำงานที่ร่วมมือกันทุกฝ่าย มิได้ฝากไว้กับคนใดคนหนึ่ง จากเดิมเริ่มต้นโครงการ ‘คัดเลือกครูสอนดี’ สู่การเปลี่ยนโจทย์การจัดการศึกษาภาพรวม
โดยทำอย่างไรให้เกิดการผลักดันความร่วมมือในระดับจังหวัดทุกภาคส่วน ทั้งอบจ. เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอุดมศึกษา ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ซึ่งที่ผ่านมา ความร่วมมือดังกล่าวใน จ.ภูเก็ต นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลของเด็กไทยในระบบการศึกษา
“หน่วยงานสาธารณสุขมีข้อมูลเด็กไทยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเติบโตอายุ 3 ปี เพราะได้รับการตรวจและฉีดวัคซีน เมื่ออายุ 4-5 ปี ข้อมูลดังกล่าวจะปรากฏกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) เมื่อเด็กเข้าสู่การศึกษาระดับประถม โรงเรียนก็จะมีข้อมูล” นายพัฒนะพงษ์ กล่าว และว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลทั้งหมดเกิดการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อวันใดที่เด็กเกิดปัญหา ทุกฝ่ายจะได้ตรวจสอบข้อมูลและนำมาแลกเปลี่ยนกันได้ จนนำมาสู่การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของจังหวัดภูเก็ตขึ้น
นายพัฒนะพงษ์ กล่าวอีกว่า ไทยจัดสรรงบประมาณพัฒนาระบบการศึกษามากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพการศึกษานั้นกลับสวนทางกัน ซึ่งภายใต้ทรัพยากรที่มีจำนวนมาก หากเรามีการจัดการประสิทธิภาพ โดยอาศัยความร่วมมือและใช้ข้อมูลของจังหวัด จะทำให้เกิดการจัดการที่ดีได้ แม้ระยะแรกอาจต้องใช้เวลา
“จ.ภูเก็ตจัดทำระบบสารสนเทศ เมื่อเห็นผลก็ทำให้คนทำงานมีกำลังใจ และสังคมก็อยากเข้ามาช่วยทำงานมากขึ้น โดยต้องเริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ สิ่งนี้คือการขับเคลื่อนระดับจังหวัด อย่างไรก็ตาม เรามุ่งหวังอยากเห็นการขับเคลื่อนต่อในระดับตำบล ซึ่งมองว่าจะมีความใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด” นายพัฒนะพงษ์ ทิ้งท้าย
การปฏิรูประบบการศึกษาไทยในยุคนี้ จึงฝากความหวังไว้กับ ‘พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ เน้นจริงใจ จริงจัง และยั่งยืน ตามแนวทางที่รัฐบาลวางกรอบไว้ .
ภาพประกอบหลัก:เว็บไซต์ oknation-vcharkarn