สภาหอการค้าฯ เสนอกระทรวงการคลังเร่งปฏิรูปภาษีสรรพสามิต
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยผลวิจัยการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ของม.หอการค้าไทย แนะทบทวนการจัดเก็บภาษีสินค้าแต่ละประเภทให้เหมาะสมและเป็นธรรม เตรียมเสนอผลวิจัยฯให้กระทรวงการคลังพิจารณาตามแนวทางปฏิรูปประเทศโดยเร่งด่วน
ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายภาษีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ของไทยทั้งระบบ จึงได้มอบหมายให้ สถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไปเมื่อต้นปี และขณะนี้ได้ทำการศึกษาเสร็จแล้ว
ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ กล่าว่า การปฏิรูปภาษีสรรพสามิตจะเกิดประโยชน์กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าเพราะเชื่อว่าจะช่วยสร้างความโปร่งใส ความชัดเจน ความเป็นธรรม และเตรียมพร้อมในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ในระยะยาวให้กับภาครัฐ การปฏิรูปภาษีสรรพสามิตจึงควรเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่จะได้เร่งพิจารณาตามแนวทางปฏิรูปประเทศโดยเร่งด่วนต่อไป
"ขณะนี้กรมสรรพสามิตกำลังจัดทำร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต และได้มีการเชิญตัวแทนของสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ เข้าไปร่วมให้ความคิดเห็นซึ่งเป็นเรื่องที่ดี กระทรวงการคลังน่าจะใช้โอกาสนี้ในการเร่งปฏิรูปภาษีสรรพสามิตของไทยทั้งระบบ และนำเอาข้อเสนอจากงานวิจัยฉบับนี้ไปประกอบการพิจารณา ซึ่งจะช่วยให้ได้มุมมองจากหลายด้าน" ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ กล่าว
ดร.ศิริญญา ดุสิตนานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยปฏิรูปภาษีสรรพสามิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยในกลุ่มสินค้าหลักที่ทำรายได้สูงสุดให้กรมสรรพสามิต ได้แก่ น้ำมัน รถยนต์ สุรา เบียร์ ยาสูบ และเครื่องดื่ม รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ที่ทำรายได้รวมปีงบประมาณ 2556 จำนวน 432,868 ล้านบาท พบว่า ในด้านวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีนั้นกฎหมายสรรพสามิตและนโยบายภาษีสรรพสามิตในปัจจุบันยังขาดวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจนและเหมาะสม ส่วนใหญ่มุ่งเน้นแต่เพียงด้านรายได้ จึงควรทบทวนการกำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีของสินค้าแต่ละประเภทให้เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้การออกแบบโครงสร้างและอัตรามีความเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงต่อไป
ดร.ศิริญญา กล่าวอีกว่า "แม้ว่ารัฐบาลมองว่าการเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นไปเพื่อสร้างรายได้ ก็ต้องคำนึงถึงด้วยว่าภาษีสรรพสามิตนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดการกับภาระภายนอก (Externalities) ที่เกิดจากสินค้าและบริการนั้นๆ ซึ่งควรเป็นวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเก็บภาษีสรรพสามิตมากกว่าการจัดเก็บเพื่อหารายได้ เป็นหลัก ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากการบริโภคสินค้าเพียงบางประเภทที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ ดังนั้น หากรัฐต้องการสร้างรายได้ รัฐจึงควรใช้เครื่องมือทางภาษีอื่นมากกว่าภาษีสรรพสามิต และควรมีการบูรณาการเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษีอันจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคธุรกิจ"
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเห็นว่าควรมีการวางแผนการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตโดยมุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บ ทั้งด้านการกำหนดโครงสร้างภาษีหรือฐานภาษีให้ชัดเจน แน่นอน เหมาะสมกับแต่ละสินค้าประเภทและไม่เป็นการเพิ่มภาระกับผู้ประกอบการ การกำหนดคำนิยามต่างๆ ที่ชัดเจนเหมาะสม การลดอำนาจการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ การลดภาระทางด้านเอกสารและรายงาน
นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมโดยตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และคำนึงถึงอัตราภาษีของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันปัญหาสินค้าผิดกฎหมายทะลักสู่ประเทศไทย เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการทำให้อัตราภาษีสะท้อนผลกระทบภายนอกทางลบอย่างแท้จริง รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารการจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ ในระยะยาวเห็นควรมีการพิจารณาการบูรณาการ 3 กรมจัดเก็บเข้าด้วยกัน และนำหลักกฎหมายสรรพสามิตที่ดีได้แก่
1. หลักความเป็นธรรม
2. หลักประสิทธิภาพ
3.หลักความโปร่งใส
4. หลักความง่ายต่อการปฏิบัติ
5. หลักความแน่นอน มาปรับใช้
ที่มา:https://www.facebook.com/ThaiChamber/posts/803313573024619