จับกระแสแยกดินแดนทั่วโลกหลังโหวตสกอต นักวิชาการไทยยันไม่กระทบใต้
การลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์จากสหราชอาณาจักร ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.ย.2557 หลังจากรวมเป็นราชอาณาจักรเดียวกับอังกฤษมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1707 หรือ 307 ปีนั้น กำลังจุดกระแสการแบ่งแยกดินแดนในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก
คูร์ต รีออน นายกเทศมนตรีเทศบาลสเตน็อกเกอร์เซล ในเขตฟลานเดอร์สของเบลเยี่ยม ติดตามสถานการณ์ก่อนการลงประชามติของสกอตแลนด์อย่างใกล้ชิด และลุ้นระทึกอย่างมีความหวังว่า หากการแยกตัวในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้แคว้นฟลานเดอร์ส หรือ เขตที่ใช้ภาษาดัตช์ มีโอกาสแยกตัวออกจากเบลเยี่ยม
นักชาตินิยมและขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั่วโลกต่างเฝ้ารอและคาดหวังว่าจะเห็นความสำเร็จของการแยกตัวเป็นเอกราชครั้งนี้ หลังจากสกอตแลนด์และอังกฤษรวมเป็นสหราชอาณาจักรเมื่อ 307 ปีก่อน
นาอิฟ เบซวาน จากมหาวิทยาลัย มาร์ดิน อาร์ตุกลู ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นเคิร์ด ในตุรกี ก็เป็นพื้นที่ที่มีแนวคิดในการตั้งประเทศเคอร์ดิสถาน เขาบอกว่า การแบ่งแยกดินแดนผ่านการทำประชามติครั้งนี้จะเกิดผลกระทบที่ตามมาอย่างมหาศาล
ก่อนหน้านี้ หลายชาติก็แยกจากกันด้วยดี อย่างเช่น สาธารณรัฐเช็ค และ สโลวัค ที่แยกประเทศกันเมื่อปี 2536 หรือการทำประชามติแยกตัวของนอร์เวย์จากสวีเดนเมื่อปี 2448 แต่หลายประเทศที่พยายามรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวเอาไว้ก็มักเกิดความสูญเสีย อย่างเช่น สงครามกลางเมืองในสหรัฐ การต่อสู้ระหว่างตุรกี และกลุ่มชาตินิยมเคิร์ด หรือเอกราชของโคโซโว ที่ต้องเสียเลือดเนื้อทำสงครามกับเซอร์เบีย
แดเนียล มิลเลอร์ ผู้นำของกลุ่มเคลื่อนไหวเท็กซัส เนชันนัลลิสต์ มูฟเมนท์ กล่าวที่มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิงในสกอตแลนด์ว่า สกอตแลนด์จะเป็นตัวอย่างให้กับหลายแห่งในโลก รวมถึงเท็กซัส ที่จะได้มีเอกราชเหนือดินแดนของตัวเองเสียที
เช่นเดียวกับ หวัง ดัน ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 บอกว่า ถ้าสกอตแลนด์แยกประเทศสำเร็จ ไต้หวันก็อาจทำประชามติเพื่อยืนยันความเป็นเอกราชจากจีนได้
ฟรองซัว อัลฟงซี ผู้นำการแย่งแยกแคว้นคอร์ซิกาจากฝรั่งเศส ยอมรับว่า เหตุการณ์ในสกอตแลนด์ อาจสร้างความยุ่งเหยิงไปทั่วโลก แต่ประชาธิปไตยก็เป็นหนึ่งในเรื่องยุ่งเหยิงอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่ยุโรปต้องการ การแบ่งแยกประเทศจะทำให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจการปกครองมากขึ้น
ส่วน มาร์ค เดเมสแมเกอร์ สมาชิกรัฐสภายุโรป ชาวแคว้นฟลานเดอร์สในเบลเยี่ยม บอกว่า การแยกตัวของสกอตแลนด์มาจากความไม่พอใจที่อังกฤษให้พื้นที่กับสกอตแลนด์และเวลส์น้อยเกินไป ประชามติครั้งนี้จะเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญของประชาธิปไตย
อัลเฟรด บอช สมาชิกสภาของแคว้นคาตาโลเนียในสเปน บอกว่า การลงประชามติของสกอตแลนด์จะมีผลต่อการตัดสินใจของคนในแคว้นคาตาโลเนียที่จะทำประชามติแยกประเทศจากสเปนในวันที่ 9 พ.ย.เช่นกัน
ย้อนอดีตประชามติแยกดินแดน 5 ครั้ง
สำหรับการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน 5 ครั้งสำคัญในโลก ประกอบด้วย
1.ประชามติแยกอัลจีเรียออกจากฝรั่งเศส เมื่อปี 2505 ผลคือเห็นด้วย 99.72% ไม่เห็นด้วย 0.28%
2.ประชามติแยกไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2516 เห็นด้วย 1.1% ไม่เห็นด้วย 98.9%
3.ประชามติแยกควิเบกออกจากแคนาดา เมื่อปี 2538 ผลคือ เห็นด้วย 49.42% ไม่เห็นด้วย 50.58%
4.ประชามติแยกมอนเตเนโกรออกจากเซอร์เบียและมอนเตเนโกร เมื่อปี 2549 เห็นด้วย 55.5% ไม่เห็นด้วย 44.5%
5.ประชามติแยกซูดานใต้ออกจากซูดาน เมื่อปี 2554 เห็นด้วย 98.83% ไม่เห็นด้วย 1.17%
10 ดินแดนเข้าคิวขอแยกตัว
สำหรับดินแดนที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช 10 แห่งในปัจจุบัน รวมสกอตแลนด์ด้วย ได้แก่
1.ไซปรัสเหนือ จากประเทศไซปรัส
2.สกอตแลนด์ จากสหราชอาณาจักร
3.คาตาโลเนีย จากประเทศสเปน
4.บาสก์ จากสเปนและฝรั่งเศส
5.เคอร์ดิสถาน จากตุรกี, อิรัก และซีเรีย
6.โซมาลีแลนด์ จากโซมาเลีย
7.โคโซโว จากเซอร์เบีย
8.เซาธ์ออสซีเซีย จากจอร์เจีย
9.ทรานสนิสเตรีย จากมอลโดวา
10.นากอร์โน-คาราบัค จากอาเซอร์ไบจาน
นักวิชาการไทยยันไม่กระทบชายแดนใต้
ทัศนะของนักวิชาการด้านความมั่นคงในประเทศไทยมองว่า กระแสแยกดินแดนจากการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ จะไม่มีผลต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีกลุ่มอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงเพื่อเอกราชของดินแดนปัตตานี
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกประเทศและตั้งรัฐใหม่มีอยู่ในหลายประเทศ ถ้าสำเร็จขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะส่งผลไปยังขบวนการแบ่งแยกในประเทศอื่นๆ ให้มีพลังขึ้นมา ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ถือเป็นเรื่องปกติ
"ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง ไม่ใช่กบฏแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นกระบวนการขอแยกประเทศตั้งรัฐใหม่ ซึ่งในรัฐประชาธิไตยนิยมใช้การทำประชามติ หลายพื้นที่เคยเกิดมาแล้ว เช่น รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา หรือแม้แต่ในอินโดนีเซียก็มีการทำประชามติกรณีติมอร์ตะวันออก แยกตัวเป็นติมอร์เลสเต"
อย่างไรก็ดี ดร.ปณิธาน มองว่า แม้กระบวนการนี้จะส่งผลกระทบในหลายประเทศที่มีขบวนการแบ่งแยกประเทศอยู่ แต่จะไม่มีผลกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใช้กำลังในการต่อสู้ หรือมีลักษณะเป็น "กลุ่มกบฏ"
"การใช้ความรุนแรงจะเป็นอีกบริบทหนึ่ง ขบวนการที่มีการต่อสู้และยังไม่สงบจึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกรณีประชามติของสกอตแลนด์ เพราะเมื่อมีการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างรัฐกับกลุ่มกบฏ รัฐที่เป็นอธิปไตยหลายรัฐย่อมไม่สนับสนุนกลุ่มกบฏ ฉะนั้นกรณีสกอตแลนด์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาคใต้ของไทยในทางตรงมากนัก แต่ทางอ้อมอาจทำให้ขบวนการที่ต่อสู้อยู่มีความชอบธรรมมากขึ้น หรืออาจจะต้องยุติความรุนแรงลง จะได้มีความชอบธรรมในการทำประชามติตามวิถีทางประชาธิปไตย" ดร.ปณิธาน กล่าว
ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมีบทบาทในการประสานกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อจัดกระบวนการพูดคุยหาทางออกเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า กรณีของสกอตแลนด์กับอังกฤษจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะไม่เกี่ยวอะไรกัน พื้นฐานและเงื่อนไขของปัญหาก็ไม่เหมือนกันเลย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 แผนที่จากเว็บไซต์ http://www.mcducation.org/about-scotland/
2 เนื้อหาบางส่วนจากทีมข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ NOW26