ลูกหนี้ กยศ.ฟังทางนี้..."ทวี"แนะวิธีใหม่ตามหนี้ 1.7 ล้านราย-ไม่ต้องฟ้อง!
มีข่าวคราวบวกบ้างลบบ้างมาตลอด แต่หลังๆ ชักจะลบมากกว่าบวก สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือที่เรียกกันติดปากว่า "กยศ."
ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายที่ดีมากนโยบายหนึ่ง เพราะเท่ากับเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ทั้งยังเป็นหนึ่งในไม่กี่นโยบายที่ทำกันมาต่อเนื่องหลายรัฐบาลโดยไม่มีใครกล้าเลิกหรือบ่น
ทว่าด้วยปัญหาด้านการบริหารจัดการ ช่องโหว่ และจุดอ่อนเล็กบ้างใหญ่บ้าง ทำให้ระยะหลัง กยศ.ค่อนข้างจะมีแต่ข่าวเชิงลบตลอดมา โดยเฉพาะ "หนี้ท่วม" และ "ถูกเบี้ยวหนี้" กระทั่งต้องมีการฟ้องร้องเพื่อบังคับให้จ่ายหนี้คืนกันวุ่นวาย
ล่าสุดได้มีความพยายามป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการเพิ่มกฎเกณฑ์สำหรับผู้กู้ เกรดเฉลี่ยต้อง 2.00 ต้องทำกิจกรรมแนวจิตอาสา และสถานศึกษาของผู้กู้ต้องไม่มียอดหนี้ค้างชำระมากเกินกำหนด
แต่นั่นคือการป้องกันปัญหาในอนาคต แต่กับหนี้ก้อนโตที่เกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร?
18ปีกู้ 4ล้านคน 4.5แสนล้าน
ก่อนจะไปถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา ขอพาย้อนกลับไปดูข้อมูลพื้นฐานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.กันก่อน
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการ มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ
ข้อมูลจาก ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้องร้องเพราะเป็นลูกหนี้ของ กยศ.ในหลายพื้นที่ ระบุว่า กยศ.เริ่มให้นักเรียน นักศึกษากู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาครั้งแรก เมื่อปีการศึกษา 2539 มุ่งช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี อัตราเฉลี่ยหนี้ที่ให้กู้อย่างน้อยประมาณ 100,000 บาทต่อรายขึ้นไป
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 จนถึงปีการศึกษา 2556 (ยังไม่นับรวมปีการศึกษาปัจจุบัน คือ ปีการศึกษา 2557) มีจำนวนผู้กู้ยืมทุกกลุ่มทั้งสิ้น 4,366,959 คน จำนวนเงินที่ให้กู้ยืม 453,815,971,492 บาท (4.53 แสนล้านบาท) โดยตัวเลขนี้คือตัวเลขของผู้ที่กู้ยืมและเคยกู้ยืมทั้งหมด รวมถึงผู้ที่ชำระหนี้เงินกู้หมดแล้ว หรืออยู่ระหว่างการชำระ หรือยังไม่ชำระด้วย
เฉพาะปีการศึกษา 2556 มีผู้กู้ยืมรายเก่า (กู้ยืมต่อ) จำนวน 628,421 คน ผู้กู้ยืมรายใหม่ 183,341 คน รวมสองกลุ่มเท่ากับ 811,762 คน จำนวนเงินให้กู้ยืมเฉพาะปีการศึกษา 2556 คือ 31,680,672,598 บาท (3.1 หมื่นล้านบาท)
ค้างจ่าย1.7ล้านราย-6แสนถูกฟ้อง
สภาพปัญหาของ กยศ. ณ ปัจจุบัน คือ มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระหนี้ ซึ่งตามเกณฑ์กำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระหลังเรียนจบไปแล้ว 2 ปี จำนวน 2,758,510 ราย และมีผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้จำนวน 1,747,906 ราย
ในจำนวนผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้นั้น ถูก กยศ.ดำเนินคดีแล้ว 590,657 ราย อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง 108,765 ราย และยังจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด 1,048,484 ราย
ค่าจ้างทนายพอๆ กับเงินที่ได้คืน
ทั้งนี้ กยศ.เริ่มดำเนินคดีต่อกลุ่มที่ผิดนัดไม่ชำระหนี้มาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี 590,657 รายดังกล่าว ปรากฏว่าแทบทุกราย กยศ.เป็นฝ่ายชนะคดี
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า กองทุนมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี โดยเฉพาะค่าจ้างทนายความ เดิมคดีละ 5,500 บาท ปัจจุบันคดีละ 6,500 บาท ฉะนั้นจึงประเมินได้ว่า กยศ.ใช้งบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีจนถึงปัจจุบันประมาณ 3,200 ล้านบาท โดยแม้จะชนะคดี แต่ก็ได้เงินคืนไม่มากนัก
จากข้อมูลที่ไม่เป็นทางการพบว่า เงินที่ได้จากการบังคับคดีหลังฟ้องร้องชนะ ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจ้างทนายความ เนื่องจากผู้กู้ยืมไม่มีศักยภาพทางการเงิน เป็นผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มาแต่เริ่มแรก แม้จะมีงานทำแล้ว (หลังจบการศึกษา) ก็มักมีความจำเป็นต้องนำรายได้จากการทำงานไปใช้จ่ายในเรื่องอื่นที่จำเป็นกว่าก่อน
ยิ่งฟ้องร้องปัญหายิ่งบานปลาย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกย้ายจากตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ได้จัดทำรายงานเรื่องหนี้ กยศ. เพราะเคยรับผิดชอบเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
นอกจากนั้น ในช่วงที่ทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต. ก็มีเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากทำหนังสือร้องเรียนไปที่เขา เพื่อขอให้ช่วยเหลือกรณีถูก กยศ.ฟ้องร้องและบังคับชำระหนี้
รายงานของ พ.ต.อ.ทวี ใช้ชื่อว่า "การสร้างความเป็นธรรมในสังคม : กรณีลูกหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)" โดยตอนหนึ่งของรายงานได้ระบุถึงสภาพปัญหาของผู้กู้และครอบครัวว่า ปัญหาการค้างชำระหนี้จำนวนไม่น้อยเกิดจากตัวผู้กู้เองมีฐานะยากจน เมื่อจบการศึกษาแล้วไม่มีงาน หรืองานที่ทำมีรายได้น้อย จึงไม่สามารถชำระหนี้ที่กู้ยืมมาได้
ขณะที่บางรายเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องหารายได้ดูแลบุพการีและน้องๆ หรือมีสภาพความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ความยากจน และด้อยโอกาส จึงไม่มีหลักประกันว่าทุกคนที่จบการศึกษาจะมีอาชีพและมีงานทำ หรือมีรายได้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ทุกคน
นอกจากนั้นเมื่อมีคดีความฟ้องร้อง ฝ่ายชนะคดีต้องขอบังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีของหนี้ กยศ.ที่จะครบอายุความชุดแรก มีจำนวนมากกว่า 4,000 ราย และกลุ่มที่เหลือจะเริ่มถูกบังคับคดีตามมา เมื่อไม่มีเงินชำระหนี้จะถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดเงินเดือนทั้งผู้กู้และผู้ค้ำประกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิม และบางส่วนต้องกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อใช้จ่ายในคดีที่ถูกฟ้อง
ขณะเดียวกัน ทรัพย์ที่ถูกยึดส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นปัญหาสังคมที่เป็นผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกมาก ทั้งที่คนกลุ่มนี้เริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่ดี ได้ศึกษาจนจบปริญญาตรี ถือว่าเป็นการลงทุนของรัฐที่คุ้มค่า มิฉะนั้นคนกลุ่มนี้บางส่วนอาจติดยาเสพติดหรือไปประกอบอาชญากรรมอื่นซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ซึ่งต้องทุมเททั้งเจ้าหน้าที่และงบประมาณในการแก้ปัญหาสังคมต่อไปอีก
นโยบายการฟ้องร้องผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ จึงส่งผลกระทบต่อผู้กู้และครอบครัวซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน หากประเมินคร่าวๆ ครอบครัวละ 5-6 คนจะมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 3 ล้านคน (จาก 590,657 รายที่กำลังถูกฟ้อง) ขณะที่การฟ้องร้องก็ต้องเสียค่าจ้างทนาย และค่าใช้จ่ายในการติดตามบังคับคดี จึงเห็นว่ารัฐไม่ได้ประโยชน์ที่คุ้มค่าแต่อย่างใด
แนะเลิกฟ้อง-ติดตามหนี้แนวใหม่
ทั้งนี้ รายงานของ พ.ต.อ.ทวี ได้เสนอมาตรการปรับเปลี่ยนกระบวนการติดตามหนี้ กยศ.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วยการฟ้องร้องและบังคับคดี เป็นมาตรการติดตามหนี้ทางการปกครอง
วิธีการ คือ ยกเลิกกระบวนการฟ้องร้องคดีและบังคับคดี แล้วปรับเปลี่ยนเป็นมาตรการทางการปกครองแทน โดยจัดแบ่งผู้ที่ผิดนัดไม่ชำระหนี้หลังเรียนจบการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานและการจ้างงานแล้วเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มที่มีงานประจำ และทำงานในหน่วยงานของรัฐ เช่น เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ กยศ.เชื่อมต่อฐานข้อมูลสมาชิกกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อการติดตามหนี้
2.กลุ่มที่มีงานประจำทำโดยเป็นลูกจ้างหรือพนักงานในองค์กรเอกชน บริษัทห้างร้านต่างๆ ให้ กยศ.เชื่อมต่อฐานข้อมูลสมาชิกกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อการติดตามหนี้
3.กลุ่มที่มีงานอิสระ หรือประกอบอาชีพทั่วไป เช่น ชาวนา ชาวสวน ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว ให้ กยศ.เชื่อมต่อฐานข้อมูลสมาชิกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองทุนตั้งตัวได้ ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเชื่อมต่อฐานข้อมูลสมาชิกที่มีรายได้เพื่อการติดตามหนี้
ทั้งนี้ เมื่อเชื่อมต่อข้อมูลแล้ว ก็ให้ กบข. สำนักงานประกันสังคม นายจ้าง หรือหน่วยงานอื่นใด หักเงิน ณ ที่จ่ายของเงินเดือนประจำของผู้กู้หรือลูกหนี้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ส่งคืน กยศ.
ผ่อนผันหนี้ "กลุ่มตกงาน"
ส่วนกรณีของผู้กู้ที่ยังไม่มีงานทำ หรือเกณฑ์รายได้ไม่ถึงระดับที่เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ให้ถือว่ารัฐได้ลงทุนในองค์ความรู้ในตัวผู้กู้แล้ว รัฐมีมาตรการสร้างงาน สร้างอาชีพ จึงให้ผ่อนผันชำระหนี้ไปก่อน หรือมีมาตรทางการเงินให้ขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ไปก่อน เพื่อรักษาวินัยทางการเงิน เมื่อมีอาชีพแล้วจึงค่อยดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น
นอกจากนั้นควรมีรางวัลหรือส่งเสริมเครดิตทางการเงินทุกรูปแบบ เช่น นำไปประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับกลุ่มผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้แล้ว และได้ชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอตามกำหนดเวลา เพื่อเป็นมาตรจูงใจในเชิงบวกให้ชำระหนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงจำนวนผู้กู้ค้างจ่ายหนี้ กยศ.และจำนวนผู้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและคมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 8 ก.ย.2557 ด้วย