8 เครือข่ายสุขภาพ จี้ปธ.บอร์ดอภ.สางปมทุจริตองค์กร-เร่งสร้างโรงยารังสิต
8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ หารือประธานบอร์ด อภ. เสนอเร่งแก้ปัญหายาขาดเเคลน เปิดโรงงานยารังสิต สร้างความไม่โปร่งใสภายในองค์กร
วันที่ 17 กันยายน 2557 ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานองค์การเภสัชกรรม ได้เชิญตัวแทน 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพเข้าร่วมหารือถึงสถานการณ์และข้อเสนอในการจัดการปัญหาเร่งด่วนของ อภ.ตามที่ได้ทำหนังสือถึงบอร์ด อภ.ชุดใหม่ และอีกหลายหน่วยงานตรวจสอบ อาทิ สำนักงานการตรวจเงินเเผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซุปเปอร์บอร์ด และคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.)
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของผู้บริหาร อภ.ในช่วงที่ผ่านมาทำให้การสั่งซื้อวัตถุดิบ การสั่งผลิตและจัดหายาวิกฤตอย่างหนัก รวมถึงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตที่ล่าช้า ทำให้ตอนนี้ผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก
“จากเดิมรพ.สามารถจ่ายยาให้ครั้งละ 2-3 เดือน ปัจจุบันหลายรพ.ต้องจ่ายยาเป็นรายสัปดาห์ บางแห่งสั่งจ่ายโดยการลดจำนวนลงครึ่งหนึ่ง เช่น จาก 1 เดือนได้ 15 วัน หลาย รพ. ต้องให้คนไข้ไปรับยาเพิ่มที่สภากาชาด สูตร kaletra, AZT,3TC ที่ให้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ บางแห่งนัดรับยา แต่พอผู้ป่วยไปรับยากลับไม่มียาให้ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้รับยาเมื่อไหร่"
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าวต่อว่า การขาดยาต้านไวรัสมีความหมายถึงชีวิตของผู้ติดเชื้อ เราจึงอยากทราบนโยบายของประธานบอร์ดว่ามีทางออกหรือไม่ การเปิดใช้งานโรงงานผลิตยารังสิตเพื่อรองรับการขาดแคลนเวชภัณฑ์อันเนื่องมาจากการปิดปรับปรุงพัฒนาโรงงานผลิตยาพระรามหกมีความคืบหน้าอย่างไร จะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไร เพราะความล่าช้าหมายถึงความตายของคนจำนวนมาก และเราเสนอให้บอร์ดสอบสวนหาสาเหตุ เพื่อหาผู้กระทำผิดและนำไปสู่การพัฒนา อภ.
ด้านผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ระบุเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงเฉพาะยาต้านไวรัสแต่ยังรวมถึงยาโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมา ดูเหมือนผู้บริหาร อภ.ไม่ตระหนักถึงพันธกิจของ อภ.ที่มีต่อสังคม ทั้งไม่มีการวางแผน ลดผลิตยาที่ตัวเองถือครองตลาดไว้มาก และลดหรือเลิกผลิตยาที่ทำกำไรน้อย เกิดปัญหาการจัดหายาของสถานพยาบาล และอาจก่ออันตรายแก่ผู้ใช้ยาด้วย
“เราต้องการทราบวิสัยทัศน์ของประธานบอร์ดและบอร์ดชุดใหม่ว่าจะสามารถทำพันธกิจของ อภ.ได้อย่างไรบ้าง เพราะภารกิจรัฐวิสาหกิจด้านยา ไม่ใช่มุ่งแสวงหากำไร แต่ต้องช่วยสังคม ดังนั้น นอกจากเรื่องการผลิตจัดการยาแล้ว ยังต้องรวมถึงการเร่งโรงงานวัคซีน และการมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านยาของประเทศไทย” ผู้เเทนมูลนิธิสาธารณสุขฯ กล่าว
ขณะที่นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทยชนบท กล่าวถึงเสนอให้บอร์ดสางปัญหาความไม่โปร่งใส และโครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดธรรมาภิบาลต่าง ๆ ด้วย โดยความล่าช้าหรือพยายามเตะถ่วงโรงงานยารังสิตที่ผ่านมา ควรสอบสวนหาคำตอบว่าเกิดจากสาเหตุใด ประกอบกับการที่บริษัทวัคซีนจากญี่ปุ่นถอนความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือแม้แต่ การเช่า รพ.มหาสารคามอินเตอร์เพื่อเก็บน้ำยาล้างไต ซึ่งมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ดำเนินตามระเบียบข้อบังคับพัสดุ อีกทั้งเป็นการจัดจ้างวิธีพิเศษตามอำนาจ ผอ.ทำได้ แต่ยังไม่รายงานบอร์ดเลยด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท .
ภาพประกอบ:www.thailandexhibition.com