กระแสผวา "ไอเอส" ลามหลังอินโดฯจับ "อุยกูร์" ใช้พาสปอร์ตปลอมจากไทย
สำนักข่าวจาการ์ต้า โกลบ (Jakarta Globe) รายงานเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า ตำรวจหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย (Detachment 88) ได้จับกุมชาวต่างชาติถือหนังสือเดินทางปลอมของตุรกี ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย 4 คน พร้อมชาวอินโดนีเซียต้องสงสัยเป็นเครือข่ายกลุ่ม Santoso Group อีก 3 คน ในเขตโปโส (Poso) จังหวัดสุลาเวสีกลาง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 7 คนเข้าสู่กระบวนการซักถามที่สำนักงานใหญ่หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (Brimob) ในเขต Depok จังหวัดชวาตะวันตก
ต่อมา พล.ต.อ.Sutarman ผู้บัญชาการตำรวจของอินโดนีเซีย แถลงว่า ผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติทั้ง 4 คนพูดภาษาอุยกูร์ (กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ประเทศจีน) ลักลอบเข้าไทยผ่านกัมพูชา จากนั้นใช้หนังสือเดินทางปลอมของตุรกีซึ่งจัดหาในไทยเล่มละ1,000 ดอลลาร์ เพื่อเดินทางเข้ามาเลเซีย ก่อนโดยสารเครื่องบินไปลงที่บันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับชื่อตามหนังสือเดินทางของผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คน ได้แก่ นาย Abdul Basyit อายุ 19 ปี นาย Ahmed Bozoghlan อายุ 28 ปี นาย Atlinci Bayram อายุ 19 ปี และ นาย Alphin Zubaidan อายุ 27 ปี
ขณะที่ผู้ต้องสงสัยชาวอินโดนีเซียที่ถูกจับกุม 3 คน ได้แก่ นาย Saiful Priatna อายุ 29 ปี ข้อหาให้ที่พักแก่ผู้ลี้ภัย นาย Muhammad Irfan อายุ 21 ปี และ นาย Yudit Chandra อายุ 28 ปี ข้อหาให้ความช่วยเหลือในการเดินทางแก่ผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติ
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีรายงานว่าทางการสิงคโปร์ส่งกลับผู้ต้องสงสัยชาวอุยกูร์ที่เดินทางไปจากประเทศไทย และถือหนังสือเดินทางปลอมเช่นกัน
อินโดฯผวาโยงไอเอส
มีรายงานด้วยว่า ทางการอินโดนีเซียตั้งข้อสงสัยว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 คน อาจเชื่อมโยงหรือมีความต้องการเดินทางต่อไปยังตะวันออกกลาง เพื่อร่วมรบกับ "กลุ่มรัฐอิสลาม" หรือ "ไอเอส" หรือ "ไอซิส" ที่กำลังทำสงครามยึดครองพื้นที่บางส่วนในอิรักและซีเรียเพื่อตั้งรัฐอิสลามเหมือนที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต
ชาติตะวันตกมองว่า เหล่านักรบไอเอสกำลังเป็นภัยคุกคามใหม่ของโลก!
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องสงสัย 4 คนที่ถูกจับกุมได้ที่อินโดนีเซียกับกลุ่มไอเอส เพราะมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า ชาวอุยกูร์ที่ลักลอบเข้าไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกมีฐานะ มีคนตุรกีคอยอำนวยความสะดวก จัดหาพาสปอร์ตให้เพื่อเดินทางไปตุรกี เนื่องจากต้องการหนีแรงกดดันจากการอาศัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งระยะหลังทางการจีนกดดันชนกลุ่มน้อยอุยกูร์อย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อมีการกระทำในลักษณะก่อการร้ายหลายครั้งชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในเขตปกครองตนเองซินเจียง และมีแนวคิดแยกตัวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ต้องสงสัยอุยกูร์ที่สงขลายังอยู่
อนึ่ง เมื่อต้นเดือน มี.ค.57 มีการพบชาวมุสลิมไร้สัญชาติจำนวน 229 คน อยู่ในป่ายางพาราท้องที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ทั้งหมดอ้างตัวว่าเป็นชาวตุรกีหลบหนีเข้าเมือง แต่ทางการจีนยืนยันว่าเป็นชาวอุยกูร์ที่ลักลอบเข้าไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม จึงมีการพิสูจน์สัญชาติกันโดยเจ้าหน้าที่ตุรกีและเจ้าหน้าที่จากจีน ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
พล.ต.ต.ดร.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 (ผบก.ตม.6) จ.สงขลา กล่าวว่า กรณีชาวมุสลิมไร้สัญชาติที่อ้างตัวว่าเป็นชาวตุรกีหลบหนีเข้าเมืองนั้น ขณะนี้ยังคงอยู่ในความดูแลของ ตม.เหมือนเดิม ยังไม่สามารถดำเนินการผลักดันกลับประเทศได้ เพราะยังอยู่ระหว่างการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแท้จริง
"ทางเรายังต้องรอคำตอบจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการพิสูจน์สัญชาติของชาวมุสลิมไร้สัญชาติทั้งหมด เพื่อจะได้ดำเนินการผลักดันกลับไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบจากทางกระทรวงการต่างประเทศเลย หากอยากทราบเรื่องความคืบหน้าการพิสูจน์สัญชาติคงต้องไปถามจากกระทรวงการต่างประเทศ ทาง ตม.6 เรามีหน้าที่ควบคุมไว้ก่อนเท่านั้น"
ส่วนข่าวการจับกุมมุสลิมอุยกูร์ต้องสงสัยก่อการร้าย 4 คนที่อินโดนิเซีย โดยข่าวระบุว่าใช้หนังสือเดินทางปลอมที่จัดหาในประเทศไทยนั้น ผบก.ตม.6 กล่าวว่า ยังไม่ทราบข่าวหรือได้รับการประสานขอความช่วยเหลือให้ตรวจสอบว่ามีการผ่านเข้าออกในพื้นที่รับผิดชอบแต่อย่างใด ขณะที่เรื่องขบวนการปลอมแปลงหนังสือเดินทางในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังไม่เคยพบหรือจับกุมได้ว่ามีฐานการผลิตหรือปลอมแปลงหนังสือเดินทางอยู่ในพื้นที่ ส่วนมากที่พบและจับกุมได้จะเป็นการนำหนังสือเดินทางปลอมมาใช้มากกว่า ซึ่งเป็นหนังสือเดินทางที่มีกระบวนการผลิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถูกนำมาใช้หรือซื้อขายกันในพื้นที่ประเทศไทย
วงถก"ข่าวกรองอาเซียน"เครียด
แม้จะยังไม่มีการยืนยันหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มอุยกูร์ หรือโรฮิงญา ที่พบปัญหาเดินทางลักลอบเข้าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับกลุ่มไอเอส ทว่าประเด็นนักรบรัฐอิสลามก็เป็นหัวข้อสำคัญที่ทุกประเทศในแถบนี้ให้ความสนใจอย่างยิ่ง
ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมหน่วยข่าวกรองอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ปรากฏว่าผู้แทนจากหน่วยข่าวกรองชาติต่างๆ แสดงความกังวลกับสถานการณ์การแพร่แนวคิดของไอเอสสูงมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวส์ สเตรทไทม์ ของมาเลเซีย รายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ก.ย.57 ว่า อดีตสมาชิกพรรคปาส (PAS) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านของมาเลเซีย ที่รัฐเคดาห์ เข้าร่วมรบกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย และได้เสียชีวิตลงเมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.ย. เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการโจมตีเมื่อวันอังคารที่ 9 ก.ย.
อย่างไรก็ดี พรรคปาสได้ถอนสมาชิกภาพของอดีตสมาชิกรายนี้ หลังรับทราบว่าได้เข้าร่วมรบกับกองกำลังติดอาวุธในซีเรีย ซึ่งรัฐเคดาห์มีพื้นที่บางส่วนติดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ต่อมาเมื่อวันพุธที่ 17 ก.ย. ทางการออสเตรเลียสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มไอเอสได้ราว 15 คนในนครซิดนีย์ เมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศ โดยตำรวจออสเตรเลียระดมกำลังกว่า 800 นายออกกวาดจับผู้ต้องสงสัย 15 คน เพราะเกรงจะก่อการร้ายด้วยการสุ่มจับคนไปฆ่าตัดคอ
เมื่อราว 1 สัปดาห์ก่อนหน้า ทางการออสเตรเลียเพิ่งประกาศยกระดับการระวังภัยก่อการร้ายจากระดับกลางเป็นระดับสูง
ข้อมูลจากทางการของออสเตรเลีย ระบุว่ามีชาวออสซี่ราว 60 คนไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอส แต่ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการระบุว่า น่าจะมีชาวออสเตรเลียไปร่วมกับนักรบไอซิสถึง 300 คน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : แผนที่อาเซียนและออสเตรเลียจากกูเกิล