"นโยบายเพื่อคนไทย" เสียงจากคน 14 จังหวัดใต้ ถึง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"
“รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เพิ่งจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อเตรียมเดินหน้าบริหารประเทศตามแนวทางที่ประกาศไว้ แน่นอนว่าหลายประเด็นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ และนี่คือเสียงจากคน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ส่งสะท้อนไปถึงรัฐบาลใหม่ว่าอะไรคือ “นโยบายเพื่อคนไทย” และแสดงพลังว่า “ประชาชนมีตัวตน”!!
แผนพัฒนาภาคใต้ ทุนต่างชาติได้- ชุมชนสูญเสีย
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ 14 จังหวัดภาคใต้ กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ใหม่แห่งอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และปิโตรเคมี ภายใต้ “แผนพัฒนาชายฝั่งภาคใต้” หรือ “เซ้าเทิร์นซีบอร์ด (Southern sea board)” โดยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ที่ จ.ชุมพร สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 โรง (รวม 1600 เมกะวัตต์) ที่ จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 800 เมกะวัตต์ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และท่าเรือปากบาราที่ จ.สตูล
นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ดร. อาภา หวังเกียรติ อธิบายว่า จากผลการสำรวจแหล่งพลังงานของไทย ในปี 2544 ยังพบว่า อ่าวไทยมีก๊าซธรรมชาติอีกเป็นจำนวนมากติดอันดับโลก รัฐบาลจึงพยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านพลังงานของโลก และการกำหนดแผนพัฒนาภาคใต้นี้มีกลุ่มทุนด้านพลังงานอยู่เบื้องหลัง โดยขาดการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่
การวางแผนโครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นการเตรียมความพร้อม สำหรับผลักดันให้ภาคใต้เป็นนิคมอุตสหกรรมใหม่ แทนมาบตาพุดที่ไม่สามารถขยายการเติบโตได้อีก โดยวางโครงการไว้ที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยระยะแรกเป็นการวางผังด้านพลังงาน และระบบขนส่ง เช่น ท่าเรือน้ำลึก สะพานเศรษฐกิจ เชื่อมฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ระบบรถไฟรางคู่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น เช่น โรงถลุงเหล็กที่ อ.ระโนด จ.สงขลา หรือ ปัตตานี คล้ายกับการเริ่มสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในอดีต หากที่กล่าวมาเกิดขึ้นจริง จะมีโรงงานอุตสาหกรรมรอบบ้าน ชุมชนล่มสลาย และการท่องเที่ยวล้มละลาย
ปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้เกิดในทันที แต่ใช้ระยะเวลาในการสะสมปัญหา และไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ ทางออกคือ ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล ที่ยืดเยื้อยาวนาน เสียเวลา และค่าใช้จ่าย กว่าจะได้รับการชดเชย เพราะกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน สุดท้าย ภาคใต้จะมีสภาพไม่ต่างจากมาบตาพุด ซึ่ง อ.จะนะ จ.สงขลา เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว
อนาคตประเทศไทย ออกแบบไว้ล่วงหน้าแล้วกว่า 50 ปี
สอดคล้องกับผลการศึกษา ของนักวิชาการผังเมือง นางสาวภารณี สวัสดิรักษ์ ที่กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี ในปี 2545 กำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำผังประเทศไทย2600 โดยมีผังภาค และผังเมืองรวมจังหวัดมีความเกี่ยวเนื่องกัน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ใช้งบ 148.423 ล้านบาท เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาพื้นที่ และสร้างความสมดุลของการพัฒนาเมืองและชนบท การอนุรักษ์กับการพัฒนา เพิ่มขีดการแข่งขันในเวทีโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
นางสาวภารณี ระบุว่า ตามผังประเทศไทย 2600 ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำทางการเกษตรอุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีด้านอาหาร บริการสุขภาพและการท่องเที่ยว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมดี ชาติมั่นคง และพัฒนายั่งยืน แต่มีการกำหนดให้บางพื้นที่มี “พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ” เอาไว้ด้วยแม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสูง และระบุว่า มีการรองรับแผนปิโตรเคมี เพื่อเป็นศูนย์กลางพลังงาน มีการเตรียมพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และท่อก๊าซ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ตลอดจนรองรับพลังงานนิวเคลียร์
ขัดแย้งกับข้อมูลข้างต้นที่ระบุว่า จะเป็นประเทศชั้นนำทางเกษตร และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผังเมือง 2600 กำลังอยู่ในช่วงการนำเสนอเป็นกฎหมาย ซึ่งถ้ามีกฎหมายออกมารองรับ เท่ากับว่า โครงการใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ต้องมีความสอดคล้องกับผัง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย
บทเรียนจากจะนะ การไร้ความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สุไรดะ โต๊ะหลี ชาว อ.จะนะ จ.สงขลา เล่าว่า วันแรกที่มีการเดินเครื่องโรงแยกก๊าซ คนแก่ในหมู่บ้านช้อคหมดสติ และเสียชีวิตทันที 1 ราย ไก่เนื้อที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้พากันตายยกคอก ชาวบ้านที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน มีหลายครอบครัวป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่สามารถทำอาชีพเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ได้ นอกจากนี้การถมที่ของโรงแยกก๊าซยังส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนัก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชุมชนโดยรอบ ไม่เคยมีเหตุการณ์น้ำท่วม
สุไรดะ บอกว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลบอกว่า จะสร้างโรงแยกก๊าซ และท่อส่งก๊าซเท่านั้น ให้ข้อมูลชาวบ้านว่า จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างแน่นอน แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่ปี โรงไฟฟ้าก็เกิดขึ้นโดยชาวบ้านไม่เคยรับรู้มาก่อน เธออยากให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ฉบับนี้ โดยศึกษาผลกระทบในพื้นที่ อ.จะนะ เป็นต้นแบบ ที่ปัจจุบันมีโรงแยกก๊าซ 1 โรง และโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 745 เม็กกะวัตอีก 1 โรง ยังสร้างผลกระทบมหาศาล
“แล้วโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น โรงไฟฟ้าอีกหลายโรง ท่าเรือ ระบบรถไฟรางคู่ สะพานเศรษฐกิจจะสร้างผลกระทบเพียงใด ซึ่งปัญหาต่างๆ ยังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบ”
เธอย้ำว่า จะบอกเล่าเรื่องราวของคนจะนะสู่สาธารณะ เพราะไม่อยากให้พื้นที่อื่นๆ มีสภาพเช่นเดียวกับบ้านเกิดของเธอ
คนใต้ ไม่เอาอุตสาหกรรมของนายทุน ขอกำหนดอนาคตเอง
ไม่ใช่เพียงแค่คนจะนะที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน แต่กระแสไม่เอาแผนพัฒนาภาคใต้ฯ กลายเป็นแรงกระเพื่อมไปทั่วแผ่นดินด้ามขวาน วันที่ 21-23 ส.ค.54 ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชน 14 จังหวัด ได้จัดกิจกรรม “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41” โดยออกมารวมตัวกันบริเวณวนอุทยานเขาพาง ริมถนนเพชรเกษม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้คนกว่า 1,500 ชีวิต แสดงสัญลักษณ์การต่อสู้ด้วยการนอนตายเกลื่อนบนพื้นถนน (แพลงกิ้ง) เพื่อจะบอกว่า “ถ้าอุตสาหกรรมมา สักวันคนปักษ์ใต้ก็จะต้องตายทั้งหมด” แต่พวกเขาจะไม่ยอมตาย จะลุกขึ้นสู้เพื่อดำรงทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน โดยไม่เอานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่เอาโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ และสะพานเศรษฐกิจ ไม่เอาท่าเรือน้ำลึก ตลอดจนไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ประกาศในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ว่า….
“การพัฒนาจะต้องทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และตามศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองเจ้าของทุนต่างชาติ เพื่อทำลายฐานชีวิตของคนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การเกษตร ประมงชายฝั่ง การท่องเที่ยว การศึกษาและการบริการ”
คนปักษ์ใต้จะกำหนดอนาคตของตนเอง เพื่อการพึ่งตนเองและเป็นอิสระ ไม่ใช่พัฒนาไปสู่ความเป็นทาสขายแรงงานราคาถูก
ส่วนนโยบายที่ต้องการ นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคใต้ จ.ชุมพร บอกว่าต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนเป็นหลัก เช่น ถ้าจะพัฒนาพลังงาน ก็ต้องเป็นพลังงานทางเลือกเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ต้องการการเกษตรกรรมทางเลือก การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หรือ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ใช่การท่องเที่ยวที่นายทุนเป็นเจ้าของ และไม่เอาเมืองอุตสาหกรรมอย่างมาบตาพุด หรือ แม่เมาะ
อาจารย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวถึงปฏิบัติการดังกล่าวว่า เป็นสิทธิชุมชนตามระบอบรัฐธรรมนูญที่จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย กับแผนที่รัฐยัดเยียดให้ เพราะไม่เกิดประโยชน์แก่คนในพื้นที่ เพราะนโยบายและแผนต่างๆ ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และกระบวนการที่สำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ปัญหาดังกล่าว เกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันหรือ ความเลื่อมล้ำ เป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ว่าจะใช้โอกาสนี้ในการใช้อำนาจ แก้ไขปัญหาของประชาชน จะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความชอบธรรมมากขึ้น
“ถ้ารัฐบาลทำอะไรเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง มันจะกลายเป็นกำแพงปกป้องรัฐบาลเอง แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นรัฐบาลใดทำได้เลย”
นายแพทย์นิรันดร์ ยังเสนอทางออกให้รัฐบาล ร่างนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมภาคประชาชนอย่างแท้จริง และต้องออก กฎหมายลูกมารองรับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชน แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิชุมชน หรือ กฎหมายแร่ ก็ไม่ได้ให้ชุมชนมีสิทธิในการตัดสินใจนอกจากกรมทรัพยากรธรณี .
..............................................................
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน "ภาคประชาชน แถลงนโยบายคู่ขนานรัฐบาล "ปรองดอง-แผนพัฒนา-สิทธิชุมชน"
http://www.isranews.org/กระแสชุมชน/ข่าวการเมือง/item/3274-ภาคประชาชน-แถลงนโยบายคู่ขนานรัฐบาล-“ปรองดอง-แผนพัฒนา-สิทธิชุมชน”.html