เด็กไทย 18 ล้านซ้อนมอเตอร์ไซค์ AIP พบมีเพียง 7% เท่านั้นสวมหมวกกันน็อค
ผอ.ประเทศไทยมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย เผยสำรวจพบเด็ก 18 ล้านคน เดินทางโดยซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ มีเพียง 7% เท่านั้นสวมหมวกกันน็อค ภายในปี 2560 ตั้งเป้ารณรงค์เพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กให้เป็น 60%
วันที่ 14 กันยายน เครือข่ายองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองเด็กและป้องกันอุบัติภัยบนท้องถนน มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP) และองค์การช่วยเหลือเด็ก จัดงาน “ทำไมเด็กไทยซ้อนท้ายไม่ใส่หมวก” ภายใต้โครงการ The 7% Project ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ ทีเคปาร์ค เซ็นทรัลเวิลด์
นางรัตนวดี เหมนิธิ วินเธอร์ ผู้อำนวยการประเทศไทยมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากทางองค์กรเห็นว่า ทุกวันมีเด็กวัยเรียนประมาณ 18 ล้านคนเดินทางโดยการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อค ดังนั้นในส่วนของประเทศไทย ทางองค์กรจึงเห็นว่าควรเริ่มต้นโครงการกับเด็กๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มทำโครงการไปแล้ว 10 จังหวัด
"เราเลือกที่จะทำงานกับโรงเรียน และครอบครัวเป็นอันดับแรก เนื่องจากการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน คือเส้นทางหลักสำหรับครอบครัวในแต่ละวัน ซึ่งกิจกรรมที่เข้าไปทำไม่ใช่แค่เพียงการไปแจกหมวกกันน็อค แต่มีการสำรวจดูว่าแต่ละแห่งเป็นอย่างไรต้องทำ แบบไหน”นางรัตนวดี กล่าว และว่า ในปีต่อๆไป โครงการนี้จะขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับขยายขอบข่ายการร่วมงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มการรณรงค์ให้ครอบคลุมทุกเส้นทางการเดินทางของเด็กๆ โดยต้องการเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กจาก 7% ให้เป็น 60% ทั่วประเทศภายในปี 2560
ผอ.ประเทศไทยมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย กล่าวถึงการรณรงค์ให้เด็กในประเทศต่างๆ สวมหมวกกันน็อคนั้น เคยทำจนประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศเวียดนาม ซึ่งหลายคนพูดว่า ยากที่การรณรงค์จะเกิดขึ้นได้ 100% แต่น่าแปลกใจว่า เวียดนามที่ใช้มอเตอร์ไซค์กันเป็นจำนวนมาก และไม่เคยมีการรณรงค์มาก่อน วันรุ่งขึ้นประกาศควบคู่กับกฎหมายปรากฎว่า ประชาชนใส่กันหมวกกันน็อคกันทุกคนเรียกว่า 100% ก็ว่าได้ แต่ในเมืองไทยมีการรณรงค์กันมานานมาก แต่ไม่เกิดผลเพราะมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจัง
ด้านนางบังอร ตงสาลี ครูใหญ่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนบ้านคูคตพัฒนา ผู้ที่รณรงค์เรื่องของหมวกกันน็อคกับนักเรียนและผู้ปกครองในชุมชนมากกว่า 8 ปี กล่าวว่า การสร้างพื้นฐานที่ดีตั้งแต่เด็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราสร้างพื้นฐานในสิ่งที่ถูกที่ควรให้กับเด็กย่อมง่ายกว่าไปปลูกฝังตอนเด็กโต ซึ่งโรงเรียนเองก็ต้องมีบทบาทในการสร้างความสำคัญทำกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กๆ ใส่หมวกด้วย
"ปกติเด็กจะสนใจในเรื่องกิจกรรม หากเรานำเรื่องการสวมหมวกกันน็อคเข้ามาเสริมในการสอนก็จะช่วยสร้างความสนใจให้เด็กได้หลายครั้งที่ผู้บริหารมองเรื่องการสร้างกิจกรรมเหล่านี้เป็นภาระ แต่วันนี้อยากให้มองใหม่ว่า นั่นคือภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญหากทุกโรงเรียนจัดเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนการรณรงค์ย่อมประสบความสำเร็จ"
ขณะที่นางเอมิกา หนูแสง คุณแม่ที่สอนลูกๆให้ใส่หมวกกันน็อคจนเป็นนิสัย กล่าวว่า ต้องเริ่มที่ตัวลูกเองให้ตระหนัก และเข้าใจ ทำจนเป็นนิสัย โดยไม่ต้องห่วงว่าจะไม่เท่ห์หรือไม่สวย ทำให้ไม่มีครั้งไหนที่ออกจากบ้านขึ้นขับขี่มอเตอร์ไซค์แล้วพ่อแม่ไม่ใส่หมวกกันน็อค
"เราจะปลูกฝังให้ลูกรับรู้ ใส่หมวกกันน็อคเพื่ออะไร ทำไมต้องใส่ เช่น จะได้อยู่ด้วยกันไปนานๆ ขณะที่ในชีวิตประจำวันก็จะสอน ดูข่าวด้วยกัน เวลามีข่าวอุบัติเหตุก็จะสอนไปด้วย ทำให้เด็กเลือกที่จะซื้อเลือกใส่เอง” คุณแม่เอมิกากล่าว