นพ.ประเวศ ชี้ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ ต้องบูรณาการ 8 เรื่อง
หมอประเวศ ชี้ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญร่วมปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ บูรณาการ 8 เรื่อง เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ และประชาธิปไตย จึงจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 31 “จังหวัดจัดการตนเอง : การปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ตอนที่ 2” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยนำกรณีศึกษาของจังหวัดกาญจนบุรี ที่จัดการศึกษาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถักทอเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกพื้นที่ และจังหวัดสุราษฏร์ธานี จัดการศึกษาโดยใช้แนวทางของท่านพุทธทาส ประยุกต์จากข้อเขียนของท่านพุทธทาสในเรื่องการสอนเด็กและเยาวชน การแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาส เด็กแอลดี แม่วัยใส เด็กหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางปฏิรูปการศึกษาของจังหวัด
นายศิวโรฒ จิตนิยม ประธานสภาการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องของความเจริญงอกงาม การปักธงให้จังหวัดจัดการตนเองจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ดังนั้น สภาการศึกษาจังหวัดได้ระดมความร่วมมือมาช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็กของกาญจนบุรีทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและได้คุณภาพที่เท่าเทียมกัน ประกอบอาชีพได้จบแล้วมีงานทำ โดยเริ่มที่กลุ่มเด็กออกกลางคันเนื่องจากปัญหาความยากจน ท้องในวัยเรียน นอกจากนี้การดำเนินการโครงการถักทอเครือข่ายในพื้นที่ มียุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในเรื่องเด็กด้อยโอกาส เด็กชาติพันธุ์ และเด็กชายขอบ ซึ่งอยู่ในกาญจนบุรีจำนวนมาก ถือเป็นเรื่องสำคัญของจังหวัดที่ต้องดูแลเอาใจใส่ โดยจะนำเสนอแผนและโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ เพราะการศึกษาที่ผูกยึดกับส่วนกลางนั้นทำได้ยาก ฉะนั้น ทรัพยากรที่มีอยู่ในขณะนี้ต้องนำมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ต้องทำให้หน่วยงานต่างๆ หันหน้ากลับมาทำงานร่วมกัน จึงจะทำให้ขับเคลื่อนไปได้ เพื่ออนาคตของเด็กกาญจนบุรีจะได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น
นายชัยวัฒน์ แก้วบัวทอง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี กล่าวว่า สุราษฎร์ธานี มีปัญหาเด็กด้อยโอกาส แม่วัยใส เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ นอกจากนี้ พบว่าในปี 2554 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลจากการแท้ง รวม 293 คน คิดเป็นร้อยละ 7.7 ซึ่งรวมทั้งการแท้งเองหรือทำแท้ง ดังนั้น จึงได้ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยมองที่จุดแข็งและต้นทุนที่มีอยู่ของจังหวัด และได้ข้อสรุปว่าท่านพุทธทาสภิกขุเป็นจุดรวมใจของชาวสุราษฎร์ฯ จึงจัดทำหลักสูตรพุทธทาสศึกษา โดยดัดแปลงมาจากข้อเขียนของท่านพุทธทาสเกี่ยวกับการสอนเด็กและเยาวชน เพื่อใช้เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปการศึกษาของสุราษฎร์ฯ พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ว่าเด็กทุกคนในจังหวัดต้องได้เรียนหนังสือ และเรื่องสำคัญที่จะทำอีกเรื่องคือเด็กบกพร่องในการเรียนรู้ เด็กสมาธิสั้น ซึ่งมีการดำเนินการในหลายหน่วยงาน แต่ค่อนข้างที่จะจำกัดในเรื่องของความรู้และงบประมาณ จึงจะหาทางจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมให้กับเด็ก โดยเฉพาะเริ่มจากกระบวนการคัดกรองจากครูผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ สภาการศึกษาจังหวัดจะเป็นหลักที่ทำให้เกิดความยั่งยืนต่อเนื่อง จะเป็นแหล่งรวบรวมบุคลากรที่สำคัญของจังหวัด ที่มีองค์ความรู้ที่จะนำพาขับเคลื่อนไปได้
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานที่ประชุม กล่าวว่า ภาคธุรกิจจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องการพัฒนาดังนั้น เป็นโอกาสดีที่จังหวัดควรจะชวนภาคธุรกิจเข้ามาร่วมปฏิรูปการศึกษา โดยมีประเด็นเชื่อมโยงในเรื่องการศึกษาที่ต้องมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เพราะการพัฒนาด้านการศึกษาเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องบูรณาการไปพร้อมกันใน 8 เรื่อง คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ และประชาธิปไตย จึงจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ ฉะนั้น จังหวัดต้องจัดทำวิสัยทัศน์และเป้าหมายด้านการศึกษาร่วมกัน และจัดเวทีปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดมีการถ่ายทอดทั่วทั้งจังหวัด ให้เกิดการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนในจังหวัด เพื่อกระจายอำนาจการศึกษาให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งประเทศ จนกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นความฝันใหญ่ของคนทั้งประเทศที่จะต้องไปให้ถึงฝั่ง
“ดังคำกล่าวของมหาตมะ คานธี ที่กล่าวไว้ว่า หากคุณเรียนรู้จากตำรา คุณจะได้ความรู้จากตำรา หากคุณได้เรียนรู้จากประสบการณ์ คุณจะได้ปัญญา เพราะถ้ามีปัญญาจะทำให้ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ปัจจุบันมีการใช้อกุศลมูลเป็นพลังขับเคลื่อน เกิดความโลภ เกิดวิกฤติ แต่ในอนาคตเชื่อว่าโลกจะเอนเอียงไปทางความดี ฉะนั้น ต้องสร้างความดีมีปัญญา เพราะการปฏิรูปการศึกษาต้องเชื่อมโยงกันด้วยความดี” ศ.นพประเวศ กล่าว
ด้าน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไสย กล่าวว่า การศึกษาต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือการสร้างคนดี โดยจัดการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ เพราะขณะนี้มนุษย์ไม่เข้าใจตนเองทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น ต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ ค้นหาข้อมูลความรู้ในสิ่งที่สนใจด้วยตนเอง อีกทั้ง การพัฒนาเด็กจะต้องเอาความดี คุณธรรมเป็นตัวนำในทุกวิชาบนคำจำกัดความของเด็กดี คือการช่วยเหลือคนอื่น การไม่เห็นแก่ตนเอง รู้จักการอยู่แบบพอเพียงเพื่อให้อยู่อย่างมีความสุขไม่เป็นทุกข์