แผนฆ่าการทุจริต ยุทธศาสตร์ร่วมของคนไทย
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นถือเป็นอาชญากรรมอีกประเภทหนึ่งที่ประชาคมโลกต้องร่วมกันป้องกันและปราบปราม สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งแผนดังกล่าวกำหนดระยะเวลาไว้ตั้งแต่พ.ศ. 2551-2555 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ทำให้ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีการคอรัปชั่นมากกว่า 5.00 (จาก 10 คะแนน) และจะดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์นี้ต่อไปเพื่อลดการทุจริตอย่างถาวร
ตามรายละเอียดของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญต่อการปราบปรามทุจริตในส่วนภูมิภาคไว้ด้วย โดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 246 ที่ได้กำหนดให้มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด ควบคู่กับการกระจายอำนาจ เพื่อดำเนินการส่งเสริมความโปร่งใสตามหลักการตรวจสอบถ่วงดุลยับยั้งอีกอำนาจหนึ่งได้
ในการบรรยายพิเศษเรื่อง ‘ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน’ ภายในการสัมมนาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปสู่ภาคปฏิบัติ ที่จัดขึ้นโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการทำแผนยุทธศาสตร์ที่ได้จัดทำขึ้นว่า เนื่องจากการทุจริตคอรัปชั่นในขณะนี้ มีความสลับซับซ้อนมาก จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดทิศทาง เพื่อเป็นกรอบยุทธศาสตร์ขจัดปัญหา ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้ไม่ใช่จะกระทำกันเพียงแค่ในส่วนของป.ป.ช. เท่านั้น แต่ยังต้องทำกันทั้งชาติ ให้เป็นเครื่องมือผนึกกำลังอย่างมีทิศทาง ก่อนลงสู่ภาคปฏิบัติ
นายปานเทพ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดพันธกิจ 4 ด้าน ที่ประกอบไปด้วย 1.ส่งเสริมปลูกจิตสำนึกให้สังคมไทยมีวินัยและยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม 2.พัฒนาเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างบูรณาการ 3. พัฒนาระบบและกลไกการตรวจสอบ ควบคุม กระจาย และถ่วงดุลอำนาจ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก่อนจะกำหนดยุทธศาสตร์และกลไกขับเคลื่อน อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม การติดตามประเมินผล จนได้เป็นแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต
นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช.และประธานอนุกรรมการอำนวยการประสานการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ เปิดเผยข้อมูลถึงสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่น ภายในการอภิปรายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริตทุกภาคส่วนว่า ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีการคอร์รัปชั่น Corruption Perception Index-CPI) เฉลี่ยรวม 7 ปี ตั้งแต่ปี 2544-2550 อยู่ที่ 3.43 คะแนน จากคะแนนเต็ม10 เป็นอันดับที่ 84 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ซึ่งถือว่าน้อยมากและยังไม่ถือว่าผ่านเกณฑ์ ขณะที่ประเทศที่มีความโปร่งใสเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างฟินแลนด์ ได้คะแนนถึง 9.4 คะแนน ที่ประชาชนของประเทศมีจิตสำนักในสาธารณะ
“จากคะแนนที่ได้ มันบ่งบอกว่าสถานการณ์ปัญหาของเราในมุมมองของชาวโลกอยู่ในสภาพที่แย่มาก ในภูมิภาคนี้มีเพียงฟิลิปปินส์และพม่า ที่ได้คะแนนน้อยกว่า นั่นก็เพราะว่าประชาชนในประเทศเรายังมีความคิดที่ผิดๆ จากผลสำรวจบอกว่าร้อยละ 80 เชื่อว่าการซื่อสัตย์เกินไปอาจจะถูกเอาเปรียบ ที่ร้ายกว่านั้นร้อยละ 53 เชื่อว่าการทุจริตบ้างไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานก็พอ ” นายภักดีกล่าวและว่าสาเหตุของการทุจริตของประเทศส่วนมากมีปัจจัยมาจากกระแสการบริโภคนิยม วัตถุนิยมที่ไม่สิ้นสุด โครงสร้างสังคม ระบบอุปถัมภ์ ความเบื่อหน่ายและเพิกเฉยของประชาชนต่อการทุจริต กระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง และระบบทางการเมืองที่มีการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง
นายภักดี กล่าวอีกว่า การคอร์รัปชั่น จะส่งผลกระทบต่อ ภาพลักษณ์ของประเทศ ความน่าเชื่อถือ เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ในหลายประเทศก็มีลักษณะคล้ายๆกัน สมัชชาสหประชาชาติที่มีสมาชิกกว่า 120 ประเทศจึงมีการประชุมกันและร่วมลงนามว่าด้วยอนุสัญญาปราบปรามการทุจริต มีการให้สัตยบรรณและมีผลผูกพันต่อกัน
ผนึกกำลังสร้างความโปร่งใส
ด้านนางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ให้ความเห็นในการแก้ปัญหาการทุจริตว่า ต้องทำให้หลักการหรือมุมมองของสังคมเห็นว่า การทุจริตเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ส่วนทางด้านยุทธศาสตร์นั้นต้องปรับกระบวนทัศน์เสียใหม่ ไม่ใช่แค่ดำเนินการแค่ป.ป.ช. หรือผู้มีส่วนร่วมไม่กี่คน ต้องเพิ่มมิติในการทำงาน เปิดกว้างในการรับฟังและระดมสมองจากทุกภาคส่วน ขยายเครือข่าย โดยมีสื่อมวลชนเป็นภาคีสำคัญ
ส่วนตัวแทนจากภาคธุรกิจอย่างนายอาชว์ เตาลานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทย กล่าวว่า สถาบันธุรกิจก็ต้องมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ หรือที่เรียกว่า บริษัทภิบาล สังคมต้องร่วมกันกดดันต่อต้านการทุจริต อย่าเพิ่งหมดหวัง ต้องปลูกฝังจิตสำนึก สร้างค่านิยมใหม่ อย่าไปคาดหวังกับ Political wheel หรือเจตนารมณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องร่วมกันสร้าง People wheel หรือเจตรมณ์ประชาชนด้วย ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนเองก็ต้องไม่ยอมรับต่อการเรียกร้องสินบน ต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพของตัวเอง
นอกจากนี้ในการสัมมนายังได้มีการแบ่งกลุ่มอภิปราย ทั้งในส่วนของภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
“ไม่แน่ใจว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมและวิธีคิดหรือมี DNA ในเรื่องการทุจริตหรืออย่างไร สังคมไทยจะเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ ตั้งแต่ฝากลูกเข้าโรงเรียน การซื้อเสียง หรือมีเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาเรื่องหลบเลี่ยงภาษี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของประเทศกลับถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่ดำรงตำแหน่งสูงที่มีพฤติกรรมส่อเจตนาไปในทางทุจริตต่างๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ควรจะเป็นบุคคลที่ได้รับความคาดหวังจากสังคม แต่กลับมีพฤติกรรมส่อเสียเอง ซึ่งต้องแก้โดย1.สังคมทุกภาคส่วนต้องมีความรู้ ความเข้าใจ อย่างเรื่องการปั่นหุ้น การรู้ข้อมูล Insider แล้วเทขายหุ้น มันเกี่ยวข้องกันหมด อย่าทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว
2. แม้จะมีพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร แต่การเปิดเผยข้อมูลยังมีปัญหา ต้องคิดว่าทำอย่างไรเพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลทั้งภาครัฐบาลและธุรกิจเอกชนง่ายกว่านี้ อย่างการพิจารณางบประมาณต่างๆ ที่ปัจจุบันเข้าถึงยากมาก ต้องมีการจัดข้อมูลให้เป็นระบบเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าเรื่องที่ร้องเรียนไปแล้วอยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการใด 3.ป.ป.ช. ต้องสร้างความศรัทธา อาทิเช่น ขณะนี้มีคดีกว่า 20,000 คดีที่ถูกส่งให้กับป.ป.ช. แต่มีเพียง 400 คดีที่ ชี้มูลความผิด ซึ่งคิดเป็น 2% เท่านั้น ลองคิดดูว่าเมื่อชาวบ้านมาร้องเรียนแล้ว แต่ยังดำเนินการไม่ได้หรือไปไม่ถึงไหน ชาวบ้านจะเกิดความศรัทธาได้อย่างไร ต้องทำให้รู้ว่าเรื่องที่ร้องเรียนมาได้รับการเอาใจใส่ นอกจากนี้ควรจะแก้ไขจุดอ่อนของข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ หลักประกันตัว การพิจารณาคดีให้เท่าเทียมกันของข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
เลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
“ปัญหาการคอรัปชั่นมี 2 มิติ ได้แก่ 1.การทุจริตในระดับชาติ ทุจริตทางนโยบาย ที่เป็นเรื่องหาหลักฐานที่จะเอาผิดได้ยาก 2.การทุจริตในภาคชนบท ที่สภาพปัญหาสะท้อนในแบบเดิม อาทิ การคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การฮั้วประมูล ซึ่งคนเปิดโปงก็อาจจะโดนยิง โดนขมขู่ได้
แผนยุทธศาสตร์แม้จะมีความสำคัญ แต่ต้องเปลี่ยนมิติในการมอง ร้อยละ80-90 มองว่าสื่อมวลชนเป็นแค่พื้นที่ประชาสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วสื่อมวลชนยังมีหน้าที่ตรวจสอบ เป็นกลไกในการช่วยเปิดโปง ชี้ช่อง ชี้เป้า ฉะนั้นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการมอง
ป.ป.ช. ต้องสร้างระบบฐานข้อมูลที่ดี เอื้อต่อการทำงานของสื่อ เพื่อให้ดูการทำงานของ ป.ป.ช. อาจจะหยิบยกปัญหาและประเด็นที่สังคมควรจะรับรู้ ที่สื่ออาจจะนำไปลงได้เลย มากกว่าการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ให้ ซึ่งวิธีการปรับและพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารตรงนี้ ดีกว่าการไปสื่อพื้นที่โฆษณา ที่เป็นการลงทุนอย่างผิดทิศทาง”
สันติสุข โสภณศิริ
กรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป
มนุษย์มีความโลภเป็นต้นตอของปัญหา สังคมโบราณเองก็มีการทุจริตแต่ก็มีการควบคุม อย่างในสมัยสุโขทัยก็มีประวัติศาสตร์ไตรภูมิพระร่วงที่เป็นวรรณกรรม เพื่อปลูกฝังในเรื่องศีลธรรม มีการเอานรกขุมต่างๆ มาสั่งสอน เพื่อขู่ไม่ให้กล้ากระทำผิด
การคอร์รัปชันเริ่มรุนแรงขึ้นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ มีการโกงอย่างเป็นระบบ นอกจากจะโกงในองค์กรหรือสถาบันแล้ว ยังมีการโกงแบบข้ามชาติ การคอร์รัปชั่นรวดเร็วเหมือนติดจรวจ แต่กฎหมายกลับเชื่องช้าเหมือนเต่า