ค่าธรรมเนียมป้อนเข้า และส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า:ส่อทุจริตของนโยบายและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า?
ค่าธรรมเนียมป้อนเข้า และส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า:
การส่อทุจริตของนโยบายและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า?
ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์* สมชาติ โสภณรณฤทธิ์* สวัสดิ์ ตันตระรัตน์*
ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(adder) เป็นมาตรการของรัฐ ที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และลดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจกหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน. ใน พ.ศ. ๒๕๕๐ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ในอัตรา ๘.๐๐ บาท แต่ผู้ลิตไฟฟ้าจาก ชีวมวล น้ำ ขยะ และลม ได้รับในอัตราเพียง ๐.๓๐, ๐.๘๐, ๒.๕๐ และ ๓.๕๐ บาท.
เมื่อ ๑๗ ส.ค. ‘๕๗ กพช.ได้กำหนดค่าธรรมเนียมป้อนเข้าไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในอัตรา ๕.๖๖ – ๖.๘๕ บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งก็ยังทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ สูงกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก ชีวมวล น้ำ และ ขยะ เช่นเดียวกับเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐. ทั้งส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า และค่าธรรมเนียมป้อนเข้าที่รัฐจ่ายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้น ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สูงสุดตลอดมา. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็ได้เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง. ในแผนพัฒนาฯ ปัจจุบัน กพช.ได้กำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไว้ถึง ๓,๐๐๐ เมกะวัตต์ และ ยังได้ให้ความเห็นชอบโครงการไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชุมชนเพิ่มขึ้นอีก ๘๐๐ เมกะวัตต์.
จึงเห็นได้ชัดว่า นโยบายและแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของรัฐ ได้ขาดความโปร่งใสตลอดมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ชีวมวล และ ขยะ ที่มีต้นทุนถูกกว่ามากนั้น ยังมีศักยภาพมากพอที่จะตอบสนองความต้องการ ตามแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสายส่ง จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนของประเทศ ได้ภายใน ๑๐ ปี เป็นอย่างต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์
แนวทางการปรับนโยบายและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ให้โปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าทางหนึ่ง คือ การประกาศรับซื้อไฟฟ้าในอัตราค่าธรรมเนียมป้อนเข้าขั้นต่ำก่อน เช่น ประมาณ ๕.๐๐ บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าอาจใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนได้ทุกประเภท. ถ้าได้กำลังผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าที่ต้องการตามแผนพัฒนาฯ จึงเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมป้อนเข้าที่เหมาะสมต่อไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เป็นธรรมของประชาชนเป็นหลัก.
*ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
: บรรยาย ณ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน