นักวิชาการแนะกสทช.สร้างองค์ความรู้พัฒนาสื่อก้าวข้ามละครตบจูบ
นักวิชาการชี้แก้ปัญหาละครตบจูบ “คนเขียนบท-ผู้สร้าง” ต้องมองเห็นภาพตัวเองก่อน แนะกสทช.สร้างองค์ความรู้พัฒนาคนในแวดวงให้เท่าทัน ย้ำสร้างทางเลือกตัวละครและมุมมองใหม่
18 กันยายน 2557 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมเสวนาเรื่อง "ภาพ สะท้อนของเด็กและสตรีในละครโทรทัศน์ไทย" โดยในงานมีเสวนาในห้อข้อเรื่อง "แนวปฏิบัติในการผลิตรายการละครสำหรับเด็กและสตรี" ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส กล่าวว่า อเมริกาเป็นจุดกำเนิดละครที่มีฉากรุนแรงมากสุดคือฮอลลีวูดแต่เขามีองค์กรที่กำกับดูแลรายการโทรทัศน์ที่มีฉากข่มขืนซึ่งทางบ้านเขาจะมีเรทกำกับ แต่เมื่อนำมาฉายในเมืองไทยจะเปิดตอนไหนก็ได้ พร้อมกับยกตัวอย่างการกำกับของนิตยสารเนื่องจากว่าอ่านง่าย เวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร นำเสนอเรื่องเพศ ในเมืองไทยพบว่านิตยสารที่วัยรุ่นอ่านมากที่สุด คือ Cheez Aday FHM ซึ่ง FHM คือนิตยสารโป้เปลือย ในสมาคมธุรกิจผู้ประกอบการนิตยสารหากคุณจะต้องนำเสนอเรื่องเพศในนิตยสารซึ่งมีผู้อ่านและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นเขาบอกว่า
1. ห้ามนำเสนอเรื่องเพศที่ไม่ใส่เครื่องป้องกัน คือไม่ใส่ถุงยาง แบบฟรีเซ็กซ์ ถ้าไม่เซฟเซ็กห้ามนำเสนอเด็ดขาดในนิตยสารวัยรุ่น
2. อย่านำเสนอเสมือนว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวร้ายพูดคุยเรื่องเพศ คอลัมน์ที่วัยรุ่นเป็นคนเขียนที่จะบอกว่า อุ๊ยแม่ด่าแน่เลย ห้ามนำเสนอเพราะเป็นจิตวิทยาที่จะทำให้เด็กเริ่มเชื่อไปเรื่อย ๆ ว่าคุยเรื่องเพศจะต้องคุยกับเพื่อน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาด
3. ห้ามนำเสนอฉากข่มขืน หรือว่าเรื่องของการละเมิดทางเพศ หรือมีความชอบธรรมในการล่วงละเมิดเพราะมิฉะนั้นวัยรุ่นจะรู้สึกว่าข่มขืนได้ ซึ่งทางฮอลลีวูดห้ามเด็ดขาด
4. เวลานำเสนอเรื่องนี้ต้องแสดงผลหรือสิ่งที่ตามมาที่เหยื่อได้เผชิญ หรือว่าคนที่กระทำความรุนแรงทางเพศนั้น ไม่ใช่ว่านำเสนอเสร็จแล้วจบเลย ถ้าจะทำสกู๊ปเรื่องนี้ต้องทำจริงจังและนำเสนอให้เห็นถึงผลก็ทบของผู้กระทำและ เหยื่อ และคนอื่น ๆ หรือสมาชิกในครอบครัว
5 ในกรณีที่เปิดนิตยสารคอลัมน์มาแล้วเจอเรื่องเพศ กรุณามีข้อมูลผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหมอ มาเขียนบรรยายให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้เพิ่มบทสนทนาให้เด็ก ครอบครัว และหมอ พูดว่าเด็กในพัฒนาการนี้เป็นอย่างไร พ่อแม่ควรมีทางป้องกันอย่างไร เอาหมอเป็นตัวละคร หรือในกรณีที่เป็นนิตยสารให้มีคอลัมน์ของหมอที่เป็นเรื่องเพศประกบหน้านั้นเลย
นายธาม กล่าวด้วยว่า ข้อสุดท้าย ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะเป็นเหยื่อหรือถูกกระทำก็ตามนำเสนอไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดว่าเราเห็นฉากละครคุณแดงหรือว่าอะไรพวกนี้ ของฝั่งอเมริกาจะห้ามนำเสนอฉากละครที่แสดงให้เห็นถึงฉากพยายามที่จะข่มขืน โดยเฉพาะละครที่เรตต่ำกว่า PG เขาห้ามเลย แต่ว่าที่เห็นในหนังโรงมันเป็นแบบที่จำกัดเรต จำกัดโรง NG17 หรือไม่ก็มากกว่านั้น
“เวลาที่พูดถึงเรื่องหนังเขาใช้คำว่าจำกัด ไม่ได้มีใครมาเซ็นเซอร์ เพราะว่าเราเชื่อว่าสื่อมวลชนได้มีวิจารณญาณสูงเหมือนกับที่เราพูดว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม ให้สื่อมวลชนได้มีวิจารณญาณก่อนนำเสนอ เพราะคุณไม่อยากมีอำนาจรัฐมาเซ็นเซอร์ ฉะนั้นถ้าคุณไม่อยากให้อำนาจรัฐมาทำสื่อมวลชนก็ควรดูแลตัวเอง”
นายธาม กล่าวอีกว่า ในยุคหลังปี2000เป็นต้นไปจะพูดถึง เรื่องความรับผิดชอบ คุณค่าทางสงคม และตัวนี้ก็จะเป็นตัวที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราก็จะพูดถึงการกำกับดูแลเพราะคือ คุมกันเอง หรือ ความรับผิดชอบ ดังนั้นยุคหน้าผู้ประกอบการคนไหนจะเป็นผู้ประกอบการที่ชนะเลิศในอุตสาหกรรม ก็คือผู้ประกอบการที่นึกถึงความรับผิดชอบ หรือ คุณค่าทางสังคม แม้แต่ขายเสื้อผ้าที่ใส่ ก็จะคิดว่าเสื้อผ้านี้ทำดีต่อสังคมหรือไม่
“ดังนั้นผู้ประกอบการต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่อย่างนั้นจะยืนอยู่ในธุรกิจนี้ได้ไม่ยาว ผมอยากให้นึกถึงธุรกิจสร้างสรรค์เข้าไว้จะได้เป็นแรงจูงใจให้เราอยากที่จะทำดีกับสังคมมากขึ้น”
ขณะที่นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง นักสิทธิมนุษยชน และผู้ประสานงานมูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร กล่าวว่า ผู้ที่จะแก้ปัญหาในเรื่องความรุนแรงของละครที่เรากำลังมองเป็นปัญหาสังคมในขณะนี้ คนที่จะทำได้ดีที่สุดละครคือคนเขียนบทว่า ทำไมฉากในละครที่ข่มขืนแล้วข่มขืนอีกถึงยังมี การที่เราได้มาฟังหรือได้พูดคุยกับคนเขียนบทที่มีความคิดเห็นแตกต่างเราจะได้เรียนรู้ว่าอะไรทำให้เขานำเสนอแบบนั้น
"คนเขียนบท มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ดูแล้วตื่นเต้น มุมมองแบบนี้จึงทำให้ละครทุกวันนี้สะท้อนให้เห็นว่าละครมองไม่เห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับอยู่ ซึ่งคนเขียนบทยังต้องการตัวช่วยอีกมาย"
นางสาวนัยยา กล่าวด้วยว่า การร่วมกันตั้งคำถาม หรือคนเขียนบทที่อยากจะทำละครดีๆ หรือการที่เราอยากเห็นบทแบบไหนเป็นความท้าทายว่าเราจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ไปได้อย่างไร ความท้าทายในการสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์ หากจะให้มองก็มองว่าการสร้างองค์ความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญและต้องมีคนทำให้เห็นว่าการเติบโตในโครงสร้างที่กดทับตัวเองเป็นอย่างไร เหล่าผู้สร้างคนเขียนบทต้องมองให้เห็นตัวเองก่อน ก่อนที่จะบอกอะไรให้ใครฟังต้องเห็นตัวเองและรู้เท่าทันตัวเอง
“วันนี้ละครเป็นโครงสร้างผู้หญิงคนหนึ่งต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ทางจิตใจ ผู้หญิงต้องซบอกผู้ชาย ผู้ชายเป็นที่พึ่ง ฉะนั้นคนเขียนบทก็ถูกสิ่งเหล่านี้กดทับ ดังนั้นต้องเท่าทันรื้อปัญหาการนำเสนอภาพเหล่านี้ให้ได้ ถ้าคนเขียนบทมองไม่เห็นก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และกสทช.จะต้องทำให้คนในแวดวงสื่อเรียนรู้และพัฒนาความคิดตัวเองให้เท่าทันว่าถูกอะไรกดทับ”
ด้านนางสาวชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากปัญหาของพระเอกนางเอกในเรื่องการดำเนินเรื่องที่มีการตบจูบนั้นวันนี้เราอาจจะสร้างทางเลือกตัวเอกใหม่ที่ไม่ใช่พระเอกหรือนางเอกแต่ให้เป็นตัวเอกที่เด่นขึ้นมามีบทบาทมีเรื่องราว ซึ่งในบางครั้งหนังพวกนี้จะเป็นหนังทางเลือก หนังที่ดีคือหนังที่จุดประเด็นให้เราคิดต่อบางครั้งตัวเอกอาจจะเป็นตัวที่เลวร้ายมากก็ได้ วันนี้แนวทางของการผลิตรายการละครสำหรับเด็กและสตรีคือการตั้งคำถามว่าเรื่องราวแบบเดิมๆที่มีมุมใหม่ในการดำเนินเรื่องหรือดัดแปลงเรื่องหรือไม่ ซึ่งเราก็พยายามเข้าใจนักเขียนบทรุ่นใหม่ๆว่าพยายามที่จะไม่ให้ติดกับกับเรื่องเดิมๆ แต่ละครหรือหนังคืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่าจะออกมาได้แต่ละเรื่องมีเงื่อนไขมีข้อจำกัดมากมาย ดังนั้นคำว่าประสบความสำเร็จของหนัง อาจไม่ได้วัดกันแค่ว่าหนังประสบความสำเร็จมีคนดูหรือมีรายได้เป็นจำนวนมากก็ได้
“วันนี้นักวิชาการด้านสื่อมวลชนอย่างเห็นงานใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ๆที่มีความรู้เท่าทัน และเป็นวันที่ผู้บริโภคเริ่มมีบทบาทในการช่วยตั้งคำถาม ดังนั้นหากบริบทในสังคมร่วมกันตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นการแก้ปัญหาก็จะค่อยๆเขยิบตามไปด้วย”