เทียบนโยบายดับไฟใต้"ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์"
แม้หลายคนมองว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทำกันมาทุกยุคทุกสมัยนั้น เป็นเพียงแค่ "พิธีกรรม" อย่างหนึ่งก่อนที่ฝ่ายบริหารจะเริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่มิได้มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างรัฐบาลชุดนี้ก็ตาม
ทว่าเนื้อหาในนโยบายที่ผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำเสนอต่อสภา ซึ่งปัจจุบันมีการถ่ายทอดสดทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงไปยังประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ย่อมเป็นดั่ง "สัญญาประชาคม" ที่ส่งตรงถึงประชาชน แม้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่นั่งฟังอยู่ตรงหน้าในห้องประชุมรัฐสภา จะไม่ได้มีที่มาจากประชาชนก็ตาม
เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน มีที่มาอย่างไร การจะอยู่บริหารประเทศต่อไปได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับประชาชน
ประเด็นที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ปัญหานี้กลายเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกรัฐบาลต้องหยิบขึ้นมากำหนดเป็นนโยบายสำคัญ และมีระบุในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดหลังๆ โดยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีด้วยเช่นกัน
ฉะนั้นจึงน่าติดตามดูว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลชุดนี้เขียนไว้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อใช้ "กลไกทหาร" และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าควบคุมโครงสร้างการทำงานเกือบทั้งหมด
และยิ่งไปกว่านั้น หากลองเทียบกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นโยบายดับไฟใต้เขียนเอาไว้แตกต่างกันอย่างไร
เริ่มที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อน การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในหัวข้อ "การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ" ระบุว่า "เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนามาใช้ตามแนวทางกัลยาณมิตรแบบสันติวิธี ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพหุสังคม ขจัดการฉวยโอกาสก่อความรุนแรงแทรกซ้อนเพื่อซ้ำเติมปัญหา ไม่ว่าจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ทั้งจะเพิ่มระดับปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่อาจช่วยคลี่คลายปัญหาได้"
ข้อความสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้ คือ "ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ" ซึ่งถือเป็นการเขียนเอาไว้ชัดๆ เป็นครั้งแรก
อีกข้อความหนึ่งคือ "ขจัดการฉวยโอกาสก่อความรุนแรงแทรกซ้อนเพื่อซ้ำเติมปัญหา ไม่ว่าจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง" ถือว่าตรงกับแนวคิดของฝ่ายทหารที่มองว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากความต้องการแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว แต่มีปมเหตุจากภัยแทรกซ้อน อิทธิพลท้องถิ่นด้วย
ที่ต้องปรบมือให้หากทำได้จริง ไม่ใช่แค่พูด ก็คือ การขจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองที่ไปสร้างอิทธิพล!
ขณะที่นโยบายของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 ระบุเอาไว้แบบนี้ "เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่ไปกับการขจัดความยากจน ยาเสพติด และอิทธิพลอำนาจมืด โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 'เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา' เป็นหลักปฏิบัติในแนวทางสันติวิธี โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับประชาชนในพื้นที่ อำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เคารพอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ จะมีการบูรณาการการบริหารจัดการทุกภาคส่วนให้มีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมทั้งปรับปรุง พัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทันสมัยกับสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม"
ข้อความที่ต้องขีดเส้นใต้ คือ "ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ" เพราะทำให้มีการตีความกันว่ารัฐบาลยิ่งลักษณะจะเดินหน้าสานต่อแนวนโยบายตั้ง "นครปัตตานี" หรือองค์กรปกครองรูปแบบพิเศษที่รวมเอาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่แล้วเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเป็น "ผู้ว่าการนครปัตตานี" ตามที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นได้หาเสียงเอาไว้ แต่สุดท้ายนโยบายนี้ก็ไม่ได้สานต่อ
อย่างไรก็ดี นโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ระบุถึงการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่มีการริเริ่มกระบวนการพุดคุยอย่างเปิดเผยและเป็นทางการในรัฐบาลชุดของเธอ ผิดกับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เขียนเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่านโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเจ้าภาพยกร่าง และมีเนื้อหาระบุถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งนั้น มีผลบังคับใช้หลังรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์แถลงนโยบาย
กระนั้นก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า การแถลงนโยบายต่อสภานั้น เป็นแค่พิธีกรรมอย่างหนึ่ง และแทบจะไม่มีบทลงโทษอะไรด้วยซ้ำหากมีพฤติกรรมบิดพลิ้ว ไม่ทำตามที่แถลง ฉะนั้นบทพิสูจน์จึงอยู่ที่การกระทำและแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากกว่า!