pattani retweet แง่งามปลายด้ามขวาน...
หนังสือเล่มเล็กสีฟ้าสดใสเล่มนี้ เสมือนเป็นตัวแทนชาวปัตตานีที่บอกเล่าถึงสิ่งดีงามในพื้นที่ซึ่งอยากกู่ก้องให้โลกทั้งใบได้รับรู้ โดยเฉพาะภาพแห่งความงดงามของปัตตานีที่มีอยู่จริง ผ่านภาษาภาพและถ้อยคำทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษามลายู
หากพูดกันตามศัพท์แสงยุคโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ต้องบอกว่าเป็นการ "retweet" (รีทวีต) เรื่องราวความเป็นจริงในพื้นที่ออกไปให้สังคมภายนอกได้รับรู้
คำว่า "รีทวีต" เป็นกริยา ใช้กันแพร่หลายใน "โลกโซเชียลฯ" กลุ่มผู้ใช้ "ทวิตเตอร์" โดยเมื่อเราเผยแพร่ข้อความสั้น ไม่เกิน 140 ตัวอักษร หรือภาพที่เราบันทึกมาจากที่ไหนก็ตาม แล้วกด "ทวีต" เรื่องราวหรือภาพนั้นก็จะเผยแพร่ออกไปในเครือข่ายของทวิตเตอร์
และหากบุคคลอื่นในฐานะ "ผู้รับสาร" ที่ถูกส่งออกมานั้นเกิดความชื่นชอบประทับใจ แล้วอยาก "แชร์" เรื่องราวนั้นต่อไป ก็จะกดปุ่มที่เรียกว่า "รีทวีต"
นักศึกษาจากรั้วศรีตรัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จำนวน 40 ชีวิต มุ่งมั่นตั้งใจให้ "pattani retweet" ออกมาเป็นผลงานที่พวกเขาภูมิใจ ผลงานที่พวกเขาได้ค้นหาและค้นพบว่า ความเป็นจริงแห่งความงามและวิถีแห่งปุถุชนของปัตตานียังมีอีกมากมายนัก ทั้งยังล้วนเป็นแง่มุมที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกสู่สาธารณะได้อย่างมีความหมายผ่านภาพถ่ายและถ้อยคำ
โครงการดีๆ เช่นนี้มาจากไอเดียบรรเจิดของ ดร.บดินทร์ แวลาเตะ อาจารย์จากสาขาภาษาอังกฤษ คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชาวปัตตานีโดยกำเนิด
ดร.บดินทร์ บอกว่า ต้องการสื่อสารเรื่องราวดีๆ ในพื้นที่ออกไปให้สังคมได้รับรู้มากกว่าข่าวสารความรุนแรงและสถานการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นรายวัน และวันนี้ความฝันของเขาก็เป็นจริงแล้ว...
"สิบปีที่ผ่านมาปัตตานีถูกมองเป็นภาพลบอย่างมากจากสายตาคนนอก ด้วยเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น มีทั้งเสียงปืนและระเบิดดัง สังคมซึมซับเสียงเหล่านี้ทุกวันมากกว่าเรื่องราวดีๆ ที่มีอยู่ ทำให้ปัตตานีกลายเป็นพื้นที่น่ากลัว ผมจึงนำเสนอโครงการมัคคุเทศก์น้อยเพื่อการท่องเที่ยว จ.ปัตตานี กับทางมหาวิทยาลัย แม้คนอื่นไม่กล้ามา เราก็จะเสนอภาพและข้อมูลไปให้ได้รับรู้ อย่างน้อยเสียงจากเยาวชนก็จะทำให้สังคมได้รับรู้ว่า ปัตตานีคือวิถีชีวิตที่เรียบง่าย โดยให้เยาวชนที่ถนัดด้านการถ่ายภาพและภาษามาร่วมถ่ายทอด"
ดร.บดินทร์ บอกถึงที่มาของคำว่า pattani retweet ว่า เป็นการนำภาพมาเล่าใหม่ โดยจำกัดคำให้กระชับในการอธิบายภาพ ปิ๊งไอเดียจากโซเชียลมีเดีย "ทวิตเตอร์" จึงจัดการอบรม 5 วันและลงพื้นที่ถ่ายภาพ โดยมี มาหะมะยากี แวซู ช่างภาพอิสระมากฝีมือของปัตตานีมาเป็นพี่เลี้ยง แล้วนักศึกษาได้คิดได้ทำเองทุกขั้นตอน ทั้งคอนเซปต์ ภาพถ่าย จัดหน้า และรูปเล่ม จนออกมาเป็น pattani retweet ดังที่เห็น
นอกจากภาพถ่ายและเรื่องราวสั้นๆ คล้ายรูปแบบของการ "ทวีต" แล้ว ในหนังสือยังจัดทำปฏิทินพหุวัฒนธรรมสามศาสนา สะท้อนถึงความหลากหลายอันเป็น "แง่งาม" ของดินแดนแห่งนี้เอาไว้ด้วย
"ผมตั้งใจส่งหนังสือไปยังสถานที่ที่มีเด็กและเยาวชนไปนั่งหรือใช้บริการบ่อยๆ เช่น ร้านหนังสือ ร้านอาหาร ส่งไปยังรายการในสื่อต่างๆ ที่น่าสนใจ และห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊ค ปรากฏว่ามียอดกดไลค์ (แสดงความชื่นชอบ ชื่นชม) จำนวนมาก สามารถเจาะกลุ่มเยาวชนให้รู้จักพื้นที่ได้ดีขึ้นและภูมิใจในสิ่งที่มีอยู่ เป็นการส่งเสียงให้สังคมได้เปิดหูฟังเสียงอีกด้านหนึ่งของพื้นที่"
หนึ่งในความภูมิใจที่ ดร.บดินทร์ อยากบอกให้สังคมรับรู้ถึงเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทำหนังสือเล่มนี้ คือ มีลูกศิษย์ในโครงการที่นับถือศาสนาพุทธ ก่อนลงมาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานี เขาดื่มเหล้าบ่อยๆ แต่เมื่อมาเรียนที่นี่ทำให้เขาเลิกดื่ม เพราะไม่มีใครไปเป็นเพื่อน ลูกศิษย์คนนี้มีฝีมือในการถ่ายภาพ และได้มาร่วมงานในหนังสือ pattani retweet ด้วย จึงอยากขยายเรื่องราวไปยังพื้นที่ จ.ยะลา และนราธิวาส โดยใช้ pattani retweet นำร่องไปก่อน
อัสปารีซา นิเซ็ง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาภาษาอังกฤษ คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ลูกศิษย์ของ ดร.บดินทร์ ที่ร่วมแรงร่วมใจทำหนังสือเล่มนี้ บอกว่า ได้เห็นมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนแม้จะอยู่ปัตตานีมาหลายปี เช่น การทำเชิงชายบ้าน หรือแกะสลักไม้ที่มีแหล่งทำโดยเฉพาะ
"อ.บดินทร์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา บอกว่ามีโครงการนี้ที่อยากบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ของปัตตานีในมุมมองที่ต่างออกไปด้วยภาพถ่ายและถ้อยคำ มีการแบ่งเป็น 5 กลุ่ม อบรมกัน 5 วันที่วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี เรียนรู้และวางแผนกัน แบ่งหัวข้อค้นหาภาพในมุมสถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี อาหาร ศาสนกิจ และท่องเที่ยว เพื่อให้มีความหลากหลาย ทำให้ได้ไปเจอสิ่งที่ไม่คาดคิด ได้ถ่ายรูปการทำสุนัตหมู่สดๆ ได้ถ่ายวังยะหริ่งด้วยความสะดวกสุดๆ บ้านที่ทำหัวแหวนก็เจอโดยบังเอิญ ได้มีสัมพันธ์กับชุมชน ได้เจอญาติ ได้มิตรภาพของการทำงาน รู้จักเพื่อนต่างคณะที่มาทำงานด้วยกัน ได้รับสิ่งดีๆ เกินคาดมากมาย อยากขยายไปทำกับสถาบันอื่นเพื่อขยายมุมมองที่ต่างออกไป"
"จริงๆ บ้านเราสวยงามมาก บางมุมก็เพิ่งมาเห็นตอนที่ทำหนังสือเล่มนี้ คนที่ไม่เคยเห็นจึงควรได้เห็นด้วยกัน ปัตตานีมีพหุวัฒนธรรมที่เราอยู่ร่วมกันได้ ภาพเดียวบวกถ้อยคำที่กินใจ เป็นการรวมหัวใจหลายดวงมาร่วมมือกัน หากภาพภาพหนึ่งถูกทำลายไป ความจริงหนึ่งถูกทำร้าย เราก็เจ็บปวดกันทุกคน"
อัจนา วะจิดี บรรณาธิการคำภาษาอังกฤษ-ไทย เป็นศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะศึกษาศาสตร์ รั้วศรีตรัง เธอเล่าว่าเป็นชาว จ.กระบี่ ที่มาใช้ชีวิตเรียนหนังสืออยู่ที่ ม.อ.ปัตตานี ในช่วงที่มีความคุกรุ่นของเหตุการณ์รุนแรง แต่ก็ผูกพันกับพื้นที่
"หากต้องจินตนาการว่าต้องจากปัตตานีไป ความคิดถึงต้องทำหน้าที่อย่างหนักแน่นอน งานที่ทำเป็นการถ่ายทอดพลังทั้งภาพและคำ อยากให้น้องๆ ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เขารู้สึก ประหลาดใจกับมุมมองที่แตกต่าง รู้สึกได้ถึงความรูสึกตอนถ่ายภาพนั้นๆ"
"pattani retweet เป็นการเล่าเรื่องที่มีอยู่ เป็นแง่งามที่ถูกกลบด้วยเสียงอื่น การสร้างความเข้าใจเป็นการบอกอีกเสียงหนึ่งได้ เป็นถ้อยคำที่สร้างพลังได้ หากเราเตรียมใจสำหรับการค้นพบ ใจจะเปิดกว้าง งานที่ทำนี้ผลตอบแทนไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่เราได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคม คนเก่งที่คิดเพื่อสังคมมีน้อย ความไม่พร้อมไม่ใช่ปัญหา อยากให้หนังสือเล่มนี้นำพาไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้ส่งเสียงแห่งความดีงามจากพื้นที่" อัจนา บอก
ภาพถ่ายและถ้อยคำในหนังสือสีฟ้าเล่มนี้ น่าจะช่วยให้สังคมได้รับรู้ว่า ดินแดนที่ชื่อว่าปัตตานีมีวิถีแห่งสามัญ มีความสวยงามและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่แพ้พื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย และในโลกใบนี้
หวังให้ทุกคนได้ช่วยกัน "รีทวีต" สิ่งดีๆ ของปัตตานีให้โลกได้รับรู้...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ปกหนังสือ pattani retweet
2 ดร.บดินทร์
3 อัสปารีซา
4 อัจนา