"บาบอตาบอด"แห่งปอเนาะบ้านตาแปด
มีคำกล่าวที่ว่า “อิสลามคือวิถีชีวิตของมุสลิม” เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตทุกมิติตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ด้วยเหตุนี้การเรียนการสอนในระบบอิสลามจึงผูกโยงกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย และมีสถาบันการศึกษาพื้นฐานที่เรียกว่า “ปอเนาะ” รองรับรูปแบบการเรียนการสอนเช่นว่านั้น
โดยรากศัพท์ คำว่า "ปอเนาะ" แปลว่ากระท่อมหรือที่พัก หมายถึงที่พักของเด็กนักเรียนที่เรียนศาสนาอิสลามและอยู่ประจำที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นทั้งที่พักและที่เรียนไปพร้อมๆ กัน
ระบบปอเนาะ สามารถเรียนได้ตลอดชีวิต ปอเนาะแต่ละแห่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนาอิสลามเป็นผู้ก่อตั้งและสอนสรรพวิชาต่างๆ เรียกว่า “โต๊ะครู” หรือ “บาบอ” โดยบาบอมีหน้าที่ทั้งสอนหนังสือและเผยแผ่ศาสนาไปพร้อมกัน เป็นการทำหน้าที่ที่ไม่มีค่าตอบแทนในรูปตัวเงิน แต่เชื่อว่าได้บุญและได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมมุสลิม
ปัจจุบันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปอเนาะอยู่ 550 แห่ง เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอย่างเดียว (ปอเนาะแบบดั้งเดิม) 300 แห่ง และเปิดสอนทั้งวิชาสามัญกับศาสนาควบคู่กันประมาณกว่า 200 แห่ง ทั้งนี้ไม่นับรวมปอเนาะที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน
สถานภาพของ “ปอเนาะ” ก็คล้ายคลึงกับสถาบันการศึกษารูปแบบอื่น คือแต่ละแห่งก็จะมีความโดดเด่นและได้รับการเชื่อถือศรัทธาจากพ่อแม่ผู้ปกครองแตกต่างกันไป ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับตัว “บาบอ”
บาบอตาบอด...
ที่บ้านตาแปด หมู่บ้านเล็กๆ ใน ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา หนึ่งใน 4 อำเภอที่มีดินแดนติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบาบอที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งสาเหตุไม่ใช่แค่เพราะความสามารถในการถ่ายทอดวิชาความรู้ของเขาเท่านั้น ทว่าบาบอท่านนี้ยังตาบอดทั้งสองข้าง
และปอเนาะของบาบอก็เปิดสอนในระบบปอเนาะดั้งเดิม คือสอนศาสนาอย่างเดียว โดยมีเด็กๆ อยู่ในความดูแลเกือบร้อยชีวิต
หะยีสะอูดี สาแม วัย 46 ปี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “บาบอสะอูดี” คือชื่อของบาบอท่านนี้ ซึ่งมีประวัติและเส้นทางชีวิตไม่ธรรมดา
บาบอสะอูดี มีพื้นเพเป็นชาว อ.เมืองยะลา แต่มาได้ภรรยาที่บ้านตาแปด จึงใช้พื้นที่บ้านเปิดเป็นปอเนาะ รับสอนเด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน หรือเด็กกำพร้า
ปอเนาะของบาบอชื่อว่า “ตัสกีเราะห์” สอนอัลกุรอานและกีตาบ (หนังสือที่เป็นตำราทางศาสนาอิสลาม เขียนโดยผู้รู้ทางศาสนา) เพื่ออรรถาธิบายเนื้อหาทางศาสนาในด้านต่างๆ จากคัมภีร์อัลกุรอาน และพระวจนะของศาสดามูฮำหมัด
ชื่อเสียงของบาบอนับว่าขจรขจายไปไกล มีเด็กจากหลายอำเภอดั้นด้นมาเรียนที่นี่ ทั้ง อ.เมืองยะลา อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแลมากถึง 80 คน
“จริงๆ แล้วบาบอไม่ได้ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด เพราะตอนเด็กๆ สามารถมองเห็นได้เหมือนคนปกติ แต่ตอนอายุ 2 ขวบ บาบอไม่สบาย ตัวร้อน แม่จึงพาไปหาหมอที่ จ.ยะลา และหมอได้ฉีดยาให้ หลังจากนั้นอยู่ได้ไม่นานตาก็เริ่มมืดลงๆ และมืดสนิทจนมองไม่เห็นถึงปัจจุบัน”
แต่แม้จะตาบอด ทว่าบาบอสะอูดีก็ยังไปโรงเรียนตามปกติไม่มีขาด
“บาบอไปโรงเรียนได้ปกติเหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน บาบอทำทุกอย่างได้หมด เว้นแต่เขียนที่ไม่สามารถทำได้ เพื่อนอ่านบาบอก็อ่าน จนเรียนจนชั้นประถม 4 สมัยนั้น และได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนบาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนา ใช้เเวลา 10 ปีจนจบชั้น 10 และได้เข้าเรียนต่อที่ปอเนาะบาโงบูแกะ หรือเปาะเนาะดารุสลาม ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เรียนได้ไม่นานก็เดินทางต่อไปประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อเรียนเกี่ยวกับสังคมอีก 3 ปี ก่อนที่จะกลับบ้านที่ จ.ยะลา และได้แต่งงานกับภรรยา ก่อนจะเปิดปอเนาะตัสกีเราะห์ที่บ้านตาแปด"
“ข้าวสาร”อาหารหลัก
บอบอ เล่าต่อว่า ได้เงินสนับสนุนจากการรับบริจาคจากพี่น้องผู้ใจบุญเพื่อมาเป็นค่าจ่ายในปอเนาะ ทั้งซื้อข้าวสาร กับข้าว และต่อเติมปอเนาะเพื่อรองรับนักเรียน ภาระที่หนักที่สุดของปอเนาะคือข้าวสาร บางครั้งผู้ใหญ่บ้านกับ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ก็นำมาบริจาคบ้าง ก็ช่วยให้ภาระลดลงหน่อย” บาบอ กล่าว
เด็กทุกคนที่อยู่ในความดูแลของบาบอสะอูดีจะได้รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ อยู่อาศัยและเล่าเรียนฟรี โดยเด็กนักเรียนมีภาระต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแค่คนละ 20 บาทต่อเดือน เด็กใหม่บังคับให้ต้องอยู่ปอเนาะจนครบ 40 วันก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน หากใครหนีหรือมีพฤติกรรมผิดกฎ ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินให้กับทางปอเนาะวันละ 50 บาท เด็กอยู่กินกี่วันที่ปอเนาะ ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายตามจำนวน
“เด็กใหม่ต้องอยู่จนถึง 40 วันเพื่อขัดเกลาและตัดสิ่งที่ไม่ดีจากที่บ้านก่อนเริ่มเข้าสู่การเรียนการสอน ซึ่งช่วงแรกเราจะไม่เน้นหนักเรื่องการเรียนมากนัก แต่เราจะทำให้เขาเป็นผ้าขาวก่อน หลังจากนั้นจะแต่งเติมสีอะไรลงไปก็ได้"
แม้จะต้องดูแลเด็กๆ มากถึง 80 คน แต่บาบอสะอูดีก็บอกว่ายังรับภาระไหว ทว่าก็ไม่ปฏิเสธหากมีผู้ใจบุญจะให้ความช่วยเหลือ
“เราต้องการข้าวสารที่จะนำมาหุงเลี้ยงเด็กๆ เพราะปัจจุบันข้าวสารมีราคาสูง ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซื้อ เราต้องหุงข้าวเลี้ยงเด็กประมาณ 10 กิโลกรัมต่อวัน”
กฎเหล็กของบาบอ
บาบอมีกฎเหล็กเพียงไม่กี่ข้อ แต่ก็สามารถควบคุมเด็กๆ ได้อยู่หมัด เช่น เด็กที่แอบสูบบุหรี่ บาบอจะทำโทษด้วยการใช้โซ่ล่ามที่รั้วปอเนาะ 3 ชั่วโมง และจะลงโทษเด็กที่ไม่ขึ้นละหมาดตอนเช้า ด้วยการให้รุ่นพี่ที่ดูแลนำน้ำแข็งที่ยังเป็นก้อนใส่ในผ้าห่มของเด็กเกียจคร้าน ตื่นสายคนนั้น
“ถ้าต้องการให้เด็กจำ ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง แต่การทำให้เขาอายเขาจะจำได้ดีกว่า นอกจากนั้นเด็กอื่นก็ไม่กล้าเอามาเป็นแบบอย่างอีกด้วย ที่นี่เคยมีเด็กที่ทำผิดเพียง 2-3 คนเท่านั้น และทุกคนจะได้กลับบ้านเดือนละครั้ง อยู่บ้านต้องไม่เกิน 3 วัน เวลาไปและกลับทุกครั้งผู้ปกครองต้องมารับและส่งเท่านั้น ส่วนวันเสาร์ของแต่ละสัปดาห์เป็นวันหยุดของทุกคน”
บาบอจะมีวิธีผ่องถ่ายภาระการดูแลเด็กจำนวนมาก โดยการให้ “รุ่นพี่” ที่อายุมากกว่า เรียนอยู่ชั้นสูงกว่า คอยดูแลรุ่นน้องที่เป็นเด็กใหม่ หรืออายุน้อยกว่า
“รุ่นพี่จะแบ่งหน้าที่ออกเป็นฝ่ายๆ ทั้งฝ่ายความสะอาด ฝ่ายอิบาดะฮ์ หรือศาสนา ฝ่ายปกครอง และฝ่ายกิจกรรม แต่ละฝ่ายจะมีรุ่นพี่รับผิดชอบ 2 คน โดยรุ่นพี่จะเป็นคนสอนรุ่นน้องที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก่อนจะเข้าไปเรียนกับบาบอ”
วิธีการสอนของบาบอก็นับว่าน่าสนใจ เพราะเขาจะเปิดให้เด็กนักเรียนที่เป็นรุ่นพี่อ่านซูเราะห์ หรือ “คำสอนแต่ละบท” จากนั้นบาบอก็จะแปลและอธิบายความ โดยยกตัวอย่างสิ่งที่อยู่รอบตัวเพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย นอกจากนั้นยังสอดแทรกมุขตลกเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่อหรือง่วงนอนด้วย
กีตาบ 1 เล่ม นักเรียนที่อ่านออกเขียนได้ไม่จำกัดว่ากี่คนจะต้องมานั่งเรียนด้วยกัน จะไม่แบ่งชั้นหรือห้องเรียน ทุกคนที่อ่านออกเขียนได้แล้วจะได้เรียนกีตาบเล่มเดียวกันเหมือนกันทุกคน การสอนจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการกำหนดระยะเวลา จนกว่าทุกคนจะเข้าใจก็จะจัดให้มีการสอบ เมื่อทุกคนสอบผ่านก็จะเปลี่ยนกีตาบเล่มใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนเด็กที่ยังอ่านและเขียนไม่ได้ก็จะให้รุ่นพี่เป็นคนติวเข้ม
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ปอเนาะแห่งนี้รับเฉพาะผู้ชาย ไม่รับผู้หญิง เนื่องจากมีภาระต้องดูแลมาก
“เลี้ยงแมวอย่างเดียวพอ ไม่ต้องเลี้ยงปลา ต่อหน้าเจ้าทำเป็นเชื่อง ลับหลังขโมยปลาเอาไปกิน” บาบอกล่าวเปรียบเปรยอย่างคมคาย
“เปิดตา”แม้ว่า”ตาบอด”
บาบอ ยังเล่าอีกว่า สายตาที่มองไม่เห็นไม่ใช่อุปสรรค เพราะนอกจากสอนหนังสือที่ปอเนาะแล้ว ยังมีกิจกรรมพาเด็กๆ ลงพื้นที่เพื่อดาวะห์ หรือเผยแผ่ศาสนาตามชุมชนเดือนละหนึ่งครั้งด้วย
“การออกดาวะห์เราจะออกครั้งละ 1 วันกับ 1 คืน ไปกันทั้งหมดโดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 ชุด แต่จะไม่พาไปไหนไกลนอกจาก อ.เทพา อ.นาทวี จ.สงขลา และ อ.กาบัง กับ อ.ยะหา จ.ยะลา เพื่อสอนให้เด็กรู้จักเข้าสังคม รวมทั้งวิธีการวางตัว ในสังคม เราคิดว่าถ้าเด็กได้แต่เรียนอยู่ในปอเนาะอย่างเดียวเช่นในอดีต จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องเข้าสังคม เช่น ไม่กล้าพูด และเด็กบางคนมีนิสัยทะลึ่ง ก็จะได้เห็นและเรียนรู้การวางตัวอย่างเหมาะสมเวลาอยู่กับคนในสังคม”
“เวลาเรียนก็ต้องเรียนเวลาเข้าสังคมก็สามารถเข้าร่วมอย่างดีได้ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง” บาบอสะอูดี กล่าว
นอกจากดาวะห์แล้ว บาบอยังนำเด็กนักเรียนที่จำอัลกุรอานได้มากที่สุดไปทำอุมเราะห์ (การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่นครเมกกะฮ์ สามารถไปได้ตลอดทั้งปี บ้างก็เรียกว่าแสวงบุญเล็ก) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย
การทำกิจกรรมนอกปอเนาะล้วนต้องเดินทาง และการเดินทางก็ต้องใช้ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญ แต่บาบอสะอูดียืนยันว่าความพิการทางสายตาไม่ได้เป็นปัญหาในเรื่องนี้เลย
“บาบอไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทาง กลับรู้สึกว่ามีข้อดีมากกว่า เพราะเราไปแบบนี้ เจอใครก็อยากให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าไปแบบคนปกติ มีอวัยวะครบ 32 ประการ ก็อาจไม่มีใครอยากให้ความช่วยเหลือก็ได้”
ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ บอบอสะอูดี บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนพูด เรื่องนี้เปรียบเสมือนคนที่อยู่บนต้นไม้สูงกับคนที่อยู่ใต้ต้นไม้ คนที่อยู่บนต้นไม้สามารถกวาดตามองแค่ครั้งเดียวก็มองเห็นไปทั่ว แต่คนที่อยู่ใต้ต้นไม้จะต้องเงยหน้าดูทีละกิ่งๆ
“เหมือนรัฐกับประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รัฐรู้ทุกอย่าง เพราะเขาอยู่ข้างบน เพียงแต่จะแก้หรือไม่เท่านั้น และก็มีบางเรื่องที่รัฐไม่สามารถแก้ได้ เช่น เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจอยู่ในพื้นที่เยอะ แต่เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม” บาบอ กล่าวพร้อมกับยิ้มน้อยๆ
เป็นอีกหนึ่งปริศนาธรรมที่บาบอตาบอดแนะให้รัฐเปิดตา!
--------------------------//รอติดตามอ่าน "ชีวิตจริงของเด็กๆ ในปอเนาะแห่งนั้น"...ในลำดับต่อไป//----------------------------
บรรยายภาพ :
1 บาบอสะอูดี ผู้อารมณ์ดีอยู่เป็นนิตย์
2-3 "ข้าว" อาหารหลักของนักเรียน (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)