เบื้องหลัง! กฤษฎีกาไฟเขียว “ครม.บิ๊กตู่”ตั้งทหารนั่งขรก.การเมือง
”…เท่าที่ตรวจสอบจากพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหารฯ และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ ไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามใด ๆ อันจะทำให้ข้าราชการทหารไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองไม่ได้ การแต่งตั้งข้าราชการทหารไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองจึงสามารถทำได้…”
พลันที่คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มขับเคลื่อนนโยบาย และปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบ
ไม่กี่วันถัดมา ช่วงกลางเดือนกันยายน ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “ฝ่ายทหาร” เข้าไปดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น พล.อ.วิลาศ อรุณศรี อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การแต่งตั้งข้าราชการทหาร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ทำได้หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความข้อกฎหมายดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการทหาร สนช. และ สปช. ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า โดยที่มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2534 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งอื่นนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และมิได้มีบทบัญญัติใดระบุถึงข้อห้ามของผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งว่ามิให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการประเภทอื่นหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการใด ๆ ดังนั้น เพื่อให้การแต่งตั้งข้าราชการการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงขอหารือว่า สามารถแต่งตั้งข้าราชการทหาร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองได้หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) และผู้แทนกระทรวงกลาโหม (กรมพระธรรมนูญ) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา 8 และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มิได้ห้ามมิให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นใดนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
ดังนั้น การจะแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่มิใช่ตำแหน่งรัฐมนตรีจึงย่อมกระทำได้ ถ้าผู้ได้รับแต่งตั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535
สำหรับข้าราชการทหารนั้น เท่าที่ตรวจสอบจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ไม่พบว่ามีบทบัญญัติใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามใด ๆ อันจะทำให้ข้าราชการทหารไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองไม่ได้
การแต่งตั้งข้าราชการทหารไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองจึงสามารถทำได้ ถ้าผู้จะได้รับแต่งตั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535
อนึ่ง แม้จะมีกฎหมายใดห้ามมิให้ข้าราชการทหารไปดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง กฎหมายดังกล่าวก็ได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก thairath