คำต่อคำ! วิวาทะ“หัสวุฒิ” VS “ตุลาการ” ปมดันกม.ศาลปค.
ตุลาการ ”...ที่ประธานเคยบอกว่าทุกสิ่งในศาลนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยอะไรจะเข้าสู่ที่ประชุมเสมอ แต่ปัญหานี้กลับไม่เคยเอาเข้าสู่ที่ประชุม ทำให้ไม่แน่ใจ ที่ผ่านมาได้ยินผ่านสื่อว่า มีเรื่องร้องเรียนศาลมากมาย เมื่อตอบเขาไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้สงสัยหลายด้าน...” VS หัสวุฒิ ”...มีข่าวลือว่า ตั้งที่ประชุมใหญ่ฯเป็น ก.ศป. เพื่อตั้งรองประธานฯแทนท่านวิชัย หรือเพื่อตัดเรื่องตัวเองไม่ให้ถูกตั้งกรรมการสอบวินัย (กรณีจดหมายน้อยฝากตำรวจ – ผู้เขียน) ผมเรียนท่านได้เลยว่า ผมไม่เอาเรื่องเหล่านี้เข้ามา...”
เป็นประเด็นร้อนที่สังคมและสื่อมวลชนกำลังจับตามองอย่างต่อเนื่อง !
เมื่อมีการนัดประชุมตุลาการทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่สำนักงานศาลปกครอง ระหว่างผู้บริหารระดับสูงของศาลปกครอง และตุลาการศาลชั้นต้น โดยใช้วิธีการประชุมรูปแบบทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีในการประชุมดังกล่าว กลับไม่มีบทสรุปอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวได้
(อ่านประกอบ : หารือ กม.จัดตั้งศาลปค.ไร้บทสรุป “ตุลาการ”เดือด ปัดรับข้อเสนอ"หัสวุฒิ")
นอกจากนี้แทบไม่มีข้อมูลภายในการประชุมดังกล่าวสเล็ดลอดผ่านสื่อมวลชนเลย เนื่องจากสื่อมวลชนถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าไปร่วมรับฟังในการประชุมดังกล่าว
ใครหลายคนอาจสงสัยว่าในที่ประชุมวันดังกล่าว ถกเถียงเรื่องอะไรกันบ้าง และสาเหตุอะไรการประชุมที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 4 ชั่วโมง ถึงไร้ข้อสรุป ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ
ในเทปบันทึกเสียงการประชุมวันดังกล่าว ที่มีความยาวราว 3 ชั่วโมง บันทึกเหตุการณ์การชี้แจง-ถกเถียง ระหว่างนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และผู้บริหารระดับสูงของศาลปกครอง กับฝ่ายตุลาการศาลชั้นต้นที่เดินทางมาด้วยตัวเอง กับที่วีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากต่างจังหวัดไว้อย่างครบถ้วน !
การประชุมดังกล่าว เริ่มขึ้นด้วยคำชี้แจงของนายหัสวุฒิ ที่เห็นว่า จำเป็นต้องเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เนื่องจากสถานะของ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงไม่ชัดเจน และเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย จึงต้องผลักดันร่างดังกล่าวในวาระเร่งด่วน โดยระหว่างที่รอเลือกตั้ง ก.ศป. 60 วัน ได้เขียนบทเฉพาะกาลให้ตั้งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดทำหน้าที่ไปพลาง ๆ ก่อน
ต่อมา นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ชี้แจงว่า องค์ประกอบของ ก.ศป. หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงนั้นยังไม่ครบถ้วน ขาดสมาชิกจาก ส.ว. และคณะรัฐมนตรี จึงได้เสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณา ต่อมาคสช. เห็นว่าเพื่อความถูกต้องจึงควรนำร่างไปเสนอ หลังจากนั้น คสช. ได้นำร่างดังกล่าวเข้าที่ประชุม สนช. ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น เห็นว่า ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีความซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้นให้ดำรงตำแหน่งในระยะสั้นคงไม่มีความเสียหายอะไร
(อ่านประกอบ : เทปประชุมลับ! “หัสวุฒิ”เคลียร์ตุลาการ เดินหน้าดันกม.ศาลปกครอง)
หลังจากนั้นได้เปิดให้บรรดาตุลาการหลายคน หลายจังหวัด ได้ซักถามถึงข้อเท็จจริงในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเกือบทั้งหมดมีอยู่ 2 ประเด็น คือ
1.สถานะของ ก.ศป. หมดสิ้นลงหรือไม่ชัดเจนนั้น ใครเป็นคนตัดสิน
2.บทเฉพาะกาลที่เขียนให้ที่ประชุมใหญ่ฯทำหน้าที่นั้น ผิดหลักการบริหารของ ก.ศป. ที่ต้องมีตุลาการศาลชั้นต้นรวมอยู่ด้วย ถือเป็นการรวมอำนาจไว้ที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพียงแห่งเดียว
ที่น่าสนใจคือ ตุลาการรายหนึ่ง ซักถามว่า “ความไม่ชัดเจนในการคงอยู่ของ ก.ศป. นั้นไม่ชัดเจนในสายตาใคร องค์ประกอบของ ก.ศป. มีความชัดเจนว่าขาดองค์ประกอบคือฝ่าย ก.ศป. ฝ่าย ส.ว. และคณะรัฐมนตรี แต่ต้องแยกกันว่า ความคงอยู่ กับองค์ประกอบไม่ครบมันคนละสว่นกัน เมื่อสถานของ ก.ศป. ยังคงอยู่ ถึงแม้กรรมการไม่ครบถ้วน ก็ซ่อมแซมส่วนที่เหลือไป ไม่ใช่บ้านเราชำรุด เราก็ไปรื้อบ้านทั้งหลัง ถ้าเร่งด่วนก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่เร่งด่วนแล้วไปรื้อทั้งหลัง”
สิ้นเสียงตุลาการรายนี้ เสียงปรบมือก็ดังเกรียวกราวกันลั่นห้อง
อย่างไรก็ดี นายหัสวุฒิ โต้แย้งว่า “ยิ่งฟังไป พวกท่านก็ยิ่งทำลายเกียรติภูมิของที่ประชุมใหญ่ฯ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญ ท่านจะต้องคุยเรื่องนี้ให้ดี ถามว่าที่ประชุมใหญ่เคยทำหน้าที่บริหารบุคคลหรือไม่ ก็เคย เคยเลือกตุลาการศาลชั้นต้นหรือไม่ ก็เคย มีกฎหมายรับรองหรือไม่ ก็มี
ทีนี้บทเฉพาะกาลเสนอที่ประชุมใหญ่อย่างที่ว่า ถ้าเผื่อว่ารัฐบาล หรือผู้มีอำนาจเห็นว่า ก.ศป. มีอยู่ที่เราทำหนังสือไปตั้งแต่ต้น เขาก็ไม่ต้องทำอะไรอย่างที่ผมพูด แต่ที่ผมบอกว่าไม่ได้ทำอะไร คือ เมื่อส่งเรื่องไปยัง คสช. เรื่องกลับเงียบหาย ทีนี้พอเขารับทราบ เขาจึงรีบดำเนินการ เรียกให้เสนอร่างกฎหมายนั้น และร่างที่เรานำเสนอไปก็อย่างที่เรียนว่า เราคัดลอกจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาใส่ไว้ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.นี้ และก็มีบทเฉพาะกาล เพราะเห็นว่า เราต้องคำนึงถึงการไม่มีอยู่ของ ก.ศป. ด้วย”
หลังจากนั้นฝ่ายตุลาการก็รุกไล่ใน 2 ประเด็นข้างต้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายหัสวุฒิ ก็ไม่ได้มีท่าทีตอบโต้ใด ๆ โดยปล่อยให้ตุลาการหลายต่อหลายคนเป็นฝ่ายพูดอภิปรายความเห็น
ตุลาการอีกรายหนึ่ง ได้ซักถามในประเด็นน่าสนใจว่า “การให้ตอบแบบสอบถามของตุลาการทุกศาล แต่เท่าที่ถามมา ปรากฏว่า เท่าที่ทราบได้ให้เจ้าหน้าที่ตอบแบบสอบถามด้วย ซึ่งไม่เกี่ยวกับตุลาการ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เกี่ยวกับตุลาการโดยเฉพาะ ถ้าให้เจ้าหน้าที่ตอบ แล้วรวบรวมมีจำนวนมาก แต่ตุลาการมีจำนวนน้อย มันจะขาดหลักการและเหตุผล”
นายหัสวุฒิ ตอบด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียดว่า “ศาลปกครองไม่ได้มีแค่เฉพาะศาล แต่มีส่วนอื่นอยู่ด้วย ฉะนั้นเกิดปัญหาอะไร ผมคิดว่า มันไม่เห็นมีอะไรที่จะต้องปกปิดหรือปิดบังในบ้านหลังเดียวกัน ควรจะต้องรู้ไว้ด้วย”
ขณะที่ตุลาการอีกรายหนึ่ง ตั้งคำถามว่า “สุดท้ายแล้วจะสรุปการนัดฟังความเห็นนี้อย่างไร เพราะเราเห็นว่าความจริงแล้วน่าจะยังให้มี ก.ศป. อยู่ตลอด จนกว่าจะถึงวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้ ส่วนเหตุผลก็อย่างที่ท่านวิชัยบอกสรุปว่าตกลงจะให้แก้ไขบทเฉพาะกาลใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่ และคำตอบของเราคือถอนร่างออกมา และคุยให้เรียบร้อยก่อน ที่ประธานเคยบอกว่าทุกสิ่งในศาลนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยอะไรจะเข้าสู่ที่ประชุมเสมอ แต่ปัญหานี้กลับไม่เคยเอาเข้าสู่ที่ประชุม ทำให้ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ที่ผ่านมาได้ยินผ่านสื่อว่า มีเรื่องร้องเรียนศาลมากมาย เมื่อตอบเขาไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้สงสัยหลายด้าน”
เสียงปรบมือก็เฮโลลั่นห้องประชุมอีกครั้งหนึ่ง
นายหัสวุฒิ ระบุว่า “อย่างที่บอกว่าถ้า ก.ศป. ยังอยู่ก็ไม่ต้องเสนอกฎหมาย และการเสนอกฎหมายไม่ได้เริ่มที่เรา แต่เป็นทางฝั่งรัฐบาลเสนอแนะกลับมาให้เสนอร่างกฎหมาย เราก็เสนอ ส่วนเรื่องบทเฉพาะกาลก็ต้องเรียนว่ามันรีบด่วน ไม่คิดว่ามันจะเป็นปัญหาอะไรมากมาย เพียงเผื่อไว้ และไม่ใช้ที่ประชุมใหญ่ทำเรื่องที่ไม่สมาร์ทหรอก ผมไม่ทำแน่นอน”
ก่อนจะอธิบายต่อว่า “ส่วนใหญ่ท่านไม่รู้หรอกว่ามีอะไร แต่คนที่เป็น ก.ศป. รู้ว่า ก.ศป. ตกลงกันไม่ได้ ที่ประชุมใหญ่ฯก็ตกลงกันไม่ได้ จึงได้ให้ผมทำหนังสือถึง คสช. และผมตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร ก็อย่างที่เรียนไปว่า เสนอไป 2 เดือนเรื่องก็เงียบ ไม่รู้ว่าเงียบเพราะอะไร ผมก็ไม่อยากพูด แต่เมื่อเสนอร่างกฎหมายนั้น จะบอกว่าท่านไม่รู้ก็ไม่ใช่ ทั้งนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า สิ่งที่ทำไปนั้นไม่ได้มีเจตนา”
“มีข่าวลือว่า ตั้งที่ประชุมใหญ่ฯเป็น ก.ศป. เพื่อตั้งรองประธานฯแทนท่านวิชัย หรือเพื่อตัดเรื่องตัวเองไม่ให้ถูกตั้งกรรมการสอบวินัย (กรณีจดหมายน้อยฝากตำรวจ – ผู้เขียน) ผมเรียนท่านได้เลยว่า ผมไม่เอาเรื่องเหล่านี้เข้ามา แต่ต้องมีองค์กรนั้นเผื่อเอาไว้ ถ้าไม่มี เราไม่รู้ว่าช่วงสั้น ๆ ที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าเกิดอะไรขึ้น คนตัดสินก็คือผม พวกท่านก็ไม่เอา แต่ผมเรียนว่าอะไรกระทบตุลาการ ผมจะต้องทำยืนยันเหมือนเดิม แต่นี่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ถ้าหากในชั้น สนช. มีการแปรญัตติออก ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าไม่ตัดออก ก็มีอยู่ดังเดิม ผมเรียนท่านได้เลย โดยสุภาพบุรุษว่า ผมจะไม่ทำเรื่องที่พูดออกมา โดยเฉพาะเรื่องผมนั้น ผมไม่ทำ”
หลังจากนั้นการประชุมก็ถกกันอย่างเคร่งเครียดใน 2 ประเด็นดังกล่าว ซึ่งท้ายสุดก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เวลาล่วงเลยมาจวบเข้าชั่วโมงที่ 3
นายวิชัย เสนอว่า “เท่าที่ฟังมาทั้งหมด มีความเห็นแตกต่างนิดเดียว คือร่างแก้ไขที่ให้ที่ประชุมใหญ่ฯทำหน้าที่ ก.ศป. จนเลือกตั้งใหม่ แต่ตุลาการทั้งหมดมีความเห็นว่าจะให้ ก.ศป. ชุดเดิมทำหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และถ้าหากแก้จุดนี้ได้ จุดอื่น ๆ ก็ลงตัวหมด ไม่ทราบว่าเราจะหาทางปรองดองในสว่นนี้ได้หรือไม่ ถ้าปรองดองส่วนนี้ได้ ข้อขัดแย้งก็หมด ตกลงกันอย่างไร ก็ไปแปรญัตติตามนั้น ซึ่งจะทำให้เกิดการคุยกันแค่วันเดียวจบ”
นายหัสวุฒิ จึงเสนอว่าควรให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลดังกล่าว และฝ่ายที่เห็นแย้ง โดยมีคนเท่า ๆ กัน
“ผมคิดว่าเราใช้เวลามาพอสมควรแล้ว น่าจะได้ข้อยุติ เพราะว่าสาระสำคัญคงอยู่ตรงบทเฉพาะกาล ผมคิดว่าการตั้งคณะทำงานร่วมจาก 2 ฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กัน ประชุมได้ข้อสรุปอย่างไรก็เอาอย่างนั้น เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งยังดึงดันอย่างนี้ มันก็เถียงกัน ในที่ประชุมใหญ่ฯ ใน ก.ศป. ก็เถียงกันมาแล้ว ดังนั้นให้ตั้งคณะทำงานร่วมคุยหาเหตุผล เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็จบ”
“การที่ผมพูดอย่างนี้ ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่แฝงอยู่ข้างใน เข้าใจหรือไม่ เพราะจริง ๆ ที่ประชุมใหญ่ฯไม่เอา ผมไม่อะไรด้วย ไม่มีส่วนได้เสีย แต่เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดขององค์กร ตั้งคณะทำงานเท่า ๆ กัน ให้ไปศึกษา แล้วหาเหตุผล อันไหนดี เอาอย่างนั้น”
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของนายหัสวุฒิ กลับถูกตุลาการอีกรายหลายคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่า ประชุมกันไปก็ไม่ได้ข้อสรุปอยู่ดี เพราะต่างคนต่างก็มีธงในใจอยู่แล้วทั้งนั้น
ตุลาการรายนี้ เสนอว่า “ฟังไอเดียแล้ว มีมติเอกฉันท์ว่าไม่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมการอย่างที่เสนอ เพราะการที่พวกเราทั้งหมดจำนวน 101 คน ตัดสินใจลงชื่อคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ พวกเราได้ตัดสินใจตรึกตรองกันมาเป็นอย่างดี และเห็นตรงกันว่า กฎหมายในส่วนของบทเฉพาะกาล เป็นการทำลายหลักการของ ก.ศป. เราจึงคัดค้าน ดังนั้นแนวคิดที่ให้ตั้งคณะทำงานร่วมมาปรองดอง เห็นว่าไม่ถูกต้องตามหลักการ และควรทำประชาพิจารณ์ เพราะกฎหมายส่วนบทเฉพาะกาลเกี่ยวข้องกับตุลาการศาลชั้นต้นทุกท่าน”
ขณะที่นายหัสวุฒิ แย้งว่า “ผมไม่ได้บอกว่ายกเลิก ถ้าพิจารณาบอกว่า ยกเลิกมีบทเฉพาะกาล หรือไม่มีบทเฉพาะกาล คณะทำงานก็ทำขึ้นมาสิ แล้วผิดหลักการตรงไหน นี่เป็นประชาธิปไตยอย่างมาก เว้นแต่ไม่ยอมรับผล ผมไม่เห็นว่ามันจะมีอะไรแอบแฝงเลย ถ้าทำอย่างนี้ คณะทำงานก็ไปถกหาเหตุผล และยกร่างอะไรมาก็ตามมานำเสนอ เพราะการตั้งคณะทำงานนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่จริงอยากฟังท่านอื่นด้วย ไม่ใช่เราพูดกันอยู่แค่นี้”
หลังจากนั้นก็เกิดการโต้แย้งกันประปราย เนื่องจากนายหัสวุฒิ ต้องการให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน แต่ทางฝ่ายตุลาการหลายคนกลับเห็นแย้งในประเด็นนี้ และต้องการให้นำถอนร่างกลับคืนมา ก่อนร่วมกันทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง
ท้ายสุด เมื่อไม่มีข้อสรุป นายหัสวุฒิ ได้เสนอประเด็นการตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมาอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจ นายหัสวุฒิจึงมีมติปิดการประชุมในที่สุด
อ่านประกอบ :
"ฝ่ายบริหาร vs.ตุลาการ" ท่าทีหลังชี้แจงกม.จัดตั้งศาลปค.เดือดกว่าเก่า?
101 ตุลาการ ฮือต้านแก้ กม.ศาลปค.ยุบ ก.ศป.ลักไก่เสนอ สนช.
เปิดร่าง กม.ศาล ปค.ชนวน 101ตุลาการเดือด!! ฮือต้าน
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายหัสวุฒิ วิฑิวิริยกุล จาก prachachat