10 ปี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการไม่เข้าเป้า ผุดร่างใหม่ เน้นอิงของเดิม แก้-เพิ่ม 19 เรื่อง
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข้อมูลข่าวสารของราชการ กล่าวขณะบรรยายพิเศษในหัวข้อ ’10 ปี กับการดำเนินนโยบายกฎหมายข้อมูลข่าวสาร’ ระหว่างโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. .... และการพัฒนาการดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการข้อมูลฯ ได้เร่งรัดเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ.2540
เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติมาโดยตลอด แต่ยังคงมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานอยู่หลายประการ ทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร
อาทิ 1.ปัญหาหน่วยงานภาครัฐขาดความรู้ความเข้าใจและความใส่ใจ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ในการให้บริการประชาชนด้านข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะผู้บริหารของหน่วยงาน นอกจากนี้ก็มักจะปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ใช้ดุลยพินิจตามกฎหมาย และไม่แจ้งเหตุผลในการ ออกคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 2.ปัญหาประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ทำให้ไม่สนใจในกามรใช้สิทธิตามกฎหมายให้เป็นประโยชน์ หรือ มีการใช้สิทธิไม่ถูกต้อง และไม่สุจริต โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์หรือกลั่นแกล้งหน่วยงานรัฐ
3.ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพระราชบัญญัติต่างๆ ที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใหม่ๆ ขัดกับพระราชบัยญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารได้กับทุกหน่วยงาน
นายเธียรชัยกล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานในการบริหารการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ดังนั้นทางคณะกรรมการฯจึงได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ขึ้นมาใหม่ โดยปรับปรุงจากพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อให้ให้กฎหมายข้อมูลข่าวสารมีประสิทธิภาพ อันก่อให้เกิดความโปร่งใสของระบบราชการมากขึ้น
ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับที่ร่างขึ้นใหม่นี้ มีสาระสำคัญที่ถูกแก้ไข ปรับปรุง จากฉบับปัจจุบัน ทั้งหมด 19 ประเด็นประกอบไปด้วย
1. การนิยามศัพท์เพิ่มเติมในมาตราที่ 4
2.การยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการให้เทียบเท่ากรมในมาตราที่ 5
3. การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐอย่างเพียงพอในมาตรา 5/1
4. เพิ่มวิธีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาให้รวมถึงการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาฉบับอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ในมาตรา 7
5. การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อมูลข่าวสารบางประเภทขึ้นและเปิดช่องให้เอกชนเข้าร่วมจัดทำในมา ตราที่ 8
6. การเพิ่มประเภทข้อมูลข่าวสาร สาธารณะที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีไว้เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ในมาตราที่ 9 โดยหน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการที่เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เช่น 1.กฎระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียนหรือการตีความหมาย ที่หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาหรือสั่งการ 2.มติคณะรัฐมนตรีหรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้ระบุรายชื่อรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย 3.ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว 4.แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายรับรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของปีที่กำลังดำเนินการ 5.สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
7. การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการทางอินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชนในมาตราที่ 9/1
8. การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีส่วนงานข้อมูลข่าวสารของราชการขึ้นโดยเฉพาะในมาตราที่ 9/2
9. การกำหนดเพิ่มวิธีการยื่นคำขอและระยะเวลาดำเนินการตามคำขอให้ชัดเจนในมาตรา 11
10. การจำแนกประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในมาตรา 15 และ 16
11. การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่เป็นความลับของทางราชการ แบ่งเป็นเรื่องระยะเวลาของการเก็บรักษาความลับในมาตราที่ 16/1 เรื่องการปรับลดและยกเลิกชั้นความลับในมาตราที่ 16/2 16/3 16/4 เรื่องกำหนดประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ไม่ให้ถือเป็นข้อมูลข่าวสารลับในมาตราที่ 16/5 และเรื่องการวางแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เมื่อมีผู้ขอข้อมูลข่าวสารลับในมาตรา 16/6
12. การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยกรณีข้อมูลข่าวสารลับในมาตรา 18
13.การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลต้องจัดทำรายงานการศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิส่วนบุคคลทั้งก่อนและหลังจัดเก็บในมาตรา 22/1
14. การกำหนดให้มีการทำลายข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้ประโยชน์ในมาตรา 23
15. การดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในมาตรา 23/1 และ 23/2
16. การเปลี่ยนชื่อหมวด4 เป็น ‘เอกสารจดหมายเหตุ’ และกำหนดวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุ โดยเพิ่มเรื่องบทบาทของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ในการประเมินคุณค่าข้อมูลข่าวสารใน มาตรา 26/1 รวมถึงกำหนดอายุการเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารของราชการและการห้ามทำลายข้อมูลในมาตรา 26/3 และ 26/4
17. การเพิ่มองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในมาตรา 27 และ 28
18. การเปลี่ยนชื่อหมวด 7 เป็น ‘ความคุ้มครองและบทกำหนดโทษ’ และกำหนดเพิ่มความคุ้มครองแก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในมาตรา 39/1 และมาตรา 39/2 และ
19. การกำหนดเพิ่มบทลงโทษการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในมาตรา 41/4