นายกฯสั่งรื้อไมค์ฉาว ฟื้นความเชื่อมั่น โปร่งใส-ตรวจสอบได้?
“..ต้องไปสอบสวนขั้นตอนว่าเหมาะสมหรือไม่ ควรจะใช้ดีขนาดนั้นหรือเปล่า จริงๆต้องการให้มีการประชุมทางไกลได้เห็นหน้าตาเวลาสั่งการ เพราะวันหนึ่งต้องเดินไปสู่ประชาคมอาเซียน ส่วนเรื่องราคาเท่าที่ทราบยังไม่ชัดเจน อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ สมควรใช้หรือไม่ ตอนนี้ยุติทั้งหมดแล้ว..”
แล้วที่สุด “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้สั่งรื้อและตรวจสอบโครงการ “ไมโครโฟน” เจ้าปัญหาบนชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เรียบร้อยแล้ว
หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใสตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน!
“ต้องไปสอบสวนขั้นตอนว่าเหมาะสมหรือไม่ ควรจะใช้ดีขนาดนั้นหรือเปล่า จริงๆต้องการให้มีการประชุมทางไกลได้เห็นหน้าตาเวลาสั่งการ เพราะวันหนึ่งต้องเดินไปสู่ประชาคมอาเซียน ส่วนเรื่องราคาเท่าที่ทราบยังไม่ชัดเจน อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ สมควรใช้หรือไม่ ตอนนี้ยุติทั้งหมดแล้ว” นายกฯระบุ
เอาเข้าจริง นี่คือการตัดไฟแต่ต้นลมของผู้นำ หลังจากปมไมโครโฟนฉาวสั่นคลอนภาพลักษณ์รัฐบาลและสวนทางกับแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการโปร่งใส ตรวจสอบได้ของรัฐบาลไปพอสมควร
แม้ก่อนหน้านี้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะออกมาเคลียร์ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ดูเหมือนยิ่งชี้แจง ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม
“พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เพื่อป้องกันความสับสนของข่าวสารนายกฯจึงสั่งให้ยุติหารจัดซื้อจัดจ้างและให้ทบทวนใหม่ว่าจะใช้อะไรมาแทนและมีประสิทธิภาพ ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณเกินเหตุ
พร้อมกับให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาตรวจสอบ
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ไมโครโฟนในห้องประชุมครม.ใหม่ สนนราคากว่า 1.4 แสนบาท ถูกตั้งคำถามว่า แพงเกินจริงหรือไม่? รวมทั้งระบบการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสเพียงใด?
คนที่ออกมาเคลียร์ปมช่วงแรกคือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้นำสื่อมวลชนเดินชนห้องประชุมครม.แห่งใหม่
แต่เป็นเพียงยืนยันว่า ยังไม่มีการลงนามใดๆทั้งสิ้น ทุกอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
ก่อนจะโยนให้กรมโยธาธิการและผังเมืองในฐานะผู้รับผิดชอบเป็นผู้ชี้แจง
ร้อนถึง “มณฑล สุดประเสริฐ” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ออกมาชี้แจงว่า (5 กันยายน) ตั้งแต่ประเด็นยังไม่ได้มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ยังไม่มีการตรวจรับงาน และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอส่วนลดจากราคาตั้งเสนอขายเครื่องละ 1.45 แสนบาท เหลือ 9.52 หมื่นบาท
ส่วนเหตุผลที่เลือกบริษัท “อัศวโสภณ” ชี้แจงว่า เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ ผ่านงานสำคัญเรื่องการติดตั้งระบบเสียง
กระทั่งคำถามว่า เหตุใดจึงติดตั้งไมโครโฟนก่อนทำสัญญา ?
อธิบดีกรมโยธาฯ ชี้แจงว่า เพราะต้องการทดสอบระบบเพื่อให้แน่ใจว่าระบบติดตั้งแล้วสามารถใช้การได้จริง ไม่นับรวมคำชี้แจงที่ว่า ไม่สามารถนำใบขนสินค้ามาแสดงต่อสื่อมวลชนได้ เพราะกลัวจะมีผลต่อการแข่งขันทางการค้าของบริษัท
กระนั้นก็ตาม ยิ่งชี้แจงยิ่งไม่ชัดเจน กระทั่งนายกฯระบุในวันแถลงนโยบาย(12 กันยายน)ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องไมโครโฟนแล้ว “ การทุจริตคอร์รัปชั่น จะป้องกันและปราบปรามอย่างเต็มที่ เช่น ปัญหาเรื่องไมโครโฟน ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ฉะนั้น อะไรที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ขณะที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ออกมารับลูกนายกฯ ไต่สวนปมดังกล่าวทันควันในวันเดียวกับที่นายกฯแถลงนโยบาย
สอดคล้องกับผลสำรวจมาสเตอร์โพล (14 กันยายน) ที่สำรวจแกนนำชุมชนทั่วประเทศ 600 ชุมชนพบว่า ร้อยละ 508 เคลือบแคลงสงสัยปมไมค์ฉาว และร้อยละ 472 ระบุให้ยกเลิกโครงการ มากว่าร้อยละ 352 ที่เห็นว่า รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรและเดินหน้าทำงานต่อไป
ทั้งหมดนี้ นำมาสู่การสั่งรื้อไมค์ฉาว ในวันประชุมครม. 16 กันยายน