“นพ.ประกิต” โต้ผอ.รยส. ชี้สสส.รับเงินจากคลังตามกม.กำหนด
“นพ.ประกิต” ขอ ผอ.โรงงานยาสูบเช็คข้อมูลก่อนให้ข่าว หวั่นสร้างความเข้าใจผิด ระบุเงินที่กระทรวงการคลังให้สสส.เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แนะแก้ปัญหาโรงงานยาสูบด้วยการปรับโครงสร้างทางภาษี
จากกรณี น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ให้สัมภาษณ์ออกเคเบิลทีวีช่องหนึ่งโดยมีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และปัญหาภายในของโรงงานยาสูบ (รยส.)
ล่าสุด นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาเครือข่าย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นานาชาติ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ผอ.โรงงานยาสูบ เข้ามาดำรงตำแหน่งได้เพียงสองเดือนจึงไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงของ สสส. และปัญหาของโรงงานยาสูบที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้ ผอ.โรงงานยาสูบควรศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะพูดในรายงานช่องดังกล่าว เพราะเป็นการพูดที่คลุมเครืออาจจะส่งผลให้ผู้อื่นเข้าใจผิดได้
"การกล่าวถึงสสส.ออกอากาศทางเคเบิ้ลว่า ไม่ทราบว่า สสส. นำเงินไปทำอะไร น.ส.ดาวน้อยควรศึกษาข้อมูลหากพูดแบบคลุมเครือจะเป็นการหมิ่นเหม่และเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงต่อทั้งคณะกรรมการกองทุน และกรรมการประเมินผลตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา"
นพ.ประกิต กล่าวถึงกรณีที่ โรงงานยาสูบต้องชำระภาษีเพิ่มขึ้น และกระทรวงการคลังนำส่งให้แก่ สสส. และไทยพีบีเอสนั้นเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ซึ่งทุกบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับบุหรี่ต้องปฏิบัติตามโดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะ รยส.เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่สาเหตุที่ควรนำมาอ้างทั้งนี้เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของ รยส. แต่เป็นเงินของผู้สูบบุหรี่ทุกคน และรัฐบาลก็กำหนดให้ยาสูบ ต้องมีภาษีสรรพสามิต เพื่อลดการบริโภคลง
“โรงงานยาสูบปฏิเสธที่จะบริจาคเงินให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ขอมา เป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้ว เพราะมติ ครม. วันที่ 17 เมษายน 2555 เห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ให้กระทรวงการคลัง ห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เพราะการบริจาคเงินให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นการโฆษณาทางอ้อมและส่งผลทางลบต่อการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ”
ส่วนปัญหาการดำเนินการของ รยส. นพ.ประกิต กล่าวว่า ควรจะเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ซิกาแรตที่คิดตามน้ำหนักหรือตามมูลค่า โดยขณะนี้มีบุหรี่นำเข้าที่ทำมวนขนาดต่ำกว่ามวนละหนึ่งกรัม ทำให้เสียภาษีมวนละไม่ถึงหนึ่งบาท และซองละเพียง 14-15 บาท ทำให้ราคาขายปลีกซองละ 25 บาท แต่บุหรี่ระดับล่างของโรงงานยาสูบยังมีน้ำหนักใกล้เคียงมวนละหนึ่งกรัม มีภาระภาษีเกือบซองละยี่สิบบาท ทำให้ราคาขายปลีกซองละ 33-34 บาท โรงงานยาสูบจึงเสียส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ให้แก่บุหรี่นำเข้ามากขึ้นมากขึ้น
"ทางแก้ความเสียเปรียบของโรงงานยาสูบ คือต้องขอให้กระทรวงการคลัง เสนอกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานให้บุหรี่ซิกาแรตมีน้ำหนักมวนละหนึ่งกรัม บุหรี่นำเข้าที่ราคาถูก ๆ ขณะนี้ ก็จะต้องเสียภาษีเท่ากับบุหรี่ของโรงงานยาสูบ ทำให้ราคาสูงขึ้น โรงงานยาสูบก็จะเสียส่วนแบ่งตลาดน้อยลง เรื่องอย่างนี้ต่างหากที่โรงงานยาสูบควรจะผลักดัน เพราะจะปกป้องรายได้ของโรงงานยาสูบ และกระทรวงการคลังจะมีรายรับจากภาษีเพิ่มขึ้น”
ที่ปรึกษาเครือข่าย สสส. กล่าวด้วยว่า รยส. ควรผลักดันให้มีการเก็บภาษียาเส้นพันธุ์พื้นเมืองเพื่อป้องกันคนสูบบุหรี่ซิกาแรตหันไปสูบยาเส้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้รับภาษีแต่ต้องแบกภาระค่ารักษาโรคเมื่อผู้สูบยาเส้นป่วย และท้ายสุดหน่วยงานต่างๆ ต้องไม่ลืมว่า ธนาคารโลกสรุปว่า ธุรกิจยาสูบทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าภาษีที่ได้รับ ดังนั้นยิ่งขายบุหรี่มากเท่าไร ส่วนรวมก็ยิ่งสูญเสียมากเท่านั้น