เหมืองเเร่ทองคำ จ.เลย:เปิดต้นทุนชีวิต เปรียบวิกฤตต่างชาติ ก่อมลพิษ?!?
WHO ชี้ว่า เหมืองเป็นกระบวนการอุตสาหกรรมหลักในบรรดากิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในอากาศ น้ำ และดิน โดยจะพบได้ทั่วไปในปริมาณน้อยมากในหิน ดิน น้ำ และอากาศ อย่างไรก็ดี ความเข้มข้นอาจสูงขึ้นเนื่องมาจากกระบวนการผุกร่อนของกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมเหมืองโลหะ
นับตั้งแต่ปี 2549 ที่กิจการผลิตแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้ประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด หากแต่ภายหลังได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมจนถึงปัจจุบัน อันเนื่องจากมีชาวบ้านหลายรายเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งต่างเชื่อว่าเกิดจากสารมลพิษปนเปื้อนจากกิจการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการระบุชัดหรือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศ และศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา ม.คุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น จึงเข้ามาศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมจัดสัมมนา ‘ข้อเท็จจริงและความจริง:เหมืองทองคำ จ.เลย’ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและเปิดให้สังคมได้สร้างความเข้าใจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงหยิบยกผลการศึกษาที่น่าสนใจมานำเสนอ...
เผยสถิติต้นทุนเลี่ยงเจ็บป่วย 7 ปี กว่า 500 ล้านบ.
‘กาญจนา ยาอุด’ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยผลวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการทำเหมืองแร่ทองคำ กรณีศึกษา อ.วังสะพุง จ.เลย โดยใช้พื้นที่ศึกษา 6 หมู่บ้าน ใน ‘บ้านกกสะท้อน’ (ฟากห้วย) และ ‘บ้านนาหนองบง’ ต.เขาหลวง จ.เลย จำนวน 70 ครัวเรือน เปรียบเทียบกับ ‘บ้านเล้า’ ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 70 ครัวเรือน ซึ่งจากการรวบรวมแบบสอบถาม ปรากฏว่า ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมสองพื้นที่ไม่แตกต่างกัน
เมื่อมาดูต้นทุนความเจ็บป่วย (Cost of Illness) สำหรับโรคที่ผู้วิจัยได้สอบถามชาวบ้าน ได้มีการอ้างอิงจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยที่ได้เก็บข้อมูลสุขภาพจากชุมชนรอบเหมือง ได้แก่ โรคเหน็บชา/กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผื่นคัน/ผิวหนังอักเสบ ตาพร่ามัว และไตวาย
จากผลการสัมภาษณ์ ‘กาญจนา’ พบว่า พื้นที่ศึกษา 70 ครัวเรือน มีผู้อยู่อาศัยรวม 323 คน มีจำนวนผู้ป่วยจาก 4 โรคข้างต้น จำนวน 26 คน หรือคิดเป็น 8.05% ซึ่งต้องจ่ายค่ายาซื้อทานเอง 429.38 บาท/คน และมีค่ารักษาในสถานพยาบาลเอกชน 2,500 บาท/คน
ขณะที่ข้อมูลจากพื้นที่เปรียบเทียบ 70 ครัวเรือน มีผู้อยู่อาศัยรวม 310 คน มีจำนวนผู้ป่วยจาก 4 โรคข้างต้น 6 คน คิดเป็น 1.94% ซึ่งไม่มีการซื้อยาทานเอง และไม่มีค่ารักษาในสถานพยาบาลเอกชน
นักศึกษาปริญญาโท ยังระบุถึงต้นทุนการเจ็บป่วยของประชาชนทั้ง 6 หมู่บ้าน 3 ปี (2554-56) ทั้งสิ้น 3,133,249.26 บาท
จากปัญหาความเจ็บป่วย ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ส่งผลให้เกิดต้นทุนขึ้น ‘กาญจนา’ จึงศึกษาต้นทุนด้านน้ำดื่มในครัวเรือน น้ำใช้ในครัวเรือนและเกษตรกรรม รวมถึงด้านอาหาร
โดยพฤติกรรมดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากประกาศของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ฉบับที่ 1/2552 เรื่อง เตือนให้ประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เนื่องจากพบ ‘สารหนู’ ปนเปื้อนในน้ำห้วยเหล็ก บ้านกกสะทอน พบสารแมงกานีสในลำห้วยผุก บ้านนาหนองบง และพบสารแคดเมียมในระบบประปาบาดาลบ้านนาหนองบงในปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐาน
ทั้งนี้ ต้นทุนด้านน้ำดื่มในครัวเรือน:พื้นที่ศึกษา มีการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด 98.57% ดื่มน้ำฝน 1.43% และมีค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มเฉลี่ยเดือนละ 474.23 บาท/ครัวเรือน
ขณะที่ข้อมูลจากพื้นที่เปรียบเทียบพบว่า มีการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเพียง 50% ดื่มน้ำฝน 37.14% และมีค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มเฉลี่ยเดือนละ 150.75 บาท/ครัวเรือน
“ชาวบ้านให้เหตุผลการเลิกดื่มน้ำจากลำน้ำฮวย ห้วยผุก และห้วยเหล็กว่า เพราะสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย ประกาศเตือนให้ระมัดระวังการใช้น้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากพบสารอันตรายสูงถึง 38.46%” กาญจนา กล่าว และว่ามีเพียง 28.21% เท่านั้น เชื่อว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ และไม่แน่ใจว่าปลอดภัยเพียงพอเป็นน้ำดื่ม 23.08%
(กาญจนา ยาอุด)
นักศึกษาปริญญาโท เปิดเผยต่อว่า ด้านต้นทุนน้ำใช้ในครัวเรือน:พื้นที่ศึกษา มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมในประปาที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งภายหลังได้มีการแก้ปัญหาโดยการขุดประปาบาดาลขึ้นมาใหม่ โดยปัจจุบันชาวบ้านหันมาใช้บ่อใหม่ 72.86% มีเพียง 27.14% เท่านั้นที่ยังใช้บ่อเดิม
เมื่อดูในพื้นที่เปรียบเทียบกลับพบยังใช้ประปาจากบ่อบาดาลเหมือนเดิม 75.71% ใช้น้ำบ่อตื้น 18.57% ที่เหลือใช้น้ำจากลำน้ำฮวยเพียง 5.72%
ขณะที่ต้นทุนด้านน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรม ‘กาญจนา’ ระบุว่า พื้นที่ศึกษาเหลือชาวบ้านปลูกผักทานเองเพียง 8.57% เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าแหล่งน้ำใช้ในการเกษตรมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร (ค่าสูบน้ำ) 966.67 บาท/ปี ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เกษตร ไม่เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงมลพิษ
โดยเมื่อดูพื้นที่เปรียบเทียบ ชาวบ้านปลูกผักทานเองสูงถึง 51.43% มีค่าใช้จ่ายในการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (สูบน้ำ) เฉลี่ย 1,674.71 บาท/ปี
นักศึกษาปริญญาโท กล่าวต่อว่า สำหรับต้นทุนด้านอาหารนั้น กรณีพื้นที่ศึกษาพบมีการซื้อผักและเนื้อสัตว์จากตลาดและร้านค้าในชุมชน 100% โดยมีการเลิกจับสัตว์น้ำจากลำห้วยทั้ง 3 แห่งโดยสมัครใจ 80% เพราะเชื่อว่ามีอันตราย และมีค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเฉลี่ยวันละ 203.14 บาท/ครัวเรือน/วัน
ขณะที่พื้นที่เปรียบเทียบชาวบ้านซื้อทั้งผักและเนื้อสัตว์เพียง 61.43% โดยปลูกผักทานเองและซื้อเฉพาะเนื้อสัตว์จากร้านค้าในชุมชน 38.57% มีค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเฉลี่ยวันละ 103.14 บาท/ครัวเรือน/วัน
“พื้นที่ศึกษามีต้นทุนทางสุขภาพตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 -56 รวมสะสม 3,133,249 บาท และมีต้นทุนในการหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยในพื้นที่ศึกษา 6 หมู่บ้าน 1,047 ครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2550-56 รวมสะสม 577,680,281 บาท” กาญจนา ให้ข้อมูล
ย้อนประสบการณ์ต่างชาติ ‘สารหนู’ มลพิษอุตฯ เหมืองแร่?!?
ก่อนที่จะถกเถียงกันว่าสารมลพิษในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย เกิดจากกรณีใด ‘นิชา รักพานิชมณี’ นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ หยิบยกประสบการณ์ต่างประเทศต่างยอมรับว่าเหมืองเป็นกิจการที่ก่อมลพิษสูง โดยจากข้อมูลของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (US EPA) ระบุอุตสาหกรรมเหมืองแร่โลหะเป็นผู้ก่อมลพิษอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 40% ของมลพิษทั้งประเทศ
หลายประเทศจึงกำหนดให้เหมืองและโรงแต่งแร่ต้องรายงานสารพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมทุกปี เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐฯ และประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น อีกทั้งบางประเทศยังออกกฎหมายห้ามใช้เทคโนโลยีที่ก่อมลพิษสูงในการทำเหมืองหรือการแต่งแร่ด้วย ดังกรณีห้ามใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตแร่ทองคำ
นักวิจัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการควบคุมอุตสาหกรรมเหมือง เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ โดยสหภาพยุโรปได้ว่าจ้างให้มีการศึกษาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการทำเหมืองและการจัดการมลพิษจากหินทิ้งและกากแร่ เพราะเหมืองและโรงแต่งแร่มีอายุอยู่ไม่กี่สิบปี แต่มลพิษจะยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานมาก
“กฎหมายในญี่ปุ่นให้อุตสาหกรรมรายงานการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งพบเหมืองโลหะเป็นอันดับ 1 ที่มีการปล่อยสารมลพิษมากที่สุด จาก 24 อุตสาหกรรม” นิชา ยกตัวอย่าง และว่าในสหรัฐฯ ยังพบเหมืองโลหะปล่อยสารหนูสูงสุด โดยมีสัดส่วน 9.6 ล้านกิโลกรัม/ปี หรือคิดเป็น 94.5%
(นิชา รักพานิชมณี)
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด ‘สารหนู’ จึงเป็นมลพิษที่มากับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) อธิบายว่า เหมืองเป็นกระบวนการอุตสาหกรรมหลักในบรรดากิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูในอากาศ น้ำ และดิน โดยจะพบได้ทั่วไปในปริมาณน้อยมากในหิน ดิน น้ำ และอากาศ อย่างไรก็ดี ความเข้มข้นอาจสูงขึ้นเนื่องมาจากกระบวนการผุกร่อนของกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมเหมืองโลหะ
“กากแร่จากกิจการเหมืองแร่โลหะเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของการปนเปื้อนสารหนู และสามารถส่งผลให้หน้าดินปนเปื้อนได้ และในบางกรณีอาจทำให้แหล่งน้ำใต้ดินปนเปื้อนได้ด้วย เนื่องจากมีการพบสารซัลเฟอร์บ่อยในกากแร่ และทำปฏิกิริยากับบรรยากาศและน้ำ จะส่งผลให้เกิดการผลิตน้ำกรดที่สามารถชะละลายธาตุหลายชนิด รวมถึงสารหนู” รายงานขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2544 ระบุไว้
นิชา บอกต่อว่า ต่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สาธารณะมีส่วนร่วมตรวจสอบ แบ่งเป็นกรณีฐานข้อมูลอุบัติเหตุภายในเหมือง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ร้ายแรงในอนาคต จะสามารถสืบค้นได้ตามชื่อเหมือง ผู้รับเหมา หรือที่อยู่
นอกจากนี้ยังมีฐานข้อมูลรายงานผลการตรวจสิ่งแวดล้อม บริเวณเหมืองและโรงงาน รวมถึงประวัติการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของเหมืองก็สืบค้นได้ด้วยรหัสไปรษณีย์ รวมถึงทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก
หลักการหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ การให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นร่วมตรวจสอบและร่วมตัดสินใจ ซึ่งผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างรูปธรรม กรณีการตั้งสภาชุมชนท้องถิ่นด้านพลังงานและเหมืองแร่ในประเทศแคนาดา ก่อตั้งเมื่อปี 2549 ประกอบด้วยผู้นำชุมชนกว่า 200 คน มีภารกิจในการรับรู้ข้อมูลเพียงพอเรื่องโครงการพัฒนาด้านพลังงานและเหมืองแร่ เปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐบาลระดับต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนได้มีช่องทางสื่อสารสาธารณะเทียบเท่าภาครัฐและอุตสาหกรรม
นิชา ยกตัวอย่างอีกว่า สหรัฐฯ ได้จัดตั้งสมาคมผู้เสียภาษี เมื่อปี 2515 ต่อรองกับบริษัทเหมืองสำเร็จจนยอมเลิกผลิตแร่ทองคำด้วยสารไซยาไนด์และเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ก่อมลพิษน้อยกว่า
"กรณียึดหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ในเหมืองทองคำและทองแดง Ok Tedi ประเทศปาปัวนิวกินี โดยปี 2556 รัฐบาลสั่งเพิกถอนสัญญายกเว้นความรับผิดระหว่างบริษัท BHP Billiton และชุมชน พร้อมสั่งให้บริษัทรับผิดชอบความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทเหมืองปิดกิจการและโอนทรัพย์สินที่เหลือทั้งหมดให้กับรัฐและชุมชน รัฐบาลร่วมกับชุมชนกำลังฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน” ผู้วิจัย ทิ้งท้ายตัวอย่างสุดท้าย .
ภาพประกอบหลัก:เว็บไซต์ไทยพับลิก้า